นับถอยหลัง กฎหมายอีอีซี เดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
Loading

นับถอยหลัง กฎหมายอีอีซี เดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจ

วันที่ : 9 กุมภาพันธ์ 2561
นับถอยหลัง กฎหมายอีอีซี เดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกมธ. ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 71 มาตรา กรรมาธิการฯ ได้การแก้ไขเพิ่มเติม 49 มาตรา ตัดออก 2 มาตรา เพิ่มใหม่ 5 มาตรา เพื่อให้ถูกต้อง ชัดเจน ยืดหยุ่น สามารถปฏิบัติได้ มีสมาชิก สงวนคำแปรญัตติ 3 คน  ในการพิจารณาเนื้อของร่างกฎหมายฉบับนี้ทางกรรมาธิการฯ ได้นำรายงานผลการเปิดรับความคิดเห็นของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและอาจได้รับผลกระทบ จากการตรากฎหมาย รวมถึงข้อมูลจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นตามประเด็นที่ถูกร้องเรียนมาประกอบการพิจารณาด้วย

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย การกำหนดให้พื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออก ที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ ในการดำเนินการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง

ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดย สมบูรณ์ จะตราพระราชกฤษฎีกาให้พื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องกับพื้นและเฉพาะพื้นที่เท่าที่ จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ ดังกล่าว ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาค ตะวันออกด้วยก็ได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่กมธ.ได้มีการปรับแก้ไขประกอบด้วย

มาตรา 8  ซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิกา(กมธ.)วิสามัญฯได้มีการปรับแก้โดย กำหนดให้การดำเนินการโครงการหรือ กิจการใด ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาค ตะวันออกที่ต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่กำหนดให้ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ขณะที่มาตรา 10 ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ"บอร์ดอีอีซี" ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะกมธ.วิสามัญฯได้เพิ่มสัดส่วนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้ามา เป็นกรรมการดังกล่าวด้วย แต่ยังคงให้ นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการตามเดิม

โดย"บอร์ดอีอีซี" มีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การให้ความเห็นชอบแผนภาพรวมเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแผนการดำเนินงาน แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวมแผนพัฒนาโครงการพื้นฐาน และสาธารณูปโภค และการใช้แผนให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งออกหลักเกณฑ์วิธีการ รวมทั้งพิจารณาอนุมัติ อนุญาตให้สิทธิ สัมปทาน เป็นต้น

นอกจากนี้ให้มี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษฯมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยสำนักงานดังกล่าวมีหน้าที่ อาทิ ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นจากการกำหนดและการดำเนินการตามนโยบาย รวมทั้ง กำกับติดตามและรายงานความคืบหน้าความคืบหน้าต่อกรรมการนโยบายอย่างน้อย ทุก 3 เดือน

ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายฯอาจเห็นควรกำหนดให้นิคมอุตสาหกรรมใด หรือพื้นที่ใดที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจ พิเศษฯ เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดตั้ง เปลี่ยนแปลงเขต และยุบเลิกเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยกำหนดให้เลขาธิการ เป็นผู้มีอำนาจ อนุมัติ อนุญาต ในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดิน และ ถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ และกฎหมาย ว่าด้วยโรงงาน

โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานการบริหารด้านการลงทุน เพื่อเสริม ประสิทธิภาพการให้บริการแก่นักลงทุน ที่มีลักษณะเป็นศูนย์บริการร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ที่สามารถเชื่อมโยงการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน แบบเบ็ดเสร็จ

นอกจากนี้ มาตรา 51/1  เป็นบทบัญญัติที่คณะกมธ.วิสามัญเขียนมาใหม่เพื่อใช้มาตรการทางภาษีจูงใจให้บุคคลเข้ามาทำงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยบัญญัติว่าเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและก่อให้เกิดนวัตกรรมเข้ามาประกอบกิจการหรือทำงานในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

บุคคลดังกล่าวรวมทั้งคู่สมรส บุพการี และบุตรที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาค ตะวันออกหรือเขตส่งเสริมเศรษฐกิจ อาจได้รับการลดหย่อนภาษี สิทธิเกี่ยวกับ การเข้าเมืองและการขออนุญาตทำงาน และสิทธิอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดก็ได้

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวได้กำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการและ ผู้อยู่อาศัยภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้ สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าวซึ่งประกอบกิจการและอยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจะได้รับสิทธิฯ สามารถทำสัญญาเช่าได้ถึง 50 ปีและต่อสัญญาเช่าได้อีกไม่เกิน 49 ปี โดยไม่ต้องรับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือภายใต้การจำกัดสิทธิชองคนต่างด้าวตามกฎหมาย ว่าด้วยอาคารชุด

รวมทั้งสิทธิในการนำคนต่างด้าว เข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร ซึ่งต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือ ผู้ชำนาญการหรือคู่สมรสและบุคคล ในอุปการะ สิทธิในการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน และสิทธิประโยชน์อื่น

ขณะเดียวกัน ให้มีการจัดตั้งกองทุนที่เรียกว่า"กองทุนพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก"โดยได้รับเงินมาจาก1.เงินกองทุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ 2.เงินบำรุงตาม มาตรา47 3. เงินสมทบจากสำนักงาน 4.เงินหรือทรัพย์ที่มีผู้บริจาคให้ 5.เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนและ 5.ดอกผลหรือผลประโยชน์ใดๆที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

หลังจากนี้คงต้องติดตามหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ โดยกฎหมายดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในระยะ 10 ปี (2560-2569) รองรับการลงทุนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 แสนล้านบาท การลงทุนด้านเมืองใหม่ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่อยู่อาศัย 4 แสนล้านบาท และการลงทุนด้านการท่องเที่ยวคุณภาพและเชิงสุขภาพ 2 แสนล้านบาท

"กฎหมายดังกล่าว ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อน ระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก"

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ