50บริษัทรัสเซียสนลงทุนเอไอดิจิทัลฮับ อีอีซี
รมช.พัฒนาเศรษฐกิจรัสเซียพา 50 บริษัทชั้นนำพบ"สมคิด" ดันเอกชน ชั้นนำลงทุนไทย เผยสนลงทุนดิจิทัลฮับใน อีอีซี เสนอตั้งกองทุนนวัตกรรมร่วมศึกษา- วิจัย เตรียมควง 4 รมต.เยือนรัสเซียมี.ค.นี้ หารือร่วมมือรอบด้าน ฟื้นเจรจาเอฟทีเอ ไทย-ยูเรเซีย ขณะ"อุตตม"เผย 3 บริษัทหุ่นยนต์ รัสเซีย สนลงทุนไทย
หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาค ตะวันออก(EEC) ช่วงต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เป็นเหมือนการ "ปลดล็อก"การลงทุนจาก ต่างชาติ โดยในช่วง 2 สัปดาห์พบว่ามีนักลงทุนจาก 5 ชาติเดินทางเข้าพบรัฐบาล เพื่อหารือถึงโอกาสการลงทุนในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน เกาหลีใต้ ล่าสุดคือ รัสเซีย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารือกับนาย อเล็กเซย์ กรูซเดียฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ สหพันธรัฐรัสเซีย วานนี้ (22 ก.พ.) ว่าการพบกันในครั้งนี้เป็นการหารือกันถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับรัสเซียหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยรัสเซียยืนยันที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในอาเซียน เป็นฐานการลงทุนในประเทศอื่นๆในภูมิภาค
นายสมคิด กล่าวว่า ในครั้งนี้มีนักธุรกิจรัสเซียที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยสนับสนุนให้มีการลงทุนกว่า 50 คน เช่น ธนาคาร Sberbank ธนาคาร Vneshekonom bank บริษัท Rostec Corporation บริษัท JSC Ilyushin Finance Co. เป็นต้น ถือว่าเป็นคณะรัสเซียที่มาเยือนไทยครั้งนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นประวัติกาณ์ สะท้อนให้เห็นว่ารัสเซียมุ่งมั่นที่จะสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทย
รัสเซียยังมองเห็นศักยภาพทางด้านการลงทุนในไทยทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหรรมป้องกันประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ ไซเบอร์ รวมทั้ง ยังยินดีร่วมมือกับธนาคารของไทยในการจัดตั้งกองทุน Innovation Fund เพื่อช่วยให้เกิด ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือ startup ที่มีแนวคิดที่สร้างสรรค์เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยสนใจในการลงทุนในโครงการ ดิจิทัลฮับ ซึ่งรัสเซียมีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องระบบอินเทอร์เน็ต ออฟทิงส์ (IOT) โดยเสนอว่าพร้อมที่จะลงทุนปรับปรุงระบบสัญญาณการบินของสนามบินอู่ตะเภา
นอกจากนี้ได้หารือถึงความร่วมมือสองประเทศในระดับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (strategic partner ship) การเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย - ยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน อาร์มีเนีย และคีร์กีซสถาน ซึ่งไทยขอให้รัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ในกลุ่มนี้ช่วยในการเจรจา รวมทั้งหารือในเรื่องการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยซึ่งไทยพร้อมที่จะส่งสินค้าไปยังรัสเซียเพิ่มขึ้น
คณะไทยเยือนรัสเซียพ.ค.นี้
รัสเซียได้ขอให้คณะของไทยไปเยือนรัสเซียในช่วงเดือน พ.ค. นี้เพื่อเจรจาความร่วมมือในด้านต่างๆ และเข้าร่วมการประชุมทางเศรษฐกิจที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg International Economic Forum) โดยได้มอบหมายให้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปดูในรายละเอียดของความร่วมมือในทุกด้าน และเร็วๆนี้จะเรียกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 4 กระทรวง ได้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาประชุมเตรียมการเพื่อเตรียมพร้อมการเดินทางไปเยือนรัสเซียในช่วงเดือน พ.ค.นี้
รัสเซียลงนามบีโอไอดันลงทุน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากการหารือกันระหว่างรองนายกรัฐมนตรีของไทยและ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ สหพันธรัฐรัสเซีย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ของไทยกับกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจรัสเซีย ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยาน
ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจาก ที่ไทยมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0 อุตสาหกรรมเป้าหมายและอีอีซี ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการรัสเซียสนใจลงทุนในไทยมากขึ้น
รัสเซียสนลงทุน"หุ่นยนต์"
ทั้งนี้ จะจัดตั้งคณะทำงานภาครัฐและเอกชนร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อกำหนดความชัดเจนในกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ ทั้งในเรื่องของการลงทุน ซึ่งรัสเซียสนใจเข้าร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อาหาร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงต่างๆ อุตสาหกรรมดิจิทัล และการพัฒนาผู้ประกอบการ
คณะนักธุรกิจรัสเซียที่เดินทางมาใน ครั้งนี้ มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม หุ่นยนต์ 3 ราย ที่สนใจจะลงทุนด้านหุ่นยนต์ในไทย รวมทั้งสนใจที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝึกผู้ประกอบการด้านหุ่นยนต์ของไทย และมีนักธุรกิจรัสเซียสนใจที่จะหาผู้ร่วมทุนชาวไทยในการลงทุนหุ่นยนต์เพื่อการศึกษาอีกด้วย
นายอุตตม กล่าวว่า รัสเซียยังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆภายใน อีอีซี เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟทางคู่ ปิโตรเคมี ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ระบบรักษาความปลอดภัยในสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้เพื่อดึงดูดการลงทุน รัฐยังมีแผนที่จะออกไปโรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มเดินทางได้ในเดือนเม.ย.นี้ ประเทศเป้าหมายในยุโรป ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ส่วนในเอเชีย จะเน้นญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้