แบ่งจ่ายครั้งละ25%นาน4ปี - เคาะบ้านหลังแรก20ล้าน สนช.ผ่อนเกณฑ์ภาษีที่ดิน
Loading

แบ่งจ่ายครั้งละ25%นาน4ปี - เคาะบ้านหลังแรก20ล้าน สนช.ผ่อนเกณฑ์ภาษีที่ดิน

วันที่ : 2 ธันวาคม 2560
แบ่งจ่ายครั้งละ25%นาน4ปี - เคาะบ้านหลังแรก20ล้าน สนช.ผ่อนเกณฑ์ภาษีที่ดิน

สนช.เสนอมาตรการบรรเทาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เล็งผ่อนปรนให้จ่ายส่วนเพิ่มปีแรก 25% ก่อนทยอยขึ้นแบบขั้นบันไดปีละ 25% จนครบ 100% ใน 4 ปี พร้อมลดมูลค่ายกเว้นบ้านหลังแรกเหลือไม่เกิน 20 ล้านบาท เตรียมนำเข้าหารือในวาระ 2 และ 3 ต่อไป ด้านหอการค้าคาดเงินหายจากระบบเศรษฐกิจ 3.8 หมื่นล้าน ธุรกิจหวังระบบจัดเก็บชัดเจน หวั่นภาษีใหม่ดันต้นทุน โยนผู้บริโภคแบกภาระ

คณะกรรมาธิการ(กมธ.)สภานิติบัญญัติ(สนช.)ที่พิจารณาร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เตรียมเสนอมาตรการบรรเทาผล กระทบให้แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาษีดังกล่าว โดยกรณีที่ภาคธุรกิจที่มีภาระเพิ่มขึ้น หลังจากที่นำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่แล้ว จะให้ระยะเวลาบรรเทาผลกระทบเป็นระยะเวลา 4 ปี โดยปีแรกจ่ายเพียง 25% ของภาระภาษีที่เพิ่มและทยอยปรับขึ้นปีละ 25% จนครบ 100% ในปีที่ 4

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  แทนที่ภาคธุรกิจจะจ่ายภาษีส่วนที่เพิ่มขึ้นมาทั้ง 100% แต่ให้จ่ายเพิ่มปีละ 25% จนครบ 100% ภายในระยะเวลา 4 ปี เช่น ถ้าภาระภาษีส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมอยู่ที่ 1 พันล้านบาท ให้นำภาษีส่วนที่เพิ่มขึ้นทยอยจ่ายเพิ่มปีละ 250 ล้านบาท เมื่อถึงปีที่สี่ ก็เท่ากับว่า ได้จ่ายภาษีในอัตราใหม่เต็มทั้งจำนวน ส่วนปีที่ห้า จะไม่มีการผ่อนผันแล้ว

ลดบ้านหลังแรกเหลือ20ล้าน

ส่วนของบ้านและที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยนั้น ไม่ได้กำหนดมาตรการบรรเทา เนื่องจาก ในกฎหมายโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ในปัจจุบัน บ้านและที่ดินที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้น จึงไม่มีตัวเปรียบเทียบ สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยนั้น ในชั้นกรรมาธิการสนช.ได้สรุปร่วมกันแล้วว่า จะลดมูลค่าบ้านและที่ดินที่เป็นบ้านหลังแรก หรือ หลังหลัก ที่ได้รับการยกเว้นลงเหลือไม่เกิน 20 ล้านบาท จากเดิม ที่พิจารณาว่า จะไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสนช.ในวาระสองและสาม ที่จะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยว่า จะมีความคิดเห็นอย่างไร

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการเสนอกฎหมายภาษีฉบับใหม่ เพียงแต่เป็นกฎหมายที่มาแทนของเดิมเท่านั้น คือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ที่ล้าสมัยและไม่เป็นธรรม ซึ่งในระยะแรกเราไม่คาดหวังว่า จะมีรายได้จากภาษีดังกล่าวอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่เป็นการสร้างมาตรฐานในอนาคต โดยรายได้หลักจากภาษีตัวนี้ 80-90% จะมาจากภาษีที่เก็บได้จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม

บ้านหลังสองเป็นอัตราขั้นบันได

ส่วนภาษีจากบ้านที่อยู่อาศัยนั้น จะเก็บภาษีได้น้อยมาก เนื่องจาก มีการยกเว้นภาษีสำหรับบ้านหลังแรก และอัตราภาษีสำหรับบ้านหลังที่สอง ซึ่งเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรกของมูลค่าบ้านนั้น จะกำหนดอัตราภาษีในอัตราที่ต่ำมาก โดยเป็นอัตราขั้นบันได ที่เริ่มต้นที่ 0.02% เช่น บ้านหลังที่สอง ที่มีมูลค่า 10 ล้านบาท จะเสียภาษีเพียงปีละ 2 พันบาทต่อปีเท่านั้น

ทั้งนี้ กมธ.ต้องการให้มีการสำรวจผลกระทบของกฎหมายนี้ที่ครอบคลุม ประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ดินที่ใช้ในธุรกิจสวนสนุก,สวนสัตว์ สนามกีฬา เป็นต้น เพื่อเปรียบเทียบภาระภาษีใหม่กับภาระของภาษีในปัจจุบัน เพื่อใช้อธิบายต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือนำมาใช้ปรับปรุงตัวกำหมาย ทั้งนี้ ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ทางกมธ.จะจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับตัวร่างกฎหมายฉบับนี้

หอค้าฯมองสูญเงิน3.8หมื่นล.

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ข้อเสนอการบรรเทาผลกระทบจากภาษีที่ดินฯของรัฐดังกล่าว ยังไม่ได้นำประเด็นข้อท้วงติงที่หอการค้าได้ยื่นหนังสือคัดค้าน และประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบมาพิจารณา โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าเงินจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจจากมาตรการดังกล่าวเป็นเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้ได้เสนอแนวทางต่อรัฐ 4 ข้อประกอบด้วย

1.ควรกำหนดการจัดเก็บภาษีให้เป็นอัตรา (Fixed Rate) เพื่อสะดวกในการจัดเก็บภาษี 2.กรณีการประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยทรัพย์ส่วนกลางนิติบุคคลอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร ไม่ควรที่จะถูกนำมาคำนวณเป็นฐานในการจัดเก็บภาษี เพราะเป็นทรัพย์ที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้อยู่อาศัย 3.ที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ถูกรอนสิทธิ์ ควรได้รับการยกเว้นภาษี และ 4.ไม่ควรกำหนดบทลงโทษการจำคุก ซึ่งมีความรุนแรงเกินไป

หวั่นผู้บริโภคแบกภาระภาษี

นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่าแนวทางบรรเทาผลกระทบภาคธุรกิจจากการจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่ในช่วง 4 ปีแรกเป็นเรื่องที่ดีในช่วงเริ่มต้นบังคับใช้กฎหมาย แต่มองว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการเห็นคือ โมเดลการจัดเก็บภาษีที่มีความชัดเจนว่า อัตราภาษีใหม่แตกต่างจากเดิมอย่างไร และเป็นตัวเลขการจ่ายภาษีที่มีอัตราเหมาะสม และไม่ก่อภาระที่เป็นต้นทุนมากกว่าเดิม  เพราะหลักการการเก็บภาษีควรมุ่งไปที่ การจัดเก็บอย่างทั่วถึง, ไม่รั่วไหล, และไม่เปิดโอกาสให้ทุจริต

"วันนี้ภาคธุรกิจในกลุ่มพาณิชยกรรมยังไม่เห็นโมเดลการจัดเก็บที่ชัดเจนว่า ต้องจ่ายในอัตราเท่าไร  เพราะหากภาษีใหม่เป็นอัตราที่สูงมากจากเดิม เชื่อว่าภาคธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตและการบริการ หากไม่สามารถแบกต้นทุนภาษีไว้ได้ และจะผลักภาระไปยังผู้บริโภคแทน"

อสังหาฯชงอัตราคงที่

สำหรับการจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัย เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเห็นด้วย เพราะผู้ถือครองทรัพย์สินตามเกณฑ์มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษี  ซึ่งการปรับลดมูลค่าบ้านและที่ดิน หลังแรกหรือหลังหลัก ที่ได้รับการยกเว้นเหลือไม่เกิน 20 ล้านบาท จากเดิม 50 ล้านบาท เชื่อว่าเป็นผลดีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะขยายการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น

ปัจจุบันตลาดอสังหาฯ สัดส่วน 90% ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ดังนั้นการยกเว้นการจัดเก็บภาษี ไม่ว่าจะเริ่มที่ 20 ล้านบาท หรือ 50 ล้านบาท จึงไม่กระทบกับตลาดและผู้บริโภคส่วนใหญ่   แต่สิ่งที่ยังเป็นกังวล คือการจัดเก็บหลายอัตรา มองว่าหลักการจัดเก็บภาษีที่ดิน  ควรจัดเก็บในอัตราคงที่ เพื่อความง่ายและสะดวกในการปฏิบัติ

"คนมีเงินซื้อบ้านเกิน 20 ล้านบาทได้ รวมทั้งบ้านหลังที่2  ถือว่ามีรายได้สูง  เชื่อว่ากลุ่มนี้พร้อมที่จะจ่ายภาษี"

โรงแรมห่วงกฎหมายลูก

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า หากมีมาตรการช่วยผ่อนปรนค่าใช้จ่ายจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่เป็นเวลา 4 ปี โดยการจัดเก็บ 25% จากอัตราเต็มที่ต้องจ่ายนั้น ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวระหว่างนี้ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธุรกิจโรงแรมติดตามและให้ความสนใจมากกว่าคือกฎหมายลูกที่จะออกมาหลังจากนี้ ซึ่งจะกำหนดอัตราที่แต่ละโรงแรมต้องจ่าย และด้วยพ.ร.บ.ที่ออกมาแล้ว จะช้าหรือเร็วอย่างไรก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี

"กลุ่มโรงแรมยังไม่ทราบว่าการจัดเก็บจะอยู่ในอัตราเท่าใด เพราะต้องรอกฎหมายลูกที่ยังไม่ออกมา ทราบว่าเพดานสูงสุดอยู่ที่ 2% และต่ำสุดอยู่ที่ 0.3% ทำให้ต้องคำนวณต้นทุนโดยคิดเผื่อไว้ในกรณีสูงสุดก่อน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้ค่าใช้จ่ายหลักของโรงแรมเพิ่มชึ้นอีกกว่าอัตราการจัดเก็บภาษีในปัจจุบันอีกหลายเท่า"

ด้านนายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการผู้อำนวยการโรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ กล่าวว่า ยังติดตามกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.นี้อยู่เช่นกัน เพราะเป็นข้อบังคับที่ทุกโรงแรมต้องปฏิบัติตามในที่สุด แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้า

ขณะที่ นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทารามีการคำนวณต้นทุนที่อาจจะเกิดขึ้นไว้แล้ว แต่หากมีการช่วยผ่อนปรนภาระด้านภาษีได้ ก็น่าจะช่วยเรื่องการปรับตัว และไม่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงขึ้นในครั้งเดียว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ