แผนพัฒนา เชียงใหม่ ฉบับเอกชน ดันขนส่งมวลชน-มุ่งสู่เมือง Smart Growth
Loading

แผนพัฒนา เชียงใหม่ ฉบับเอกชน ดันขนส่งมวลชน-มุ่งสู่เมือง Smart Growth

วันที่ : 14 ธันวาคม 2560
แผนพัฒนา เชียงใหม่ ฉบับเอกชน ดันขนส่งมวลชน-มุ่งสู่เมือง Smart Growth

อัตราเร่งเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ การลงทุนและการท่องเที่ยวเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจทุกด้านขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมืองมีการขยายตัวในแนวราบ หนาแน่นเต็มพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขัดแย้งกับรูปแบบเดิมของเมืองที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โครงสร้างของเมืองในปัจจุบันปรับไปตามวิถีสมัยใหม่

ในห้วงหลายทศวรรษ เชียงใหม่รับเอาแต่ความเจริญ แต่ขาดการวางแผนการพัฒนาเมืองอย่างรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านการจราจรที่ขาดการวางแผน-วางผัง มีการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นหลัก ไม่มีระบบขนส่งมวลชน ส่งผลให้เมืองเชียงใหม่ต้องเผชิญวิกฤตรถติดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การขยายตัวของเมืองในแนวราบอย่างรวดเร็วก่อเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย อาทิ การจราจรติดขัด มลพิษทางน้ำและอากาศ การเสื่อมสภาพของสภาพแวดล้อม เป็นต้น การขยายตัวของเมืองแบบไร้ทิศทางโดยขาดการวางแผน จึงขัดแย้งกับรูปแบบเดิมของศูนย์กลางเมืองที่มีความกะทัดรัด

การประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ "พัฒนาเมืองเชียงใหม่" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ "แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ฉบับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา พ.ศ. 2560"ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นการระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน เพื่อวางกรอบการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ว่าควรมีทิศทางอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า

ดันลงทุนขนส่งมวลชน

"ศิริพร ตันติพงษ์" ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร. จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กกร.จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ ได้จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ "พัฒนาเมืองเชียงใหม่" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ "แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ฉบับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา พ.ศ. 2560" เพื่อให้เมืองมีทิศทางที่ชัดเจน และสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ที่ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บท ภายใต้กรอบคิด 6 มิติ ของแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ฉบับนี้ เปรียบเหมือนกลีบดอกไม้ซึ่งสะท้อนถึงสัญลักษณ์หนึ่งของเชียงใหม่คือ เป็นเมืองแห่งดอกไม้

โดยกลีบการพัฒนาเมือง นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาเชียงใหม่เติบโตอย่างไม่มีทิศทาง ดังนั้น การดีไซน์เมืองให้น่าอยู่และเป็นเมืองที่น่าเที่ยว จึงต้องวางโครงสร้างพื้นฐานเมืองให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ให้เอื้อต่อการเดินทางที่สะดวกของประชาชน ขณะเดียวกัน ด้านสิ่งแวดล้อมเมือง ก็นับเป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกันคือ การพัฒนาเมืองสีเขียวและเมืองที่มีความปลอดภัย ซึ่งข้อจำกัดของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่คือ การอิงงบประมาณจากภาครัฐเป็นหลัก แต่ในอนาคตภาคเอกชนอาจร่วมกันลงทุนเอง หรือร่วมทุนกับ ภาครัฐ

"ปราชญ์ วงศ์วรรณ" นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ กล่าวว่า ข้อจำกัดด้านการพัฒนาเมืองของเชียงใหม่คือ ผังเมือง ที่เน้นการเติบโตไปในแนวราบ ผลักดันการพัฒนาออกสู่นอกเมือง แต่กลับไม่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานการเดินทางรองรับ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนที่จะเชื่อมโยงการเดินทางขนส่ง ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานอันจำเป็นและสำคัญมาก เพราะจะแก้วิกฤตจราจรของเมืองเชียงใหม่ได้ และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่จะสามารถตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น

แผนแม่บท 6 ด้านเสร็จ ก.พ. 61

ขณะที่ "อรรฆพจน์ วงศ์พึ่งไชย"ผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ฉบับภาคเอกชน-ภาคการศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บท ซึ่งมีความคืบหน้าแล้วหลายระดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จราวเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เป็นการวางกรอบทิศทางของเมืองเชียงใหม่ในระยะ 20 ปี ที่จะรองรับการเติบโตของเมือง ซึ่งวัตถุประสงค์ที่ต้องทำแผนพัฒนาฯนี้ขึ้นมา เพื่อให้เชียงใหม่มีแผนที่นำทาง (road map) การวางแผนเมืองที่ชัดเจน และเพื่อนำแผนแม่บทนี้มาประยุกต์ให้เข้ากับแผนของประเทศ

สำหรับองค์ประกอบการพัฒนาของแผนแม่บทฉบับนี้มี 6 ด้าน โดยดึงสัญลักษณ์ความเป็นเมืองแห่งดอกไม้งามของเชียงใหม่ มาเป็นสัญลักษณ์การพัฒนา 6 กลีบ ได้แก่ 1.กลีบการพัฒนาอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน 2.กลีบการพัฒนาวัฒนธรรมและสังคม 3.กลีบการพัฒนาการท่องเที่ยว การบริการ 4.กลีบการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน

5.กลีบการพัฒนาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และ 6.กลีบการพัฒนาศักยภาพเมือง ซึ่งกลีบการพัฒนาศักยภาพเมือง แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ส่วนคือ การวางแผนของเมือง การออกแบบเมือง และการพัฒนาเมือง

ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองเชียงใหม่จะมีทิศทางอย่างไรนั้น ต้องมาจากความเห็นร่วมกันที่ต้องอยู่ภายใต้ความสมดุล 3 ส่วนคือ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องได้ประโยชน์อย่างสมดุล เชียงใหม่ในระยะ 20 ปี จะต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่ามาเยือน และน่าลงทุน โดยเมื่อนำ 3 ส่วนมารวมกัน จะกลายเป็นเมืองที่เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์เชียงใหม่คือ นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง

Smart Growth โตอย่างฉลาด

"ฐาปนา บุณยประวิตร" ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเติบโตอย่างชาญฉลาด ประเทศไทย และอุปนายกสมาคมการผังเมืองไทย กล่าวว่า อุปสรรคของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่คือ ระดับมาตรฐานของระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีน้อยเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงในเมืองและรอบ นอกเมือง ระบบการระบายน้ำ และระบบกำจัดขยะ ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากของการพัฒนาเมือง และจำเป็นต้องปรับระดับโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก่อน

เพราะหากเชียงใหม่จะมุ่งสู่สมาร์ทซิตี้ (smart city) ต้องมีฮาร์ดแวร์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสมาร์ทซิตี้เป็นส่วนของการจัดการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แต่การจะสร้างเมืองให้มีความยั่งยืน ต้องมีทิศทางการพัฒนาเมืองที่ชัดเจน ด้วยแนวคิดของการเติบโตอย่างชาญฉลาด (smart growth) ซึ่งประเทศที่มีการใช้แนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาดในการวางผังเมืองคือ สิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้แผนแม่บทเป็นนโยบายหลักในการบริหาร ซึ่งได้นำข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินกับการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองอย่างเข้มงวดเป็นกลไกในการปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพื้นที่ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่พบว่า ระบบกำจัดขยะ น้ำเสีย ทางเดินเท้า ทางจักรยาน มีไม่ถึง 30% ของพื้นที่ ซึ่งมาตรฐานถนนในเมือง ต้องมีทางระบายน้ำฝน และน้ำเสียที่แยกส่วนกัน และปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคมากคือ การไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ไปตามเส้นทางที่ถูกกำหนดและเส้นทางยังไม่ครอบคลุม ดังนั้น หากพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานได้มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่แล้ว จึงจะมาสู่ขั้นตอนของการวางแผนพัฒนาเมืองว่าจะเป็นอะไร อยากให้เมืองเป็นแบบไหน

สำหรับแนวคิดพื้นฐานของการเติบโตอย่างชาญฉลาดมี 10 ด้าน อาทิ การใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน การส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้ การออกแบบปรับปรุงโครงข่ายทางเดินให้เชื่อมต่อกันทั่วทั้งชุมชนและระหว่างชุมชน การสงวนรักษาพื้นที่การเกษตร พื้นที่ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และพื้นที่เสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างความโดดเด่น เอกลักษณ์ และจิตวิญญาณแก่สถานที่ รวมถึงการกระตุ้นชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีส่วนร่วมในการวางผังพัฒนาเมือง

หนุนลงทุนรถไฟฟ้ารางเบา

"ฐาปนา" ยกตัวอย่างเช่น ภายในระยะ 5-10 ปี กำหนดให้ย่านถนนนิมมานเหมินท์ เป็นย่านการท่องเที่ยวนานาชาติและย่านแห่งการเดิน ซึ่งต้องวางโครงข่ายทางเดินที่ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด มีขนส่งมวลชนเชื่อมโยงเข้าถึง เป็นต้น รวมทั้งการกำหนดศูนย์เศรษฐกิจว่าควรมีกี่ย่าน การพัฒนากิจกรรมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสถานีขนส่งมวลชน โดยระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเชียงใหม่ก็คือ ระบบรางหรือรถไฟฟ้ารางเบา (tram) ซึ่งลงทุนไม่มากเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าใต้ดิน ขณะที่ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนตลอดแนวเส้นทางอีกด้วย

นับเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ที่กำลังถูกเร่งขับเคลื่อน/กำหนดทิศทางภายใต้กลีบดอกไม้แห่งการพัฒนาเมือง เพื่อสร้างเมืองให้น่าอยู่ สวยงามและยั่งยืนในอีก 20 ปีข้างหน้า

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ