รับเหมาฯห่วง เมกะโปรเจค วัสดุก่อสร้างตึงตัว-วิกฤติแรงงาน
Loading

รับเหมาฯห่วง เมกะโปรเจค วัสดุก่อสร้างตึงตัว-วิกฤติแรงงาน

วันที่ : 2 มีนาคม 2561
รับเหมาฯห่วง เมกะโปรเจค วัสดุก่อสร้างตึงตัว-วิกฤติแรงงาน

อังสุรัสมิ์ อารีกุล ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงแนวโน้มสถานการณ์วัสดุก่อสร้างรองรับโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ของรัฐบาลว่า ปีนี้ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ เพิ่งจะลงนามในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยจะทยอยลงนามต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ทำให้มีโครงการเริ่มก่อสร้างไม่มาก อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 เป็นต้นไป เชื่อว่า วัสดุก่อสร้างจะเริ่มตึงตัว อาจจะมีปัญหาในการส่งมอบล่าช้างอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับขาดแคลน

"โรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างต่างๆ ล้วนแต่มองออกถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้น และเตรียมการรองรับไว้แล้ว แต่เป็นกังวลในเรื่องของราคาอาจจะปรับขึ้นบ้าง จากความต้องการที่สูงขึ้น ซึ่งในส่วนของบริษัทก่อสร้างที่รับงาน เอกชนไม่น่าจะมีปัญหา แต่ในส่วนของบริษัทที่รับงานราชการอาจจะกระทบบ้าง เพราะงานราชการมีส่วนต่างกำไรน้อยกว่า"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การขาดแคลนแรงงานในบางระดับ โดยเฉพาะระดับวิศวกร ที่ขณะนี้หลายหน่วยงานมีความต้องการสูงมาก รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ซึ่งแม้ว่าในขณะนี้หลายบริษัทจะนำเครื่องจักร และเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาทดแทนแรงงาน แต่ในอุตสาหกรรมนี้ คนงานก่อสร้างยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเครื่องจักรทดแทนได้เพียงบางส่วน ดังนั้นในช่วงที่งานก่อสร้างออกมาสูงสุด จะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานแน่นอน ดังนั้นในช่วงดังกล่าว อยากให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้นำเข้าแรงงานต่างด้าว รองรับอุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มขึ้น

จักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างที่จะเพิ่มขึ้น จากโครงการขนาดใหญ่ และการก่อสร้างภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นมาก มองว่าผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างของไทย สามารถผลิตสินค้าขึ้นมารองรับได้ โดยในส่วนของปูนซีเมนต์ ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตใหญ่ของภูมิภาคนี้ และยังส่งออกไปยังหลายประเทศ รวมทั้งยังได้เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ซึ่งหากในช่วงที่งานก่อสร้างโครงการโครงการขนาดใหญ่เข้ามาเป็นจำนวนมาก หากการผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ ก็สามารถนำเข้ามาจากโรงงานของไทย ในประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนราคาอาจจะปรับขึ้นบ้างแต่ไม่มากน่าจะอยู่ในระดับ 2-3%

"เปรียบเทียบในช่วงน้ำท่วมใหญ่ของไทยหลังน้ำลดก็มีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นสูงมาก เพื่อนำมาซ่อมแซมความเสียหาย แต่วัสดุก่อสร้างของไทยก็ไม่ขาดแคลน มีเพียงสินค้าบางชนิดขาดไปช่วยสั้นๆเท่านั้น"

ส่วนในเรื่องของเหล็กก่อสร้าง เชื่อว่าจะไม่ขาดแคลน เพราะขณะนี้โรงงานผลิตเหล็กเส้นของไทยมีกำลังการผลิตสูงกว่าความต้องการเป็นจำนวนมาก จึงเชื่อว่าในส่วนของเหล็กก่อสร้างจะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน ส่วนราคาจะเพิ่มหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับราคาในตลาดโลกเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่าห่วงจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาแม้ในภาวะปกติก็ขาดแคลนแรงงานมาโดยตลอด ซึ่งแม้จะนำเทคโนโลยีมาใช้ ก็ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานคนอยู่ โดยการขาดแคลนจะอยู่ในทุกระดับ ทั้งแรงงานช่างเทคนิคทักษะสูงที่จะเข้ามาควบคุมเครื่องจักรต่างๆ และแรงงานก่อสร้างพื้นฐาน ที่ยังคงจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก

สำหรับสถานการณ์การก่อสร้างในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3-5% โดยเป็นการเติบโตทั้งจากโครงการภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ และโครงสร้างระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน

โดยปัจจัยบวกจะมาจากการขยายตัว ของเศรษฐกิจ ทำให้มีกำลังซื้อ ภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้ม ที่ต่างชาติรายย่อยจะเข้ามาซื้อห้องชุดในคอนโดมิเนียมต่างๆ เพิ่ม ขยายจากเดิมที่จะมีเฉพาะต่างชาติรายใหญ่เข้ามาซื้อเป็นโครงการ ทำให้ภาครวมอสังหาริมทรัพย์เติบโตค่อนข้างดี

ปสันน์ สวัสดิ์บุรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ หรือ NWR เปิดเผยว่า กรณีที่มีการลงทุนโครงการของภาครัฐจำนวนมาก ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณการขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง และการปรับขึ้นราคาสินค้าวัสดุก่อสร้าง แต่หากมีการลงทุนมากกว่านี้ ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวการณ์ตึงตัวของวัสดุก่อสร้างได้เช่นกัน

ทว่า ปัจจุบันมีแค่สินค้าประเภทเหล็กที่เริ่มเห็นสัญญาณการแปรปรวนของราคา แต่เป็นเรื่องปกติของเหล็กที่ราคามีความผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา เพราะเป็นสินค้าที่ขึ้นอยู่กับความต้องการและปริมาณการผลิต ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาโรงงานเหล็กในประเทศจีนปิดดำเนินธุรกิจไป หลายแห่ง ฉะนั้น ราคาเหล็กจึงปรับขึ้นเล็กน้อย

ขณะที่ การลงทุนโครงการ EEC เชื่อว่า การลงทุนโครงการพื้นฐานจะทำให้ความต้องการปูนซีเมนต์ เหล็ก เพิ่มขึ้น ส่วนการก่อสร้างโรงงานอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

"ตอนนี้ดีมานด์และซัพพลายยังอยู่ในภาวะสมดุล ยังไม่เห็นสัญญาณข้างไหนมากกว่ากันชัดเจน แต่หากมีการใช้ จำนวนมากๆ เช่น กรณีมีการลงทุนมอเตอร์เวย์ทุกเส้นทางพร้อมกัน หรือลงทุนรถไฟฟ้าสายเส้นทางอาจจะมีความเป็นไปได้ที่วัสดุก่อสร้างจะขาดแคลน"

ขณะที่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินลงทุน 2 แสนล้านบาท บริษัทในฐานะผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง สนใจโครงการดังกล่าว เพียงแต่ว่าต้องศึกษาในรายละเอียดการลงทุนก่อน รวมทั้งต้องจับมือกับพันธมิตรต่างชาติ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ และต้องอาศัยประสบการณ์ความชำนาญและเชี่ยวชาญมาก

"เราในฐานะผู้ประกอบการก่อสร้าง ต้องศึกษารูปแบบและรายละเอียดในการลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งโครงการดังกล่าวเราก็สนใจลงทุน แต่ต้องดูอย่างรอบคอบ"

สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะกลับมา ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยบวกด้านการส่งออกที่เติบโตได้ดี ขณะที่เศรษฐกิจ ทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ส่วนการลงทุนภาครัฐเชื่อว่าจะมีออกมามากขึ้น จากปีนี้ที่ล่าช้าไปไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่ กลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หลายประเทศยังมีความต้องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนงานก่อสร้างออกมาและหนุนให้บริษัทมีการเติบโต

โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 61 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% หรือแตะระดับ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตจากปริมาณงานที่ออกมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เริ่มกลับมาเร่งลงทุนมากขึ้น อาทิ รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าสายต่างๆ ท่าเรือ และ แอลเอ็นจีเทอร์มินอล เป็นต้น

ปัจจุบันบริษัทได้ยื่นประมูลงานใหม่มูลค่าหลายโครงการ มูลค่าราวกว่า 32,223 ล้านบาท โดยบริษัทคาดหวังว่าจะได้งานเข้ามาราว 13,000 ล้านบาท

ปัญหาที่น่าห่วงคือการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ปกติก็ขาดแคลนมาตลอด แม้จะนำเทคโนโลยีมาใช้ ก็ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานคน

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ