เสนอออกกม.รองรับ ไทยแลนด์4.0 อสังหาฯหนุนยกอีอีซีสู่ สมาร์ทซิตี้
วานนี้(1 พ.ย.)วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระ บรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นผู้จัดงาน "วิศวกรรมแห่งชาติ 2560" โดยทางวสท.ได้ผนึกกำลังกว่า 100 องค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยี เปิดเวทีเสวนาเรื่อง "แนวโน้ม อนาคตพัฒนาที่อยู่อาศัย...สมาร์ทไลฟ์และสังคมปลอดภัย"
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) กล่าวว่า ท่ามกลางคลื่นยักษ์ดิจิทัลและเทคโนโลยี ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทั้งในทางทำลายล้าง และสร้างโมเดลใหม่ๆ เช่น ธุรกิจธนาคาร และห้างสรรพสินค้า โดยต่อไปอาจเป็นเพียงโชว์รูมเท่านั้น คนจะไปเดินเล่นแล้ว กลับมาซื้อผ่านออนไลน์แทน เนื่องจากด้วย ราคาที่ถูกกว่า หรือแม้แต่ ธุรกิจสื่อ ธุรกิจเทปซีดี ต้องปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่ผู้ผลิต Apple ที่ไม่เคยมีโรงงาน ผลิตเป็นของตนเอง แต่สามารถขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ในการครองใจคนทั้งโลกและมีผลประกอบการที่เป็นบวก ส่วน Alibaba เว็บไซต์ชอปปิ้งออนไลน์ ที่มีมูลค่าสูงสุด แต่ไม่มีสินค้าและสต๊อกสินค้าของตนเอง
"นี่คือตัวอย่างของผลกระทบจากคลื่นยักษ์ดิจิทัล โดยผู้ที่จะอยู่ได้จากแรง กระแทกนี้ ต้องรู้จักการพัฒนาปรับตัวตาม ให้ทัน และนำมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม กับความแตกต่างของพื้นที่และการแก้ปัญหา เพื่อเสริมคุณภาพชีวิต ธุรกิจการทำงาน สังคมและเศรษฐกิจ" ดร.ธเนศกล่าว
อย่างไรก็ตาม เรื่องความเจริญของเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องมาพิจารณาในเรื่องของความปลอดภัย เช่น ความหลากหลายของข้อมูลที่มาก เรื่องการสำรองข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งควรให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะผู้บริโภคไม่ใช่วิศวกร ดังนั้นมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายออกมารองรับในเรื่อง "ไทยแลนด์ 4.0"
นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "แนวโน้มอนาคตพัฒนาที่อยู่อาศัย...สมาร์ทไลฟ์และสังคมปลอดภัย"ว่า ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการเกี่ยวกับการสร้างบ้าน เช่น ระบบ BIM (Building Information Modeling ) หรือ การจำลองข้อมูลต่างๆ ของอาคารมาใช้ ซึ่งจะมีประโยชน์ในด้านการก่อสร้าง คือ 1.สามารถควบคุมเวลา 2.ควบคุมต้นทุน 3.เพิ่มประสิทธิภาพรอบการทำธุรกิจ และ 4.เรื่องของแรงงานนั้น คิดว่า ปัจจุบันภาคการก่อสร้างใช้แรงงานต่างด้าว 80-90%
ทั้งนี้ จะพบว่า การก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรร (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) ประมาณ 75% จะใช้ระบบพรีคาส สำหรับเรื่องการส่งเสริมเกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 นั้น คิดว่านโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับโครง การ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซีนั้น โดยจะมี 10 อุตสาหกรรมในการส่งเสริมและเป็นหัวหอกของการพัฒนา ถือว่าเป็นการสร้างความชัดเจนในการประกาศนโยบายต่อนักลงทุน ไปทั่วโลก ขณะเดียวกัน งบประมาณจำนวนมหาศาลในเฟสแรก 1.5 ล้านล้านบาท จะมุ่งในเรื่องโครงสร้าง สร้างโรงพยาบาล สร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งรูปแบบของที่อยู่อาศัยจะถูกจัดวางให้เป็น สมาร์ทโฮม สมาร์ทซิตี้ และรวมกันเกิดเป็นเมือง หรือ สมาร์ททาวน์ หรือแม้แต่เรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัย หากอำนวยความสะดวกในเรื่องใบอนุญาต และมีการมาจัดตั้งขึ้นเป็นจำนวนมาก จะช่วยในเรื่องของการพัฒนาในเรื่องการศึกษามากยิ่งขึ้น
"นโยบายของนายกฯดีเลย เรื่องการ ให้อีอีซีเป็นสมาร์ทซิตี้ เพราะถ้าสามารถเชื่อมโยงกันได้ จะมีผลเกี่ยงโยงไปกับวัสดุต่างๆ ที่จำเป็น และหากมีการเชื่อมไป ถึงเรื่องความปลอดภัย จะยิ่งช่วยให้ต้นทุน ถูกลง ซึ่งนายกฯกล่าวไว้ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับสินค้าที่มาใช้กับที่อยู่อาศัย จะทำให้เกิดการใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ หากมีการจูงใจในเรื่องการหักค่าใช้จ่าย 1.5-2 เท่า ให้กับผู้ลงทุนหากนำอุปกรณ์เกี่ยวกับดิจิทัลมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ จะยิ่งเป็นแรงกระตุ้นอีกทางหนึ่ง "นายอิสระกล่าว
ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการ เปลี่ยนแปลงของการพัฒนาเมืองในแต่ละภูมิภาคว่า ขณะนี้ สมาร์ทซิตี้ จะเกิดขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ซึ่งแต่ละเมือง รูปแบบของการพัฒนาจะแตกต่างกันและหากสามารถนำเรื่องเทคโนโลยีมาใช้ จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในท้องถิ่น เช่น ภูเก็ต จะมีความได้เปรียบในเรื่องของการท่องเที่ยว ต่างกับจังหวัดชลบุรี ที่จะมีภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งหากเราสามารถประมวลข้อมูลและมาประยุกต์ใช้ให้กับมูลค่าทางเศรษฐกิจของแต่ละเมืองแล้ว จะเกิดประโยชน์มาก เช่น จังหวัดทางภาคใต้ ไม่มีค่อยมีอุตฯ แต่มีทะเล สามารถทำเป็นศูนย์กลางเมืองสุขภาพได้ เป็นต้น
อนึ่ง สำหรับการจัดงาน "วิศวกรรมแห่งชาติ 2560" จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด Engineering 4.0 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานในประเทศ 20,000 คน และผู้บริหารวิศวกรจาก 10 ประเทศในอาเซียนอีก 5,000 คน