ผังเมืองใหม่สารคามป่วนเอกชนหวั่นบล็อกเติบโต
Loading

ผังเมืองใหม่สารคามป่วนเอกชนหวั่นบล็อกเติบโต

วันที่ : 1 กุมภาพันธ์ 2561
ผังเมืองใหม่สารคามป่วนเอกชนหวั่นบล็อกเติบโต

เทศบาลเมืองมหาสารคาม เซ็นรับรองผังเมืองรวมใหม่แล้ว ขณะที่ภาคธุรกิจยังหวั่นผังสีเขียวตลอดบายพาสทำความเจริญติดล็อก เผยตลอดแนวเลี่ยงเมืองอสังหาริมทรัพย์กำลังโต ขณะที่นักธุรกิจเร่งขยายการลงทุนก่อนผังเมืองประกาศใช้

นายณรงค์ เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับผังเมืองฉบับใหม่ ที่กำหนดตลอดแนวพื้นที่ถนนเลี่ยงเมืองจากสี่แยกบ้านดินดำ ต.เกิ้ง ไปจนถึงบายพาส บ้านส่องนางใย ทางไป จ.ร้อยเอ็ด ให้เป็นพื้นที่สีเขียวตลอดแนว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่กำลังเจริญเติบโต มีทั้งบ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ โชว์รูม ผุดขึ้นจำนวนมากทุกปี โดยมีการลงทุนสูง แต่เมื่อมีการกำหนดขึ้นมาย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจท้องถิ่น จะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ติดล็อก อาทิ อาคารพาณิชย์ โรงแรม บ้านจัดสรร หอพัก เป็นต้น

"หากวันใดที่เทศบาลเมืองมหาสารคามลงนามรับรองผังเมืองฉบับนี้ เมื่อมีการประกาศใช้ก็จะไม่สามารถก่อสร้างได้ ดังนั้นในช่วงนี้จะเห็นธุรกิจหลายอย่างตลอดสองฝั่งถนนบายพาสมีการเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการประกาศใช้ผังเมืองรวมฉบับใหม่"

ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม กล่าวว่า ภายหลังจากที่ทางส่วนกลางส่งร่างผังเมืองฉบับใหม่มาให้ทางเทศบาลเมืองมหาสารคาม ขณะนี้ได้เซ็นรับรองผังเรียบร้อยแล้ว

รายงานข่าวจากมหาสารคามแจ้งว่า ผังเมืองรวมเมืองมหาสารคาม ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล 2 เทศบาล ประกอบด้วย ต.เกิ้ง ต.แก่งเลิงจาน ต.ท่าสองคอน ต.เขวา ต.แวงน่าง เขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม และเขตเทศบาลตำบลแวงน่าง รวมพื้นที่ 152 ตารางกิโลเมตร เริ่มดำเนินการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองมหาสารคามตั้งแต่ปี 2557 ทั้งนี้การกำหนดใช้ที่ดินภาคธุรกิจต่างไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสภาพเมืองที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน อาทิ อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ มีอัตราการเติบโตที่สูงมากตามสถาบันอุดมศึกษาที่มีถึง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาส่งผลให้ธุรกิจที่อยู่อาศัยหอพัก บ้านเช่า หมู่บ้านจัดสรร ค้าปลีก ค้าส่ง ได้รับอานิสงส์บูมอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามผังเมืองฉบับนี้มีการปรับปรุงให้รองรับแผนการลงทุนของรัฐบาล อาทิ การก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่จาก อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ไปยัง จ.นครพนม ซึ่งจะพาดผ่านพื้นที่ 3 อำเภอ ของมหาสารคาม คือ อ.กุดรัง อ.บรบือ และ อ.เมืองมหาสารคาม และเปิดรับการพัฒนาให้มากขึ้น เช่น สร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้บางประเภท อาคารขนาดใหญ่บางโซน จากเดิมโซนพื้นที่สีเขียวสร้างไม่ได้ แต่จะยืดหยุ่นหรือลดข้อจำกัดการใช้ที่ดินให้พัฒนามากขึ้น เนื่องจากความเป็นจริงในปัจจุบันพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่การเกษตรได้ถูกใช้ประโยชน์ทางธุรกิจไป จำนวนมาก

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ