วัสดุก่อสร้างราคาพุ่งแรง พื้นที่อีสาน-อีอีซีหนักสุดเจอกักตุน-บิ๊กโปรเจ็กต์
"พาณิชย์" เผยแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างในประเทศส่อแววพุ่งกระฉูด ทั้งปูน เหล็ก หิน ดิน ทราย ยางมะตอย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน และ 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี ที่มีโครงการก่อสร้างมาก ทำให้ผู้รับเหมาแห่กักตุน แถมปีนี้รัฐยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาวัสดุก่อสร้างในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ทุกรายการ ทั้งปูนซีเมนต์ ผลิต ภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิต ภัณฑ์ รวมถึงวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เช่น ดินลูกรัง ทรายถมที่ ทรายหยาบ ทรายละเอียด หินคลุก หินย่อย ยางมะตอย โดยราคาปรับตัวสูงขึ้นมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดฉะเชิง เทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาค ตะวันออก (อีอีซี) เพราะผู้รับเหมาได้แย่งกันซื้อ เพื่อนำไปก่อ สร้างโครงการต่างๆ ที่มีจำนวนมากทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน
ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาวัสดุก่อสร้างในจังหวัดต่างๆ พบว่า ในภาคอีสาน และ 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี ราคาสูงขึ้นมาตั้ง แต่ช่วงกลางปีที่แล้ว เพราะผู้รับเหมาเร่งซื้อเพื่อกักตุนไว้รองรับการก่อสร้างในโครงการลงทุน ทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชน ประกอบกับวัสดุก่อสร้างหลายรายการเริ่มขาดแคลนจากการหมดอายุสัมปทาน เช่น หิน ทรายกว่าจะได้ต่ออายุต้องใช้เวลาสักระยะ ผู้รับเหมาเกรงจะเกิดการขาดแคลนมากขึ้น จึงต้องเร่งซื้อของเอาไว้ก่อน
"ปีนี้คาดว่าราคาน่าจะปรับ ตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีโครง การลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น อีอีซี โครงการด้านคมนาคมขนาดใหญ่ ขณะที่ภาคเอกชนที่ เชื่อมั่นเศรษฐกิจดีขึ้น จึงมีการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น ล้วนแต่เป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาสูงขึ้น ดังนั้นใครที่คิดจะสร้างบ้าน สร้างเรือนหอ ก็ให้รีบทำตั้งแต่ตอนนี้ เดี๋ยวราคาขึ้นจะสร้างไม่ได้ เป็นห่วงคนที่กำลังจะมีคู่" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า จากการสำรวจดัชนีวัสดุก่อสร้างเดือน ม.ค.2561 พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 107.5 เพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือน ม.ค.2560 ซึ่งมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ 3.9%, หมวดซีเมนต์ 4.0%, หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต 2.9%, หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์ 8.1% และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ (ดินลูกรัง ทรายถมที่ ทรายหยาบ ทรายละเอียด หินคลุก หินย่อย ยางมะตอย) 1.2% ขณะที่หมวดอื่นๆ ดัชนีราคาลดลง เช่น หมวดกระเบื้องลดลง 0.5%, หมวดวัสดุฉาบผิวลดลง 0.1%, หมวดสุขภัณฑ์ลดลง 0.6% และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาลดลง 2.7%
สำหรับดัชนีราคาหมวดไม้ และผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ทั้งไม้ฝา ไม้ คาน ไม้โครงคร่าว วงกบประตู- หน้าต่าง บานประตู-หน้าต่าง มาจากราคาไม้ที่เริ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือน มี.ค.2560, หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นทั้งปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ขาว จากสถานการณ์ปูนล้นตลาด ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับลดปริมาณการผลิต แต่ความต้องการใช้เริ่มกลับมาตั้งแต่ ช่วงปลายปี 2560 แต่กำลังการผลิตยังไม่เพิ่ม เพราะต้นทุนการผลิตด้านเชื้อเพลิงสูงขึ้น
ขณะที่หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ (ดินลูกรัง ทรายถมที่ ทรายหยาบ ทรายละเอียด หินคลุก หินย่อย) ปริมาณการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้เพราะเป็นวัสดุธรรมชาติที่เริ่มลดน้อยลง ส่วนยางมะตอย ราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น