ดันไทย ฮับ ดาต้าเซ็นเตอร์
ดับบลิวเอถก"ซุปเปอร์แนป" ขยายลงทุนศูนย์ดาต้าอีอีซี
"ดับบลิวเอ" วางแผนธุรกิจ รับการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ร่วมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางดาต้า เซ็นเตอร์แทนสิงคโปร์ หารือรัฐด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนและโครงสร้างพื้นฐาน
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะขยายตัว มากขึ้นนับจากนี้ หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญมีความคืบหน้าและออกทีโออาร์แล้ว คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา)
นางสาวจรีพร กล่าวว่า แผนพัฒนาอีอีซี มีความชัดเจนมากขึ้นเพราะการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นแนวทางสำคัญในการกำหนดแผนพัฒนา การขับเคลื่อนการพัฒนาและการกำหนดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศ ชัดเจนที่จะประมูลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 โครงการให้ได้ภายในปีนี้ คือ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เริ่มขาย ซองประมูลในวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3.โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด (เฟส 3) 4.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (เฟส 3) 5.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา
รับลงทุนครบ 10 อุตฯเป้าหมาย
ทั้งนี้ หากภาครัฐดำเนินการได้ตามแผนงานที่วางไว้จะสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนให้กับภาคเอกชน โดยที่ผ่านมาอาจจะต้องใช้เวลาในการอนุมัติโครงการและงบประมาณ แต่โครงการดังกล่าวใช้วิธีการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน หรือ พีพีพี ฟาสต์แทรค ที่ลดระยะเวลาการอนุมัติโครงการลง
สำหรับดับบลิวเอชเอมีแผนที่จะ ขับเคลื่อนธุรกิจใน 4 กลุ่มทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ คือ 1.ธุรกิจโลจิสติกส์ 2.ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม 3.ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และ 4.ธุรกิจดิจิทัล ซึ่งสามารถ เชื่อมโยงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้ โดยในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม มีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี 9 แห่ง จากทั้งหมด 10 แห่ง โดยมีพื้นที่รวมทั้งหมด 46,434 ไร่
นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริม และนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายครบทั้ง 10 กลุ่ม คือ 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแปรรูปอาหาร 6.หุ่นยนต์7.การบินและ โลจิสติกส์ 8.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.ดิจิทัล 10.การแพทย์และสุขภาพครบวงจร
นางสาวจรีพร กล่าวว่า ส่วนในธุรกิจดิจิทัล ได้วางแผนที่จะให้บริการแบบครบวงจรแก่ ผู้พัฒนาและผู้จัดหาศูนย์ข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) โดยดับบลิวเอชเอร่วมมือทางธุรกิจกับหุ้นส่วน ด้วยการช่วยออกแบบ เพื่อให้บริการที่ครอบคลุม ด้วยการติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสงใน นิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจในท้องถิ่น รวมทั้ง เป็นส่วนหนึ่งในการริเริ่มของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมธุรกิจดิจิทัล ซึ่งในธุรกิจดิจิทัลนี้ ให้ผลกำไรไม่มากแต่ช่วยสนับสนุนการลงทุน ในพื้นที่
ไทยพร้อมเป็นฮับดาต้า เซ็นเตอร์
ทั้งนี้ บริษัท ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบริษัท ซุปเปอร์แนป อินเตอร์เนชั่นแนล จากสหรัฐ ได้ลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่มูลค่า 11,000 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอชลบุรี 2 บนพื้นที่ 70 ไร่ โดยดาต้าเซ็นเตอร์แห่งนี้จะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นางสาวจรีพร กล่าวว่า ปัจจุบันดาต้าเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ และขณะนี้ ผู้ประกอบการดาต้าเซ็นเตอร์กำลังมองไทยเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์แทนสิงคโปร์ โดยขณะนี้กำลังหารือกับนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ว่าจะมี การสนับสนุนการลงทุนอย่างไรเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางดาต้า เซ็นเตอร์แทนสิงคโปร์ "กำลังหารือกับซุปเปอร์แนปว่าต้องการโครงสร้างพื้นฐานอะไรเพื่อรองรับการลงทุนเพิ่ม รวมทั้งกำลังพิจารณากฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ในประเด็นการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งดับบลิวเอชเอส่งต่อเรื่องนี้ให้กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) พิจารณาในประเด็นสิทธิประโยชน์การลงทุน โครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับความมั่นคงทางไซเบอร์หรือการลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์" นางสาวจรีพร กล่าว สำหรับการทำธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์จะมี 4 ระดับ คือ เทียร์ 1 ดาต้า เซ็นเตอร์ที่มี องค์ประกอบของงานระบบในระดับพื้นฐาน, เทียร์ 2 ดาต้า เซ็นเตอร์ที่มีอุปกรณ์ชุดสำรองในระบบที่สำคัญ, เทียร์ 3 ดาต้า เซ็นเตอร์ที่ยัง ทำงานได้ในขณะที่มีการซ่อมบำรุง และเทียร์ 4 ดาต้า เซ็นเตอร์ที่ยังทำงานได้ในขณะที่มีปัญหา ข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งเหมาะสมกับธุรกิจที่ต้องการใช้ความมั่นคงทางข้อมูลในระดับสูง เช่น ธนาคาร และดาต้า เซ็นเตอร์ของบริษัท ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ในระดับ เทียร์ 4 ที่จะต้องไม่มีข้อผิดพลาดในการเก็บและใช้ข้อมูล
แนะผลิตคนป้อนอุตฯเป้าหมาย
นางสาวจรีพร กล่าวว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายจะใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น รวมทั้งการลงทุนในบางอุตสาหกรรมจะต้อง มีการพัฒนาร่วมกัน เช่น หุ่นยนต์ ดิจิทัล และ การลงทุนดังกล่าวจะนำมาสู่การ่พัฒนา บิ๊กดาต้า ซึ่งจะทำให้มีความสามารถในการ ประมวลผลข้อมูลและทำให้ทราบว่าประเทศต้องการอะไร โดยขณะนี้มีการนำบิ๊กดาต้ามาใช้ ทั้งในภาคธุรกิจและการกำหนดนโยบายรัฐ มากขึ้น
นอกจากนี้การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม จะต้องเชื่อมกับ ระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลากรรองรับความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี เนื่องจากอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องการใช้แรงงานที่เป็นทักษะใหม่และต้องการระดับเชี่ยวชาญมากขึ้น โดยผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่ต้องการแรงงานระดับปริญญาตรี แต่ต้องการแรงงานช่างฝีมือ หรือระดับอาชีวศึกษามากกว่า
ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการบินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอรับพนักงานระดับ ปวช. โดยได้นำพนักงานกลุ่มนี้ไปฝึกอบรมและเมื่ออบรมเสร็จได้เงินเดือนที่ 80,000 บาท ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับเยอรมนีที่การเรียน ระดับอาชีวศึกษาได้เงินเดือนสูงและ มีการเรียนอาชีวศึกษากันมาก
การลงทุนในอุตสาหกรรมการบิน ในพื้นที่อีอีซีจะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น หลังจากภาครัฐมีนโยบายเมืองการบินและศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อู่ตะเภา ซึ่งโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปมากและกำลัง จะประกาศทีโออาร์ รวมทั้งรัฐบาลได้ดึง การลงทุนกลุ่มนี้เข้ามา โดยการเยือน ฝรั่งเศสของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีการหารือเรื่องการชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมการบินมาที่พื้นที่อู่ตะเภา