เมกะโปรเจกต์ เชื่อมลงทุนอีอีซี
อนัญญา มูลเพ็ญ
การขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะ 5 โครงการหลักที่รัฐบาลตั้งเป้าให้เปิดประมูลและลงนามเริ่มลงทุนให้ได้ภายในปีนี้ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ- อู่ตะเภา โครงการเพิ่มศักยภาพสนามบิน อู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุด และโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอีอีซีเพื่อเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศนั้นไม่ได้มีเพียง 5 โครงการข้างต้น แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม
"ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" รมช.คมนาคม กล่าวว่า โครงการเชื่อมอีอีซีกับพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลซึ่งประกอบไปด้วยหลายโครงการทั้งทางน้ำ ทางบก และอากาศ ซึ่งในด้านอากาศนั้นเร่งการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพของสนามบินอู่ตะเภาเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน เป็นสนามบินระหว่างประเทศแห่งที่ 3 แบ่งเบาภาระของ 2 สนามบินหลักในกรุงเทพฯ คือสุวรรณภูมิและดอนเมือง ที่ขณะนี้รองรับผู้โดยสารเกินศักยภาพ "จากนั้นจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมอินเตอร์เนชันแนลแอร์พอร์ตทั้ง 3 แห่งเข้าด้วยกัน เชื่อมกรุงเทพฯ กับอีอีซีเป็นเนื้อเดียว ซึ่งโครงการนี้กำลังจะเสนอเข้า ครม. คาดว่าจะประกาศร่างทีโออาร์ต้นเดือน เม.ย. เดือน ก.ค.-ส.ค.ได้ผู้จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้าง โดยจะมีการมอบแอร์พอร์ตลิงค์ให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ด้วย" ไพรินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังมีแผนจะพัฒนามอเตอร์เวย์เชื่อมอีอีซีกับกรุงเทพฯ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่ 1 เส้นทางอยู่แล้ว เส้นทางหมายเลข 7 ที่จะมีการพัฒนาต่อจากพัทยา-บ้านฉางมาบตาพุด ส่วนที่จะทำเพิ่มนั้นจะเป็นส่วนต่อเนื่องจากโครงการที่มีอยู่แล้วคือ ทางด่วนบูรพาวิถี โดยมอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยลงทุนช่วงจากท่าเรือกรุงเทพขึ้นไปยังทางด่วนบูรพาวิถี จากนั้นกระทรวงจะดำเนินการก่อสร้างต่อขยายจากจุดสิ้นสุดที่หน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะ ยกระดับเป็นระยะทาง 5 กม.ไปเชื่อมกับบายพาสชลบุรี ซึ่งการลงทุนส่วนนี้จะทำให้มี
มอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับอีอีซี มี 2 เส้นทาง
ทั้งนี้ จะมีการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายใหม่หมายเลข 61 เส้นทางแหลมฉบัง-นครราชสีมา ระยะทาง 288 กม. ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด โดยเส้นนี้จะทำให้การขนส่งสินค้าจากทางภาคอีสานสามารถลงมาใช้ท่าเรือแหลมฉบังได้สะดวกขึ้น และยังมีมอเตอร์เวย์หมายเลข 72 เส้นทางชลบุรี-ตราด ระยะทาง 216 กม.
"การพัฒนาอีอีซีจะไม่ได้เชื่อมแต่กับเฉพาะกรุงเทพฯ แต่โครงการลงทุนต่างๆ เชื่อมกับทั้งภาคอีสาน ภาคตะวันออกทั้งหมดมีมอเตอร์เวย์เชื่อมไปยังปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ภาพการพัฒนาเปลี่ยนไปจากอดีตที่เราเห็นว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาคือคนที่อยู่ติดทะเล แต่เราจะพัฒนาโดยโครงการต่างๆ ด้านคมนาคมโดยเปิดพื้นที่ฉะเชิงเทราด้านใน ชลบุรีด้านเหนือ ระยองด้านเหนือให้เป็นพื้นที่สำหรับการลงทุนและเมื่อมอเตอร์เวย์เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรีก่อสร้างเสร็จการขนส่งสินค้าจากเมียนมาผ่านไทยไปกัมพูชาและออกไปยังโฮจิมินห์ได้" ไพรินทร์ กล่าว
สำหรับมูลค่าการลงทุนโครงการสำคัญในอีอีซีระยะ 5 ปี มีวงเงินประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2 แสนล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ มาบตาพุด-แหลมฉบัง-สัตหีบ วงเงินลงทุน 6.43 หมื่นล้านบาท พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์ วงเงิน 2 แสนล้านบาท พัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงิน 1.11 หมื่นล้านบาท พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และพัฒนา มอเตอร์เวย์วงเงิน 3.53 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะทำสัญญากับเอกชนได้ในปีนี้ไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านบาท