ลุย อีอีซี-โครงสร้างพื้นฐาน เทียบชั้น ญี่ปุ่น-จีน อัดแพ็คเกจดึง เกาหลี ลงทุน
"สมคิด"เตรียมฟื้นกลไก ผนึกเศรษฐกิจไทย-เกาหลีใต้รอบ 2 สั่งบีโอไอ ทำนโยบายเฉพาะหนุนลงทุนไทย-อีอีซี พัฒนา เมืองใหม่ โครงสร้างพื้นฐาน ด้าน"ล็อตเต้"สนลงทุน ปิโตรเคมี-ดิวตี้ฟรีสนามบิน สอบถามนโยบาย ถือหุ้นข้างมาก ขอขยายเวลาใบอนุญาตทำงาน
ประเทศไทยมีความพยายามที่จะดึงการลงทุน จากเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาเกาหลีใต้ เลือกลงทุนในประเทศอื่นมากกว่า โดยเฉพาะเวียดนามที่เป็นแหล่งลงทุนสำคัญของเกาหลีในอาเซียน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษภายในงานสัมมนา "KoreaThailand 60 anniversary of diplomatic relations : Maekyung Thailand Forum" จัดโดย เมคยอง มีเดีย กรุ๊ป ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีนักลงทุนและนักธุรกิจชาวเกาหลีใต้เข้า ร่วมฟังกว่า 170 คนว่า ไทยและเกาหลีใต้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจมานานและมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายด้าน โดยมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศในปัจจุบันอยู่ระดับไม่สูงนัก โดยเกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 15 ของเกาหลีใต้ ในด้านการลงทุนปี 2560 อยู่ในระดับ 3,000 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนอยู่อันดับ 12 และนักท่องเที่ยว จากเกาหลีใต้มาท่องเที่ยวไทยในปีที่ผ่านมา 1.7 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 3 ซึ่งการลงทุนในไทย ถือว่าน้อยเกินไป หากเทียบกับความ เชี่ยวชาญและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ ที่สอดรับกับความต้องการ ของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ ยกระดับสู่ไทยแลนด์ 4.0
ทั้งนี้ ได้หารือกับเอกอัคราชทูตไทยประจำเกาหลีใต้และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ให้จัดประชุมความ ร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-เกาหลี (KOTCOM) ครั้งที่ 2 หลังจาก 2 ปีก่อนเคยประชุมไป
โดยตนจะเดินทางไปร่วมเป็นประธานการประชุมที่เกาหลีใต้ภายในปีนี้ เพื่อหารือกันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และเชิญชวนนักลงทุนเกาหลีใต้มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
จัดแพ็คเกจลงทุนเฉพาะเกาหลี
นายสมคิด กล่าวว่า สั่งการให้บีโอไอไปจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนเกาหลีใต้หรือ เป็นนโยบายแบบเทย์เลอร์เมดคือออกแบบให้โดยเฉพาะเพื่อให้เกิดการลงทุนในไทยได้จริง ซึ่งเกาหลีใต้ใช้ไทยเป็นฐานขยายฐานธุรกิจ เข้าสู่ภูมิภาคใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งโอกาสที่ดีที่สุด ที่จะร่วมมือกันและเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ปัจจุบันเป็นจังหวะเหมาะสมสำหรับภาคธุรกิจไทยและเกาหลีใต้ ที่จะเชื่อมโยงความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เพราะไทยมีความสงบสุข การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศกำลังก้าวไปสู่การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในต้นปี 2562
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ก็มีแนวโน้มที่แจ่มใส และไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการลงทุนของซีแอลเอ็มวีที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น รวมทั้งไทยกำลังจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโครงการสำคัญในระบบราง ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลอีกหลายสาย ซึ่งจะทำให้เกิด เมืองใหม่และการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยากเชิญชวนบริษัทเกาหลีใต้ที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในไทยซึ่งจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตนมองว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะ เข้าสู่ช่วงเวลาที่ดี
"เกาหลีใต้ได้ผ่านประสบการณ์การปฏิรูปและพัฒนาจากประเทศยากจนสู่ ความเป็นเกาหลีใต้ที่น่าภูมิใจและทันสมัย ถือเป็นความน่าภูมิใจของชาวเอเชีย ซึ่งความเชี่ยวชาญของเกาหลีใต้นั้นจะช่วยปฏิรูป เศรษฐกิจของไทย แต่ที่ผ่านมาเกาหลีใต้ มาลงทุนในไทยน้อย เพราะอาจจะมองว่าเราลำเอียงไปส่งเสริมญี่ปุ่นมากจนเกินไป แต่ไทยต้อนรับนักลงทุนทุกประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนเกาหลีใต้ต้องการให้มาลงทุนมาก เนื่องจากมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยกระดับเศรษฐกิจและผู้ประกอบการ ของไทยได้"
ชวนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยกำลังปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งไทยใช้เกาหลีใต้เป็นโมเดลหลายอย่าง ทั้งการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เขาให้ความสำคัญ การปฏิรูปกฎหมายที่เกาหลีใต้มี ความสำเร็จในการจัดทำการปฏิรูปกฎหมาย โดยปรับลดกฎหมายที่ไม่สำคัญไปเป็น จำนวนมากและปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ อีกส่วนคือการเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากในรัฐบาลนี้ ทั้งในและนอกพื้นที่อีอีซี โดยการลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานทั้งหมดจะใช้วงเงินลงทุนรวมกว่า 7-8 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงต้องการเชิญชวนนักลงทุนชาวเกาหลีใต้ที่มีความเชี่ยวชาญ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมาประมูลแข่งขันในโครงการที่สำคัญเพื่อสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น
"ไทยเป็นเกตเวย์ของซีแอลเอ็มวีที่มีประชากร 250 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 6-7% และจะเติบโต ในระดับนี้ต่อเนื่องไปอีก 15 ปี และไทยยังอยู่ ในพื้นที่เชื่อมเส้นทางคมนาคมกับจีน บังกลาเทศ เวียดนามและอินเดีย ถือว่ามีศักยภาพมาก ซึ่งรัฐบาลจะให้ความมั่นใจว่านักลงทุนเกาหลีมาลงทุนจะขายสินค้าได้ทั้งภูมิภาค"
"ล็อตเต้"สนลงทุนปิโตรเคมี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในระหว่างการพูดคุยระหว่างนายสมคิด กับผู้แทนนักลงทุนเกาหลีใต้ที่มาร่วมงานในช่วงเช้าของวันที่ 17 พ.ค.นักธุรกิจเกาหลีใต้สอบถามเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในไทยหลายข้อ เช่น ตัวแทนบริษัทล็อตเต้ สอบถามเกี่ยวกับการลงทุนปิโตรเคมีในไทย
โดยล็อตเต้ระบุว่าบริษัทมีโครงการลงทุนปิโตรเคมีในอินโดนิเซียมูลค่ากว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ และลงทุนในสหรัฐ 3,000 ล้านดอลลาร์ โดยสนใจจะมาลงทุนในไทยเช่นกัน แต่ขณะนี้ ไทยมีบริษัทปิโตรเคมีขนาดใหญ่อยู่แล้ว จึงต้องการทราบนโยบายว่ายังสนับสนุนหรือไม่ ซึ่งนายสมคิดบอกว่าไทยสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพราะเป็นต้นทางของหลายธุรกิจ ซึ่งเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนทั้งในการลงทุนเองหรือการร่วมลงทุน
นอกจากนั้นบริษัทล็อตเต้ได้แจ้งความประสงค์ว่าอยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้บริษัทมี ร้านค้าปลอดภาษีที่สนามบิน ซึ่งในประเด็นนี้รองนายกรัฐมนตรีไม่ได้ตอบคำถามแต่อย่างไร
สำหรับประเด็นอื่นที่นักธุรกิจเกาหลีใต้ขอให้รัฐบาลพิจารณา ได้แก่ การขยายอายุ ใบอนุญาตการทำงาน จากเดิมที่ต้องต่ออายุทุกปี ให้ขยายอายุการทำงานมากขึ้น รวมถึง การถือหุ้นในธุรกิจที่มีการลงทุนในไทยมากกว่า 49% และแนวโน้มของการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่นักลงทุนเกาหลีใต้มองว่ายังมีสัดส่วนที่น้อยเพียง 30% ซึ่งน้อยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ซึ่งนายสมคิดระบุว่ามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา
บีโอไอหนุนลงทุนไทย
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า การถือหุ้นในกิจการที่มีการลงทุนในไทยนั้นสำหรับกิจการที่ขอส่งเสริมการลงทุนจะถือหุ้นในสัดส่วนข้างมากได้ทุกอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการซึ่งสามารถ ถือหุ้นได้ทั้ง 100% ยกเว้นกิจการบางประเภทที่สงวนไว้ เช่น กิจการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร เหมืองแร่
ส่วนการขออนุญาตทำงานและเอกสารการทำงานนั้นได้ตั้งศูนย์เบ็ดเสร็จเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนอยู่แล้ว โดยออกใบอนุญาตให้ได้ภายใน 3 ชั่วโมง ในขณะที่การขยายระยะเวลาใบอนุญาตทำงานต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากก่อนหน้านี้ขยายระยะเวลาวีซ่าออกไปเป็นสูงสุด 4 ปี
รายงานข่าวจากบีโอไอระบุว่า ปี 2560 มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 31 โครงการ เงินลงทุน 6,175 ล้านบาท เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ และชิ้นส่วนเครื่องจักร และธุรกิจบริการ ในขณะที่ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 6 โครงการ เงินลงทุน 482 ล้านบาท อาทิ เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ รองมาเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง