1ปีคลอดผังเมืองบูมลงทุน อีอีซี
Loading

1ปีคลอดผังเมืองบูมลงทุน อีอีซี

วันที่ : 19 มีนาคม 2561
1ปีคลอดผังเมืองบูมลงทุน อีอีซี

"กรมโยธาธิการฯ" เตรียมบังคับใช้ผังเมืองใหม่อีอีซีใน1 ปี รองรับพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ ส.อ.ท.ชี้อีอีซีช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตหนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้า-ระบบน้ำ พีทีทีจีซีหวังรัฐทำงานร่วมกับภาคเอกชนประเมินความสมดุลอุตสาหกรรม-สิ่งแวดล้อม

นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวในการเสวนา เรื่องเมืองใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ประชาชนได้อะไร ภายในงานสัมนาหัวข้อ "Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต" จัดโดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ว่าภายหลัง พ.ร.บ. เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำผังเมืองอีอีซีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งคาดว่าผังเมืองอีอีซีจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือน พ.ค. 2562 โดยในระหว่างนี้ในพื้นที่อีอีซียังคงบังคับใช้กฎหมายตามผังเมืองย่อย 15 ผังที่บังคับใช้อยู่ซึ่งผังเมืองเหล่านี้ จะเลิกใช้เมื่อมีการประกาศผังเมืองใหม่ของอีอีซี สำหรับการจัดทำผังเมืองอีอีซีขณะนี้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดจะขึ้นซึ่งนอกจากพื้นที่อุตสาหกรรมที่จะขยายเพิ่ม จากเดิมซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.5 แสนไร่ ตามอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ยังต้องเตรียมพื้นที่รองรับการเกิดขึ้น ของเมืองใหม่

พื้นที่บางเมืองจะเกิดขึ้นหลังจากนโยบาย ของภาครัฐ เช่น เมืองการบิน (aviation city) เกิดขึ้นจากการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาพื้นที่ด้านนอกของบริเวณ ท่าเรือจุกเสม็ด เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ที่จะเติบโตมากขึ้น ซึ่งการเกิดขึ้นของเมืองใหม่ จะต้องคำนึงถึงการจัดรูปที่ดิน การพัฒนาเมือง ในลักษณะสมาร์ทซิตี้ ซึ่งต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลเพื่อให้ผังเมือง อีอีซีมีความสมบูรณ์ที่สุด

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าอีอีซีเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลซึ่งเมื่อมีการลงทุนแล้วจะทำให้พื้นเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น โรงไฟฟ้าที่ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม  นอกจากนั้นมีการหารือกันถึงการหาแหล่งน้ำจืดซึ่งนอกจากแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติเพื่อจะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้มีการหารือกับประเทศที่มีความรู้ เรื่องการนำน้ำทะเลมากลั่นเป็นน้ำจืด คือ ประเทศอิสราเอล ซึ่งได้ข้อมูลว่าปัจจุบันเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลลดลงเหลือเพียง 15-16 บาทต่อ 1 คิว (1,000 ลิตร) ถือว่าเป็นต้นทุนที่พอรับได้ของ ภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้การเกิดขึ้นของโครงการอีอีซียังส่งผลต่อเรื่องของคุณภาพ การศึกษาในพื้นที่ โดยปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลกที่ตกลงมาเปิดสถานศึกษาในพื้นที่อีอีซี โดยมีโครงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญในพื้นที่ ทั้งโครงการอีอีซีดี และโครงการอีอีซีไอ ซึ่งจะช่วยยกระดับการศึกษาและพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในอีอีซีเมื่อมีการลงทุนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นก็มีบางฝ่ายที่กังวลเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม ก็มั่นใจได้ว่าด้วยมาตรฐานของอุตสาหกรรมในปัจจุบันและการกำกับจากภาครัฐจะมีทั้งหน่วยงานและองค์กรจากทุกภาคส่วนเข้ามาดูและและช่วยเฝ้าระวัง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการลงทุนในอีอีซีคือการทำหน้าที่ร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการทำความเข้าใจชุมชนรอบพื้นที่อีอีซีเกี่ยวกับความต้องการเติบโตของอุตสาหกรรมและความยั่งยืนของชุมชน

เพราะในอดีตมีบทเรียนมาแล้วว่า ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการสร้างการเติบโต เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ชุมชนในพื้นที่บอกว่าไม่ต้องการการลงทุนเพิ่มแล้วคือมีความต้องการ ไม่เท่ากันทั้งสองฝ่ายก็ส่งผลให้โครงการลงทุนหยุดชะงักได้

"การสร้างสมดุลในการลงทุน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญจะทำยังไง ให้เติบโตไปด้วยกันได้โดยประชาชนยอมรับ จึงจะเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ