ส.เหล็กตบเท้าเข้าคมนาคมวอนใช้ของไทยก่อสร้างเมกะโปรเจกท์
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่ากรมศุลและ 7 สมาคมผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมเหล็กไทย สำนักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ได้ร่วมมือกัน แก้ไขปัญหาและป้องกันการนำเข้าเหล็ก อย่างผิดกฎหมายโดยจัดสัมมนา "อุตสาหกรรมเหล็กไทยก้าวไกลอย่างยั่งยืน" เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่ม 7 สมาคมฯ ซึ่งที่ผ่านมากรมได้ตั้งคณะทำงานมาดูแลเรื่องการนำเข้าเหล็ก โดยเฉพาะและได้ประสานงานกับ 7 สมาคมเหล็กมาโดยตลอด
นอกจากนี้ยังให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายศุลกากรฉบับใหม่ ที่จะมี ผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 โดยช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้จะจัดประชุม เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ เหล็กมาประกอบการจัดทำกฎหมายลูก ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการ กฤษฎีกาก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกฎหมายลูกอีกครั้งก่อนวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จริง
สาระสำคัญกฎหมายศุลกากร จะมีการลดรางวัลสินบนนำจับเหลือ 20% ของค่าปรับ และกำหนดเวลาประเมินภาษีอากรต้องทำภายใน 3 ปี นับจากวันยื่นใบขนสินค้า จากเดิมไม่ได้กำหนดไว้ ทำให้ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ยังไม่ทำการประเมิน รอเงินรางวัลนำจับสูงจึงดำเนินการ และสามารถขยายออกไปอีก 2 ปี ตามอำนาจอธิบดีกรมศุลกากร
"ที่ผ่านมามีการตรวจจับนำเข้าเหล็กเลี่ยงภาษีและเป็นคดีความกับกรมศุล 7-8 คดีรายใหญ่ และมีผู้ประกอบการนำเข้าทุกประเภทสินค้ายื่นอุทธรณ์และได้ข้อยุติ แล้วกว่า 2,000 คดี บางรายก็มีค่าปรับเพิ่ม บางรายก็ไม่เสียเพิ่มเลยก็มี" นายกุลิศกล่าว
นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวว่า วันที่ 2 ตุลาคมนี้จะเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม หารือถึงข้อกังวลต่างๆ ในการใช้วัสดุนำเข้าจาก ต่างประเทศที่ไม่มีคุณภาพมาก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานว่าจะทำอย่างไรให้ส่งเสริมการใช้เหล็กไทยในการก่อสร้างและต้องคำนึงถึงข้อกำหนดองค์การการค้าโลก (WTO) หากใช้เหล็กไทยจะสนับสนุนเกิดการจ้างงานหลายแสนคนในไทย
"ปัญหาการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับธุรกิจเหล็กทั่วโลก ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศ ยังคงต้องใช้มาตรการทางการค้าเพื่อปกป้อง อุตสาหกรรมในประเทศของตนในช่วงมกราคม-กันยายน 2560 มีการเปิดไต่สวน และบังคับใช้มาตรการทางการค้าสินค้าเหล็ก มากถึง 82 มาตรการ ประเทศที่ฟ้องใช้มาตรการมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา 16 มาตรการ และประเทศที่ถูกฟ้องมากที่สุด คือ จีน 43 มาตรการ" นายนาวากล่าว
นายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคม ผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน กล่าวว่า ต้องการเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมการใช้เหล็กไทยก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐหรือเมกะโปรเจกท์ เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน มูลค่า 1.79 แสนล้านบาท และโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท เป็นต้น และในช่วงมกราคม-สิงหาคมที่ผ่านมา การนำเข้าโครงสร้างกึ่งสำเร็จรูป (Prefabrication) จากจีนกว่า 64,000 ตัน ซึ่งผู้ส่งออกจีนอาศัยช่องโหว่ของพิกัดศุลกากร นำเข้ามาภายใต้พิกัด 7308 ซึ่งปัจจุบันไม่มีการกำหนด มอก. บังคับ
สำหรับ 7 สมาคมผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมเหล็กไทยประกอบด้วย 1.สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย 2.สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย 3.สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูป เหล็กแผ่น 4.สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาว ด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า 5.สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน 6.สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และ 7.สมาคมโลหะไทย