ชงเขตส่งเสริม19แห่งรับอีอีซี
Loading

ชงเขตส่งเสริม19แห่งรับอีอีซี

วันที่ : 18 มกราคม 2561
ชงเขตส่งเสริม19แห่งรับอีอีซี

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบเสนอคณะกรรมการนโยบายอีอีซี ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 1 ก.พ. อนุมัติเขตส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มเติม 19 แห่ง จากเดิมที่กำหนดพื้นที่แล้ว 2 แห่ง รวมเป็น 21 แห่ง พื้นที่ทั้งหมด 86,775 ไร่ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 28,666 ไร่ คาดว่า ก่อให้เกิดเงินลงทุนทั้งหมด 1.31 ล้านล้านบาท

"เดิมกำหนดเขตส่งเสริมไปแล้วจำนวน 2 นิคมฯ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค  จังหวัดระยอง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 4 จังหวัดระยอง และครั้งนี้ได้เห็นชอบประกาศเพิ่มเติมอีกสิ้น 18 แห่ง แบ่งเป็น จังหวัดระยอง จำนวน 5 แห่ง จังหวัดชลบุรีจำนวน 12 แห่ง และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง ขณะเดียวกันได้ยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี.ระยอง เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม รองรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สื่อสารด้วยภาษาจีน โดยเฉพาะเป็นเขตส่งเสริมแห่งที่ 19 รวมเป็น 21 แห่ง"

นอกจากนี้เตรียมเสนอแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่อีอีซี เพื่อเชื่อมโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค รวม 168 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนรวม 988,948.10 ล้านบาท โดยเป็นงบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) 583,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 59% งบประมาณแผ่นดิน 296,684 ล้านบาท สัดส่วน 30% งบรัฐวิสาหกิจ 98,895 ล้านบาท สัดส่วน 10% และกองทุนหมุนเวียน กองทัพเรือ  คิดเป็น 1% แบ่งแผนดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย แผนงานระยะเร่งด่วน ระหว่างปี 60-61 เช่น การแก้ปัญหาคอขวด แก้ปัญหาถนนลูกรัง แผนงานระยะกลาง ระหว่างปี 62-64 เช่น สร้างท่าเรือแหลมฉบัง สร้างรถไฟทางคู่  เส้นทางแหลมฉบัง มาบตาพุด และแผนงานระยะต่อไป ตั้งแต่ปี 65-69 เช่น สร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางระยอง จันทบุรี ตราด รถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือทวาย

ทั้งนี้ผลที่คาดว่าจะได้รับคือระบบการขนส่งมีประสิทธิภาพ สูงขึ้น ลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ และเมื่อรวมกับโครงข่ายภายนอกพื้นที่อีอีซี จะลดต้นทุน โลจิสติกส์ได้ถึง 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือปีละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติม คาดจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.1-3 ล้านล้านบาท และประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนคุณภาพสูง

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ