จี้ตั้งแล็บประชารัฐ อุตตม หวังเชื่อมห่วงโซ่-กระตุ้นลงทุนอีอีซี
เซ็นทรัลแล็บเผย "อุตตม"เล็งให้จัดตั้งศูนย์ให้บริการแล็บประชารัฐในพื้นที่อีอีซีแบบครบวงจรรองรับนักลงทุนชี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางของการลงทุนระบุเตรียมนำเสนอเข้าบอร์ดตุลาคมนี้เพื่อขออนุมัติบรรจุทำแผนปี 61
นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง(ประเทศไทย) จำกัด (CENTRAL LABTHAI)เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่านายอุตตมสาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีนโยบายให้บริษัทดำเนินการเปิดศูนย์ให้บริการในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี (EEC)และเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศทั้งหมด 11 เขต เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการแล็บประชารัฐกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่ในพื้นที่แบบครบวงจรโดยเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการจากภาครัฐบาลซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในระหว่างขั้นตอนของการวางแผนที่จะเข้าไปดำเนินการ
สำหรับรูปแบบในการเปิดให้บริการเบื้องต้นมีอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ 1. การลงทุนทำห้องตรวจ หรือห้องแล็บอย่างเป็นทางการแบบถาวร โดยจะพิจารณาตามขนาดของการลงทุน ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะช่วยสนับสนุนในการจัดหาพื้นที่ในการเปิดให้บริการและ 2. เปิดให้บริการในรูปแบบของห้องแล็บย่อส่วน โดยเป็นศูนย์รับตัวอย่าง ซึ่งจะไม่มีการก่อสร้างเป็นห้องปฏิบัติการจริง โดยจะดำเนินการรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการเพื่อจัดส่งต่อไปยังศูนย์ประจำภูมิภาค เช่นในพื้นที่อีอีซี ก็จะมีศูนย์ใหญ่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ขณะที่หากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดก็จะมีศูนย์ที่สาขาเชียงใหม่และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ก็จะมีศูนย์ที่จังหวัดสงขลารองรับเป็นต้น
"การดำเนินการในรูปแบบที่ 2 จะเป็นการลงทุนที่มีขนาดย่อม โดยอาจจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในการร่วมการลงทุน ซึ่งจะเป็นลักษณะของการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยมีแล็บประชารัฐเป็นผู้ให้สิทธิ์การแต่งตั้งให้เป็นศูนย์รับตัวอย่างจากผู้ประกอบการ โดยทั้ง2 รูปแบบอยู่ในขั้นตอนของการนำเรื่องเข้าหารือกับคณะกรรมการในช่วงเดือนตุลาคมเพื่อขออนุมัติ และขอบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานในปี 2561"
นายสุรชัย กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินการในรูปแบบแรกจะต้องพิจารณาตัวเลขของการลงทุนประกอบควบคู่ไปด้วย หากมองดูแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ และคุ้มค่าอาจจะต้องมีการทำเรื่องเพื่อขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะต้องมีการเพิ่มทุนในการลงทุนใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อาจจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วยได้เช่นเดียวกันขึ้นอยู่กับมูลค่า และลักษณะของการลงทุน
"วัตถุประสงค์ของ รมว.อุตสาหกรรมก็คือต้องการให้เป็นศูนย์การให้บริการแบบครบวงจร โดยทางกระทรวงเองก็มีบริการด้านอื่นๆไว้รองรับผู้ประกอบการ ซึ่งแล็บประชารัฐก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถรองรับการตรวจสอบให้กลุ่มโรงงานผลิตทางด้านอาหารหรือโรงงานด้านเครื่องสำอางและเอสเอ็มอีรายเล็กที่จะเกิดขึ้นบริเวณรอบๆนิคมอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นห่วงโซ่ของสินค้าในรูปแบบของวัตถุดิบไปสู่โรงงานผลิต"
นายสุรชัย กล่าวเสริมอีกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการให้เร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวนี้อย่างเร่งด่วน บริษัทก็พยายามดูรูปแบบของโมเดลในลักษณะต่างๆ โดยการดำเนินการที่เร็วที่สุดในขณะนี้คือการดำเนินการเปิดศูนย์ชั่วคราวในการรับตัวอย่างเพราะมีการลงทุนไม่มากและมีภาคเอกชนในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดให้ความสนใจที่จะขอเปิดให้บริการเป็นศูนย์รับตัวอย่าง โดยมีแล็บประชารัฐเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้แต่หากเป็นแล็บแบบถาวรจะต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างค่อนข้างนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องจักรอุปกรณ์ และที่สำคัญคือบุคลากรซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา