เปิดพิกัดเมืองใหม่ รอบสถานีไฮสปีด
ปั้นทีโอดีแรกสถานีศรีราชา
ขาใหญ่-นายหน้าวิ่งฝุ่นตลบ จุฬาฯชี้พิกัดตั้งสถานีไฮสปีดแปดริ้วแห่งใหม่อยู่เขตอำเภอเมือง ห่างสถานีเดิม 4 กม. มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมปักธงวางผังเมืองอัจฉริยะ
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อีอีซี ที่เปิดเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 นี้ แนวเส้นทางจากอู่ตะเภาถึงดอนเมือง มี 9 สถานีหลัก จำนวนนี้มีสถานีเกิดใหม่ 2 สถานี คือ อู่ตะเภา กับฉะเชิงเทรา ขณะที่อีก 7 สถานีสร้างคร่อมพื้นที่สถานีเดิมพร้อมปรับใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างให้เป็นเมืองใหม่ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่
ชี้พิกัดสถานีแปดริ้ว
นายพนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษาวางผังเมืองอีอีซี เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การพัฒนาเมืองใหม่อีอีซีมีประมาณ 3-4 แห่ง ตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง สำหรับสถานีฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟเดิม ซึ่งอยู่เขตอำเภอเมือง มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 4 กิโลเมตร หากได้ข้อสรุปทางจุฬาฯจะเข้าไปวางผังพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อไป
เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงต้องใช้เขตทางกว้าง 1,200 เมตร ต่างจากรถไฟธรรมดาใช้วงรัศมีเพียง 400 เมตร แต่ปัจจุบันยังไม่สรุป แต่ สถานีจะไม่อยู่ที่เก่า เนื่องจากมีความแออัดอยู่ในย่านชุมชนและติดกับบริษัทขนส่ง สำหรับสถานีพื้นที่ ด้านหน้ากว้างประมาณ 50-60 เมตร ความยาวประมาณ 200 เมตร แต่ต้อง มีพื้นที่พัฒนารอบสถานีเกิดขึ้นแน่ นอน เพื่อเป็นรายได้ชดเชยให้กับร.ฟ.ท.
"การปักหมุดสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีฉะเชิงเทรา ยอมรับว่ามีการวิ่งซื้อที่ดินดัก กระจายทั่วไป แต่หากไม่สร้างสถานีบริเวณที่ซื้อที่ดินก็ต้องทำใจ"
นายพนิต ย้ำว่า เมืองใหม่แปดริ้ว จะอยู่บริเวณรอยต่อของกทม. เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีสำหรับแรงงานด้านมีทักษะสูง ที่สามารถแบกรับค่ารถไฟความเร็วสูง ไม่ว่าจะมากทม.หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด
ขณะที่เมืองใหม่ชลบุรี อยู่บริเวณสัตหีบ หรือทางตอนใต้ของพัทยา เมืองใหม่ระยองอยู่ทางด้านเหนืออำเภอเมืองระยองขณะที่ ศรีราชา บริเวณที่รถไฟความเร็วสูงจอดจะเป็นทีโอดีซึ่งเป็นพื้นที่แรก ที่ร.ฟ.ท. จะพัฒนารอบสถานี มีที่ดิน 25 ไร่ โดยไม่ต้องเวนคืนขณะเดียวกันก็มีแลนด์แบงก์ของนิคมอุตสาหกรรม 31 แห่ง ล่าสุดประกาศเขตนิคม 21 แห่ง ซึ่งจะแบ่งนักลงทุน ในทางลับอย่างชัดเจนคือ ญี่ปุ่นจะลงทุนในนิคมอมตะซึ่งมีอยู่ 13-14 เฟส ขณะที่จีนจะลงทุนของซีพี ซึ่งซีพี ทยอยเก็บที่ดินไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่ ในจังหวัดระยอง ซึ่งขณะนี้ได้ขอเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเกษตรกรรมเป็นสีม่วงทั้งหมดแล้ว
หดสมาร์ทซิตีเหลือ 80 ไร่
นายจอมพงษ์ ชูทับทิม เลขาธิการหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า คณะกรรมการอีอีซีจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้พิจารณาปรับพื้นที่ทีโอดี รอบสถานีฉะเชิงเทรา ว่า จะหดพื้นที่ลงเหลือ 80-100 ไร่ ซึ่งเปรียบเสมือนไข่แดง แต่อยู่ติดกับสถานี เนื่องจากเป็นสมาร์ทซิตี จึงใช้พื้นที่ไม่มาก เช่นธรรมศาสตร์รังสิต เอแบคบางนา แต่ใส่สิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปขณะที่พื้นที่วงรอบๆ จะเหมือนไข่ขาวซึ่งเอกชนจะทำหน้าที่พัฒนาต่อไป อย่างไรก็ดีที่ดินในแปดริ้วอยู่ในมือนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งนักการเมือง ระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มซีพี ค่ายเบียร์ช้าง ค่ายบุญรอด กลุ่มดั๊บเบิ้ลเอ บริษัทจัดสรรรายใหญ่อาทิค่ายเอสซีแอสเสท เป็นต้น
ร.ฟ.ท.เร่งเต็มสูบ
แหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา-ดอนเมือง ในพื้นที่กรุงเทพ มหานครเริ่มจากสนามบินดอนเมืองนั้นจะใช้พื้นที่ของสถานีรถไฟปัจจุบัน พร้อมแบ่งเขตทางและปรับชานชาลาให้กว้างขึ้น
ส่วนที่เด่นชัดจะเริ่มจากสนามบินสุวรรณภูมิ จะก่อสร้างเส้นทางเชื่อมเข้ากับสนามบินสุวรรณภูมิอีก 1 แนว ซึ่งมาจากสนามบินอู่ตะเภา เช่นเดียวกับการก่อสร้างแนวเส้นทางเชื่อมเข้าไปยังศูนย์ซ่อมบำรุงที่อยู่ก่อนถึงสถานีฉะเชิงเทราราว 800 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งจุดดังกล่าวจะเป็นจุดแยกที่มีแนวเส้นทางไปยังแก่งคอยได้ ซึ่งจุดศูนย์ซ่อมบำรุงจะมีทางเข้าออกชัดเจนใกล้กับแนวเส้นทางหลักประมาณ 100 เมตร
"บางส่วนอาจจะต้องก่อสร้างไปพร้อมกับโครงการรถไฟสายสีแดงในเขตเมือง แต่ส่วนใหญ่จะใช้สถานีปัจจุบันแทบทั้งหมด ยกเว้นสถานีอู่ตะเภาที่จะเป็นสถานีใหม่และใช้แนวเส้นทางใหม่ บางสถานีจะสร้างคร่อมสถานีปัจจุบันเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ บางสถานีอาจจะสร้างก่อนเข้าสู่หรือหลังพ้นสถานีแต่ไม่ควรจะห่างกับสถานีเดิมมากจนเกินไปเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่ออย่างสะดวก โดยจะมีการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดยาวประมาณ 300 เมตรช่วงสถานีพัทยา-อู่ตะเภาสำหรับรถไฟเส้นทางนี้อีกด้วย"
ในส่วนพื้นที่การพัฒนาเมืองใหม่นั้นเป็นหน้าที่ของกรมโยธาธิการและผังเมืองไปกำหนดจุดเบื้องต้นนั้นทราบว่าอยู่ในโซนสถานีฉะเชิงเทราและอู่ตะเภาบางส่วน เช่นเดียวกับสถานีศรีราชาที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 25 ไร่จากพื้นที่ทั้งหมด 100 ไร่พร้อมกับสถานีมักกะสันนั้น ล่าสุดทราบว่าอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการอีอีซีพิจารณาซึ่งหากเอกชนรายใดชนะการประมูลก็จะต้องประชุมร่วมกันในรายละเอียดการพัฒนาแต่ละพื้นที่ต่อไป