ดึงต่างชาติร่วมลงทุน5โครงการพื้นที่ อีอีซี
Loading

ดึงต่างชาติร่วมลงทุน5โครงการพื้นที่ อีอีซี

วันที่ : 8 มกราคม 2561
ดึงต่างชาติร่วมลงทุน5โครงการพื้นที่ อีอีซี

"คณิศ"ยันปี 61 อีอีซีเดินหน้าลงทุนจริง 5 โครงสร้างพื้นฐาน "รถไฟความเร็วสูง-สนามบินอู่ตะเภา-ศูนย์ซ่อมอากาศยาน-ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือมาบตาพุด" พร้อมดึงนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกเพิ่มอีก"30 บริษัท" คาดปีนี้ เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้าน รุกปฏิรูปการศึกษาอาชีวะ ผลิตแรงงานป้อนพื้นที่อีอีซี

ปี2561 รัฐบาลประเมินว่าจะเกิดการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังจากปีที่ผ่านมาได้โหมโปรโมทโครงการดึง การลงทุนจากต่างชาติ พร้อมเพิ่มมาตรการส่งเสริม การลงทุนผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงาน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า จากการทำงานในรอบ 8 เดือน หลังจากการตั้งสำนักงานอีอีซี ได้อนุมัติโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญไปทั้งหมดแล้ว

โดยในปี 2561 จะเป็นการลงทุนจริงใน 5 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1. โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินหลัก ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา มูลค่าการลงทุน 2.3 แสนล้านบาท คาดว่าในช่วงต้นเดือน ก.พ.ปี 2561 จะออกทีโออาร์ได้ และจะทำสัญญาได้บริษัทลงทุนก่อสร้างภายในเดือน ก.ค.2561 และเปิดให้บริการปี 2566 ในช่วงแรก จะสร้างสถานีหลัก 9 สถานี ใช้เวลาวิ่งจากสนามบิน สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาได้ภายใน 45 นาที

2. โครงการสนามบินอู่ตะเภา โดยจะยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมือง การบินภาคตะวันออก โดยจะขยายอาคาร ผู้โดยสารรันเวย์ และพื้นที่โดยรอบรองรับอุตสาหกรรมและบริการด้านอากาศยาน คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ได้ภายในเดือน พ.ค.2561 และเจรจากับ เอกชนแล้วเสร็จในเดือนต.ค. 2561 คาด จะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

ลุยศูนย์ซ่อมเครื่องบินอู่ตะเภา

3. โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา บนพื้นที่ 200 ไร่ มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานอัตโนมัติ สำหรับซ่อมอากาศยานรุ่นใหม่ ได้ลงนามเอ็มโอยู ระหว่างการบินไทยกับแอร์บัสแล้ว คาดภายในเดือน ม.ค.-ก.พ.นี้ จะประกาศทีโออาร์และลงนามสัญญาได้ในเดือน เม.ย.2561 และ จะเริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2564

4. โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งจะยกระดับให้เกตเวย์ของเอเชีย ช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า คาดวประกาศ ทีโออาร์เดือน มิ.ย.2561 คัดเลือกและ เจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จ ในเดือน ต.ค.2561 เปิดให้บริการปี 2568 5.โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 มูลค่าลงทุน  1.1 หมื่นล้านบาท ประกาศทีโออาร์ ภายในเดือน มิ.ย. 2561 จากนั้นจะคัดเลือก และเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จ ก.ย. 2561 เปิดให้บริการ 2567

มั่นใจปี61ผุด5โครงการได้จริง

"ปี2561 โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั้ง 5 โครงการ จะเกิดการลงทุนจริง เห็นตัว ผู้ลงทุนทุกโครงการเป็นส่วนสำคัญสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและเกิดการลงทุนตามมาอีกมาก"

ในส่วนของการลงทุนภาคอุตสาหกรรมคาดว่าภายในเดือนม.ค. พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจะแล้วเสร็จ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน คาดว่าปี 2561 จะมีนักลงทุนโครงการใหญ่เข้ามาอีกมาก โดยเดือน มี.ค.2561 ซึ่งครบรอบ 1 ปี ของการเปิดสำนักงาน อีอีซี  จะดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ได้ 30 รายตามเป้าหมาย และตั้งเป้าว่าจะดึงบริษัทรายใหญ่เข้ามาลงทุน ให้ได้อีก 30 ราย รวมมีบริษัทชั้นนำของโลก ไม่ต่ำกว่า 60 ราย เข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี

เร่งดึงทุนต่างชาติลงทุนอีอีซี

ปี 2561 จะมีคณะนักลงทุนอีกเป็นจำนวนมากเดินทางมาศึกษาลู่ทางการลงทุนใน อีอีซี โดยเฉพาะในช่วงต้นปี จะมีคณะนักลงทุน จากจีนกว่า 200-300 ราย เดินทางเข้ามาดูลู่ทาง การลงทุนในไทย รวมทั้ง อีอีซีจะออกไป โรดโชว์ที่ยุโรป จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ช่วยนักลงทุนเหล่านี้มาเยือนไทยด้วย

ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเข้ามา ลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่มีความโดดเด่น ได้แก่ อุตสาหกรรมอากาศยาน หลังจากบริษัทรายใหญ่ อย่างแอร์บัสและโบอิ้ง ได้ลงนามเอ็มโอยูแล้ว และโบอิ้งก็เข้ามาเจรจาลงทุน อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ จะขยายตัวจากมาตรการส่งเสริมของคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (บีโอไอ) ที่ได้ประกาศออกมาแล้ว คาดว่าปีนี้จะมีการลงทุนจากภาคเอกชนในพื้นที่อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ใกล้เคียงปี 2560 ที่มีเอกชนเข้ามาขอ บีโอไอ ถึง 1.04 แสนล้านบาท

"ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติหลายรายได้ เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ ปี2561 จะไปคุยกับ ปตท. และเอสซีจี ที่จะขยายการลงทุนในอีอีซีอีกมาก"

เร่งผลิตบุคลากรรับอีอีซี

ปีนีจะเร่งปฏิรูปการศึกษาด้านอาชีวะ ในพื้นที่ อีอีซี เพื่อผลิตบุคลากรรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายรวมทั้งการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับพื้นที่ เขตนวัตกรรม ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) และพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) เพื่อให้เกิดการวิจัยถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกันขยายไปสู่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรมใหม่ๆ

โดยแผนระยะเร่งด่วน จะพัฒนาหลักสูตร ระยะสั้นสำหรับครูหรือวิทยากรต้นแบบ หลักสูตรการเตรียมบุคลากรทุกระดับ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและสำหรับบุคลากรในระบบเพื่อปรับเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่วนระยะกลาง จะขยายไปสู่นักเรียน และนักศึกษา ทุกระดับการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และบริการชั้นสูง ยกระดับแรงงานในระบบมีสมรรถนะตามที่ต้องการ รวมทั้งให้สถาบันการศึกษามีผลงานวิจัยที่นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และสามารถ จดสิทธิบัตรได้ มีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี

เร่ง4มาตรการวิจัย-เทคโนโลยี

แนวทางการลงทุนภายใต้การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี ในระยะเร่งด่วน 4 มาตรการ ได้แก่ 1.จัดทำ มาตรการให้มีการนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทย 2. เปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้น และห้องทดลอง 3. อนุญาตให้สถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาดำเนินการในพื้นที่ อีอีซี 4. จัดทำมาตรฐานวิชาชีพ และการรับรอง มาตรฐาน คุณภาพ วิชาชีพที่เกี่ยวกับ สมรรถนะที่พึงประสงค์ 5. สำรวจศักยภาพ และความต้องการแรงาน และ6. การเตรียม บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ระยะปานกลาง จะพัฒนาบุคลากรระดับอาชีวะ และเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งระบบ ภายใต้แผนของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้มีการประเมินความต้องการแรงงานและความสามารถในการผลิตแรงงานใหม่ทุกปี เพื่อให้สอดล้องกับสถานการณ์

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ