ผุดโรงงานพื้นที่อีอีซี2หมื่นล.
กรอ.เผยยอด ร.ง.4 ในอีอีซี 9 เดือน แตะ 2.15 หมื่นล้าน หวังสิ้นปีเอกชนแห่ลงทุนหลังโครงสร้างพื้นฐานออกทีโออาร์ชัดเจน
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ยอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และยอดขยายกิจการในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2560) มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 133 โรงงาน มูลค่า 2.15 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันจากปีก่อนที่มีอยู่ 150 โรงงาน ลดลง 11.33% ขณะที่มูลค่าลดลงจาก 4.72 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 54.44% ส่วนการจ้างงานทั้งหมดอยู่ที่ 6,790 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการจ้างงาน 1.23 หมื่นคน หดตัว 44.79%
ทั้งนี้ แบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่จำนวน 99 โรงงาน ลดลง 13.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอยู่ 115 โรงงาน มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.04 หมื่นล้านบาท ลดลง 73% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 3.87 หมื่นล้านบาท ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 34 โรงงาน ลดลง 2.85% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 35 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 1.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.58% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 2560 ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่อีอีซี พบว่า จ.ชลบุรี มีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และขยายกิจการมากที่สุดจำนวน 75 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 1.02 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงาน 4,400 คน รองลงมา คือ จ.ระยอง จำนวน 31 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 6,520 ล้านบาท มีการจ้างงาน 908 คน และ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 27 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 4,810 ล้านบาท มีการจ้างงาน 1,480 คน
ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อยากให้ติดตามตัวเลขการลงทุนทั้งปีมากกว่าการติดตามช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพราะขณะนี้การขับเคลื่อนอีอีซีเดินหน้าไปมาก โดยเฉพาะโครงการหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 รถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ ซึ่งคาดว่าจะออกร่างหลักเกณฑ์ ประกวดราคา (ทีโออาร์) ตามกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (พีพีพี) ได้ก่อนสิ้นปีนี้
ขณะที่ พ.ร.บ.อีอีซี มีส่วนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว โดยเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการลงทุน โดยที่ผ่านมานักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 500 คน เข้ามาศึกษาพื้นที่ และบางส่วนมีการตอบรับจะเข้ามาลงทุน คาดว่าต้นปีหน้าจะเริ่มเห็นการลงทุนที่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กระทรวงได้ตั้งไว้