ผังเมืองทุบลงทุนอืด สภาหอการค้าฯแนะรัฐเร่งแก้กฎเกณฑ์ต้อนนักธุรกิจนอกมาไทย
ผังเมืองทุบลงทุนอืด
เอกชนชี้ 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอืด ระบุติดปัญหาผังเมืองและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนทำขับเคลื่อนได้ช้า
นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลจากหอการค้าจังหวัดชายแดนที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน พบว่า ปัญหาที่ทำให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่งขับเคลื่อนได้ช้า เนื่องจากประกาศกฎกระทรวงมหาดไทยที่ออกมาเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2560 ห้ามก่อสร้างอาคารที่มีขนาดเกิน 500 ตารางเมตร ส่งผลให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 4-5 แห่งที่ติดปัญหานี้ ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ซึ่งต้องรอกฎหมายผังเมืองออกมาจึงจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาวได้ ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน
ทั้งนี้ ในพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งตามแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนยังติดปัญหาชุมชน ทำให้จัดหาที่ดินในการนำมาใช้ได้ล่าช้า เช่น นิคมอุตสาหกรรมแม่สอด จ.ตาก ที่เพิ่งจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี ในการพัฒนานิคมฯ จึงทำให้เอกชนเข้าไปลงทุนได้ช้า
นอกจากนี้ มีกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน เช่น รถขนส่งสินค้าข้ามไปเมียนมาจะต้องทำวีซ่า ต้องทำเป็นหนังสือผ่านแดน (บอร์เดอร์ พาส) ซึ่งจะเปิดทำการช่วง 08.30 น. แต่ด่านชายแดนเปิดทำการตั้งแต่ 05.30 น. ทำให้มีรถบรรทุกจำนวนมากต้องไปจอดรอ เกิดการจราจรติดขัด รวมทั้งไทยยังไม่อนุญาตให้รถบรรทุกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา
"โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทางคมนาคมขนส่งในบางพื้นที่ยังสร้างไม่เสร็จ ต้องใช้เวลาปัญหาการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในการเปิดด่านถาวร เช่น ด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ยังเจรจาไม่จบ จึงทำให้ยังไม่สามารถยกระดับให้เป็นด่านถาวรได้" นายนิยม กล่าว
สำหรับการประกาศมาตรการสนับสนุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นแบบต่ออายุปีต่อปี ล่าสุดมาตรการส่งเสริมที่จะหมดอายุในปี 2560 บีโอไอเตรียมต่อให้อีก 1 ปี โดยสิ้นสุดในปี 2561 ซึ่งภาคเอกชนมองว่าควรจะปรับเป็นมาตรการระยะยาวมีอายุ 5 ปี เพื่อความต่อเนื่องและจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพิ่มมากขึ้น