รัฐอัดฉีดลงทุนอีอีซีสุดลิ่ม เว้นภาษีสูงสุดนาน10ปี หนุนเอสเอ็มอีเข้าตลท.
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เห็นชอบมาตรการผลักดันให้เกิดการลงทุนในกิจการเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยมอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้กับ 3 กรณี คือ กรณีที่ลงทุนในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ได้แก่ เมืองการบินภาคตะวันออกหรือสนามบินอู่ตะเภา, เขตนวัตกรรมอีอีซี หรืออีอีซีไอ และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ หรือสูงสุด 10 ปี จากเดิมสูงสุด 8 ปี และใช้สิทธิลดหย่อนได้อีก 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 61-30 ธ.ค. 62
ส่วนกรณีที่ 2 เป็นการลงทุนในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม เป้าหมาย ซึ่งหมายถึงนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นการเฉพาะ จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปีหลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ และกรณีลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมทั่วไปที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 3 ปีหลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ
"ทั้ง 3 กรณีจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยเน้นการสร้างคน และพัฒนาคนเป็นสำคัญในพื้นที่อีอีซี ซึ่งรัฐบาลต้องการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้ฐานความรู้ ใช้เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์มากขึ้น สมมุติอยากอยู่ในกรณีแรก ต้องมีการฝึกอบรมทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีไม่ต่ำว่า 10% ของจำนวนพนักงานที่มีอยู่ หรืออย่างน้อย 50 คน อย่างใดอย่างหนี่ง อาจทำกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ก็ได้ ส่วนอีก 2 กรณี ก็ให้ฝึกอบรมไม่ต่ำกว่า 5% ของจำนวนพนักงานที่มีอยู่ หรืออย่างน้อย 25 คน หรืออย่างไรอย่างหนึ่ง"
ขณะเดียวกันที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังอนุมัติมาตรการส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีไทยพัฒนาศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อก้าวสู่ระดับสากล โดยจะให้ได้รับวงเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นเพิ่มอีก 100% ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61-30 ธ.ค. 63
นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้เปิดการส่งเสริมกิจการศูนย์กลางการค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอี พัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ต่อยอดโอกาสทางการตลาดโดยใช้ศักยภาพเชิงที่ตั้งของพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ และทำให้ประเทศไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการค้าครบวงจรในภูมิภาคโดยกำหนดให้ยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2561 เพื่อเร่งรัดให้มีการลงทุนโดยเร็ว
ทั้งนี้ในแนวทางการส่งเสริมได้แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่โครงการตั้งในพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี กำหนดวงเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 100% ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนและได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล อีก 50% เป็นเวลา 5 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
ขณะที่กรณีที่ 2 โครงการที่ตั้งในพื้นที่นอกเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะต้องลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อย่างน้อย 1 แห่งควบคู่กันไป จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี กำหนดวงเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 100% ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนของโครงการที่ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมาช่วยพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยได้มากขึ้น