ทุนญี่ปุ่นบุกอีอีซี ผลิตหุ่นยนต์- เรียวกิ ทูล ผุดศูนย์ซ่อม
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยผลการเดินทางเข้าร่วมประชุมประจำปีอินเตอร์เนชั่นแนล คอนเฟอเรนซ์ ออน เดอะ ฟิวเจอร์ ออฟ เอเชีย : นิกเคอิ ฟอรั่ม ครั้งที่ 24 ที่ประเทศญี่ปุ่น ว่า นายยาซูฮิโร่ ฮาระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)บริษัท เรียวกิ ทูล (Ryoki Tool) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น สนใจมาลงทุนจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภาคพื้นเอเชีย (เอ็มอาร์โอ) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเร็วๆ นี้จะเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุน
ขณะที่ บริษัท นาชิ ฟูจิโกชิ คอร์ปอเรชั่น ผู้จำหน่ายแขนกลหุ่นยนต์อันดับ 2 ในไทย และอันดับ 4 ของโลก ก็สนใจเข้ามาลงทุนในสายการผลิตแขนกลหุ่นยนต์ในไทยด้วยเพราะนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ยังได้พบกับนายทาเคชิ อูชิยามาดะ ประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะประธานสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือเจเทค (JTEC:JapanThailand- Economic Cooperation Society) ซึ่งแสดงความพร้อมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สามารถเข้าถึง และเข้าใจการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็น เช่น ด้านออกแบบและบูรณาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยตั้งเป้าพัฒนาบุคลากร 1,400 รายภายใน 3 ปี
"การเดินทางไปญี่ปุ่นเป็นการต่อยอดและขยายผลความร่วมมือให้มีความใกล้ชิดและร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ อินดัสทรี 4.0 และสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนที่ยืนยันจะร่วมมือกับ หน่วยงานไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิด การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม" นายอุตตมกล่าว
นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงร่วมกันที่จะตั้งกลุ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) สมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทค) และองค์การส่งเสริมการค้า ต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ กับกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคม ส่งเสริมเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น (สสท.) จะเร่งจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้แล้วเสร็จมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์นี้
นายอุตตมกล่าวว่า ขณะนี้ นักลงทุนต่างชาติไม่ได้มีความเป็นห่วงการเลือกตั้งที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้า เพราะการเลือกตั้งไม่มีผลกระทบต่อการลงทุน ทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะการลงทุนในอีอีซีที่มีกฎหมายรองรับชัดเจน ช่วยให้การดำเนินนโยบายมีความต่อเนื่อง ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลไหนที่จะได้รับการ เลือกตั้งเข้ามาก็ตาม ก็สามารถทำงานตามกรอบนี้ได้ทั้งหมด