ทุนญี่ปุ่นพลิกกลยุทธ์ใช้ไทยฐานผลิต อุตฯแห่งอนาคต ปักหมุด อีอีซี รับสังคมสูงวัย
Loading

ทุนญี่ปุ่นพลิกกลยุทธ์ใช้ไทยฐานผลิต อุตฯแห่งอนาคต ปักหมุด อีอีซี รับสังคมสูงวัย

วันที่ : 2 ตุลาคม 2560
ทุนญี่ปุ่นพลิกกลยุทธ์ใช้ไทยฐานผลิต อุตฯแห่งอนาคต ปักหมุด อีอีซี รับสังคมสูงวัย

รัฐเดินหน้าหนุน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย "หุ่นยนต์-เคมี ชีวภาพ-ยานยนต์แห่งอนาคต-อาหาร ไฮเทค-สิ่งทอ" ยกระดับภาคการผลิตของประเทศ เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ด้าน"อุตตม"เผยทุนใหญ่ญี่ปุ่นเดินหน้า ลงทุนบิ๊กดาต้า  อาหารเพื่ออนาคต  หุ่นยนต์ สมาร์ทซิตี้ รับสังคมผู้สูงอายุ

ภายหลังการเดินทางมาเยือนไทย ของกลุ่มนักธุรกิจกว่า 500 รายจากญี่ปุ่น โดยมีนายฮิโรชิกเงะ  เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) เป็นผู้นำคณะที่เดินทางมาเยือน ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีนักธุรกิจญี่ปุ่นหลายรายให้ความสนใจ เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

ขณะที่ภาครัฐยังเดินหน้าผลักดัน เป้าหมายที่จะยกระดับประเทศไทยสู่ "ไทยแลนด์ 4.0" หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต(New Engine of Growth) เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

ในส่วนของ "ภาคการผลิต" รัฐบาลได้กำหนดนโยบายส่งเสริมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับการผลิต นอกจากการต่อยอด 5 อุตสาหกรรม เป้าหมายเดิม (S-Curve) ได้แก่ ยานยนต์ สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยว กลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร แล้ว

ยังประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (NewS-Curve)ได้แก่หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติการบินและโลจิสติกส์เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นหลายรายสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในอีอีซี ประกอบด้วย บริษัท ฮิตาชิ ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงาน อีอีซี เพื่อลงทุนในศูนย์ข้อมูลบิ๊กดาต้า และ IoT (อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงค์) ในพื้นที่อีอีซี

บริษัทฟูจิฟิล์ม ยื่นข้อเสนอต่อสำนักงานอีอีซี สนใจลงทุนรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งโครงการทยอยดำเนินการในช่วง 5 -10 ปี ญี่ปุ่นจะเริ่มเข้ามาศึกษากฎหมายต่างๆ ของไทยเพื่อรองรับการลงทุนเร็วๆ นี้

บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ สนใจลงทุนอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารแห่งอนาคต เป็นต้น บริษัทอัซบิล (Az bil) สนใจอุตสาหกรรม หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ และบริษัท NEC สนใจสมาร์ทซิตี้

หนุนอุตฯหุ่นยนต์ยกระดับผลิต

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้รายละเอียดถึงแนวทาง ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายว่า ระยะสั้นจะเร่งส่งเสริม 4 กลุ่มอุตสาหกรรม

กลุ่มแรก คืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประกอบด้วย 2 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ โดยสาเหตุที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมนี้ เป็นกลุ่มแรก เพราะว่าเป็นอุตสาหกรรมที่จะ ยกระดับภาคการผลิตและบริการของ ประเทศทั้งระบบ ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับประเทศ

ที่ผ่านมาได้ตั้ง Center of Robotic Excellence (CoRE) เป็นเครือข่ายความร่วมมือของ 8 หน่วยงานนำร่องทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ประกอบด้วย สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(FIBO)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่ง CoRE นี้จะทำหน้าที่รับรองนักลงทุนที่จะใช้สิทธิประโยชน์มาตรการภาษีถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

เล็งตั้งสถาบัน "วิจัยหุ่นยนต์"

รวมทั้งจะออกไปเชิญชวนสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านหุ่นยนต์ในต่างประเทศเข้ามาร่วมตั้งสถาบันวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มีมาตรฐานสากลเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านหุ่นยนต์ในไทย 30 บริษัทในปีนี้

ในระยะสั้น 1 ปีจะต้องกระตุ้นตลาดหุ่นยนต์ภายในประเทศมีเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทส่งผลให้อุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 50% ระยะกลาง 5 ปี จะยกระดับการผลิตและการใช้เทคโนโลยี หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีความซับซ้อน มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น คาดว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้จะขยายตัวมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท มีการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานมากกว่า 50% ทดแทนการนำเข้าหุ่นยนต์ 30% สร้าง System Integrator (SI)หรือผู้ทำหน้าที่ ออกแบบติดตั้งระบบอัตโนมัติ จากปัจจุบันที่มีประมาณ 200 คนให้เป็น 1,400 คน

ตั้งเขตศก.ฯไบโอคอมเพล็กซ์

2.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทยโดยจะเชื่อมโยง และจัดสรรวัตถุดิบการเกษตรที่ใช้ในอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพรวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้ง "เขตเศรษฐกิจ พิเศษไบโอคอมเพล็กซ์" ในภาคอีสาน ตอนกลางและภาคเหนือ

กลุ่มที่สองได้แก่ การต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต โดยจะส่งเสริมให้เกิดการผลิต รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภายในประเทศผลักดันให้เกิด การตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้า 100 แห่งภายใน 1 ปี ตั้งศูนย์ทดสอบยางล้อและ ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

อัดงบหนุน"ยานยนต์อนาคต"

นอกจากนี้สถาบันยานยนต์ยังอยู่ระหว่าง การของบประมาณปี2562 เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ยานยนต์แห่งอนาคตโดยกำหนดวงเงินงบประมาณไว้ที่ 500 ล้านบาท ดำเนินการ 3 เรื่องหลักคือ 1.การจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ ยานยนต์แห่งอนาคตโดยเฉพาะรถอีวีให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ารับชมได้

2.การจัดโมเดลรถอีวีในส่วนของรถโดยสาร ขนาดใหญ่หรือรถบัสไฟฟ้าจำนวน 2 คัน โดยจะดำเนินการครบวงจรมีการจัดตั้งสถานีชาร์จเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับองค์ความรู้ในการผลิตรถเมล์ไฟฟ้าผลักดัน ให้ผู้ประกอบการไทยสนใจผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์กระตุ้นตลาดรถยนต์อีวี ให้คึกคักขึ้น เป็นต้น

3.การจัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมทั้งแบตเตอรี่เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญของอุตสาหกรรมช่วยกำหนดแนวทางการผลิตที่เชื่อมโยงกันของผู้ประกอบการและสนับสนุนให้สถาบันยานยนต์มีศักยภาพรับรองการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

เร่งชงครม."ร่างยุทธศาสตร์อาหาร"

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มอาหารแห่งอนาคตแนวทางการส่งเสริมหลักๆ จะเป็นการสร้าง เวิลด์ฟู้ดวัลเลย์ในทุกภูมิภาคตั้ง Co-creation Center เชื่อมโยง Food Innopolis และ Food Academy Pilot Plant และ วันสต็อปเซอร์วิสแล็ปทดสอบอาหารพัฒนาผู้ประกอบการนักรบพันธุ์ใหม่ 4.0 ในอุตสาหกรรมอาหารให้ได้ 2,000 รายใน 1 ปีกำหนดมาตรฐานการผลิตอาหารและเชื่อมโยงการค้าในกลุ่มเอสเอ็มอีรวมทั้งเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพและอาหารแห่งอนาคต เช่น ฟังก์ชั่นนัลฟู้ดอาหารเพื่อผู้ป่วย เป็นต้น

รวมทั้งยังได้ออกไปดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านอุตสาหกรรมอาหาร เช่น อายิโนะโมะโต๊ะ มีแผนเข้ามา ตั้งสายการผลิตฟังก์ชันแนลฟู้ดซึ่งที่ผ่านมา ได้นำเข้าอาหารกลุ่มนี้มาทดสอบตลาดในไทยซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี คาดว่า จะมีการลงทุนตั้งโรงงานใหม่ในเร็วๆ นี้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่าง จัดทำร่างยุทธศาสตร์อาหาร เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้

ต่อยอดอุตฯสิ่งทอ-เครื่องนุ่มห่ม

กลุ่มที่สี่ เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทยที่ต่อยอดจากฐานการผลิตที่เชี่ยวชาญได้แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรัฐบาลจะส่งเสริมย่านการค้าในสินค้าแฟชั่นของไทยให้เป็นศูนย์กลางในอาเซียนและจัดงานแสดงสินค้าแฟชั่นระดับนานาชาติในไทย

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ