'ระยอง' ปรับยุทธศาสตร์รับ EEC 'บ้านฉาง-ปลวกแดง' ที่ดินราคาพุ่ง
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ลงสำรวจพื้นที่จังหวัดระยอง 1 ใน 3 จังหวัดภายใต้นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล พบภาพความเคลื่อนไหว การตื่นตัวของคนในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านการเก็งกำไรราคาที่ดินที่พุ่งขึ้นหลายเท่าตัวในอำเภอหลัก รวมถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องทวงคืนสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีที่ 10 จ.ระยองให้กลับคืนมา หลังรัฐได้ตัดทิ้งไปในการประกาศ TOR เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมทุนในกิจการของรัฐ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2561
บ้านฉาง-ปลวกแดงซื้อขายที่ดินเพิ่ม 20%
นายธีรวัฒน์ สุดสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนเรื่อง EEC ทางจังหวัดได้ป้อนข้อมูลให้ส่วนราชการต่าง ๆ คาดหวังว่า EEC จะเอื้อต่อประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน และการท่องเที่ยวของจังหวัดให้เติบโตขึ้น 5% ภายใน 5 ปี จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน จากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยว 7.1 ล้านคนต่อปี จะเห็นภาพความคึกคักภายในจังหวัดระยองตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 เกิดการตื่นตัวอย่างต่อเนื่อง มีการรายงานตัวเลขปริมาณการซื้อขายที่ดินเพิ่มมากขึ้นถึง 20% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต อ.บ้านฉาง และ อ.ปลวกแดง เนื่องจาก อ.บ้านฉาง อยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภา ได้ถูกวางเป้าหมายพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) ส่วนริมทะเลมีการซื้อขายที่ดินปริมาณมาก รวมทั้ง อ.ปลวกแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งได้ขยายพื้นที่เพิ่มเติม รวมถึงบริเวณมาบตาพุด ที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม และ อ.วังจันทร์ ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีนโยบายพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
"EEC จะเป็นโครงการที่เราต้องมองในทุกมิติ ไม่ใช่มองแต่ภาคอุตสาหกรรม เช่นกรณีอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เกิดตั้งแต่ ปี 2524 ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอีสเทิร์นซีบอร์ด เช่น มลพิษ เราต้องมาตามแก้ไข เพราะฉะนั้นต้องนำบทเรียนจากอีสเทิร์นซีบอร์ดมาดู เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ประชากรอยู่กันยังไง ทำยังไงชุมชนถึงอยู่กับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเอื้อต่อกัน
ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้มีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์ทำหน้าที่ประสานงานกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ กทม.และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบ นอกจากนี้ มีการปรับแผนปรับยุทธศาสตร์ 4 ปี (2561-2564) ใหม่หมด เพื่อจะรองรับ EEC
ซี.พี.-เบียร์ช้าง-ปรีชากรุ๊ปกว้านซื้อที่ดิน
แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ใน จ.ระยอง เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 มีข่าวว่ากลุ่มทุนใหญ่เข้าไปกว้านซื้อที่ดินในระยองหลายพื้นที่ เช่น ปรีชากรุ๊ป สนใจเข้าไปซื้อที่ดินบริเวณตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง หลายแปลง มูลค่าหลายร้อยล้านบาท รวมถึงทุนท้องถิ่นในจังหวัดชลบุรีมีการเข้าไปกว้านซื้อที่ดินใน จ.ระยอง ด้วย ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เช่น คอนโดฯ จากราคาปกติ 1.8 ล้านบาท ปรับเป็น 2.5 ล้านบาท และที่ดินบริเวณริมทะเลปรับขึ้นสูงสุดถึง 20 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวเรื่องทุนใหญ่เข้ามากว้านซื้อที่ดินใน จ.ระยอง เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีนโยบายจะทำโครงการไฮสปีดเทรน เส้นทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา ซึ่งขณะนี้มีแผนในอนาคตจะก่อสร้างถึง จ.ตราด รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ แผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งโครงการมอเตอร์เวย์สายต่าง ๆ ที่มุ่งสู่พื้นที่ภาคตะวันออก ทั้งมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง, มอเตอร์เวย์ หมายเลข 72 สายชลบุรี-ตราด เป็นต้น
เช่น กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในนามซีพีแลนด์ มีที่ดินหลายแปลง เช่น บริเวณใกล้ทะเล และ อ.บ้านค่าย นอกเหนือจากที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. ระยอง 3,068.29 ไร่ ซึ่งครอบคลุม อ.นิคมพัฒนา อ.บ้านค่าย เช่นเดียวกับกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มีที่ดินหลายแปลง ใน อ.นิคมพัฒนา
ทวงคืนทำเลร้อนสถานีที่ 10 ระยอง
ขณะเดียวกันมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องทวงคืนสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีที่ 10 จ.ระยอง กลับคืนมา ถือเป็นอีกประเด็นร้อนแรงเวลานี้ หลังรัฐได้ตัดทิ้งไปในการประกาศ TOR เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมทุนในกิจการของรัฐ เชื่อม 3 สนามบิน สิ้นสุดสถานีสุดท้ายที่อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงินกว่า 2.2 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งมีเสียงสะท้อนว่า มีนายทุนใหญ่ และทุนท้องถิ่นเข้าไปกว้านซื้อที่ดินบริเวณสถานีที่จะลง ซึ่งใกล้เคียงกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ระยอง ในปัจจุบันยังมีพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าวอยู่จำนวนหนึ่ง และการเก็งกำไรที่ดินบริเวณเขตอำเภอเมืองระยองไว้จำนวนมาก
โดย นายนพดล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวระยอง โดยหอการค้าจังหวัดระยอง ชมรมธนาคารจังหวัดระยอง สมาคมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม ตัวแทนภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ สมาคมผู้ประกอบการ ในจังหวัดระยอง และพี่น้องชาวจังหวัดระยองที่รักบ้านเกิด ได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลคืนสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีที่ 10 ที่จะลงในตัวอำเภอเมืองระยองกลับคืนมา โดยขอให้รวมอยู่ในการก่อสร้างในระยะแรก ไม่ต้องการให้สถานีระยองอยู่ในช่วงของการศึกษาในระยะที่สอง (อู่ตะเภา-ระยอง-จันทบุรี-ตราด) ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แจ้งไว้ เพราะการมีรถไฟความเร็วสูงสถานีระยองจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวระยองดีขึ้นในอนาคต และโอกาสในการพัฒนาความเจริญของเมืองระยองทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกสาขาอาชีพจะดีขึ้น
"เดิมที่เข้าใจว่ารถไฟความเร็วสูงมีสถานีมาถึงระยอง แต่ใน TOR หรือหนังสือประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนที่ระบุไว้ว่า สถานีรถไฟความเร็วสูงไม่มาถึงจังหวัดระยอง ทำให้ความเจริญมาไม่ถึง หากนำไปรวมในเฟส 2 ก็ไม่มีผลประโยชน์เรื่องการพัฒนาที่ดิน จูงใจให้เอกชนนำเงินมาลงทุน โอกาสเกิดไม่มี ชาวระยองทุกภาคส่วนจึงรวมตัวกันลงชื่อกว่า 10,000 ชื่อ ส่งหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ส่งต่อไปถึงผู้ใหญ่ในรัฐบาล เพราะหากสถานีระยองไม่เกิดในเฟสที่ 1 การเกิดในเฟสที่ 2 ยากจะเกิดขึ้น ส่วนเรื่องการเก็งกำไรที่ดินเป็นเรื่องปกติของคนทำธุรกิจ ไม่ได้เกี่ยวกับการทวงคืนสถานีระยอง
นางสาวรฎาศิริ ศิริคช ประธานเครือข่ายกลุ่มพ่อแม่ระยองพันธุ์ใหม่ ในฐานะภาคประชาชน เปิดเผยว่า หลังจากรวบรวม 1 หมื่นรายชื่อ ยื่นหนังสือเรียกร้องคืนสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีที่ 10 นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานปฏิบัติการเชิงพื้นที่ EEC สกพอ. ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อพูดคุยและรับฟังภาคประชาชน แต่ทางภาคประชาชนก็ยืนยันว่า ต้องการพูดคุยโดยตรงกับนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. เพื่อรับทราบถึงเหตุผลที่ตัดสถานีที่
10 ในจังหวัดระยองออกไป แต่ปัจจุบันยังไม่มีการตอบรับแต่อย่างใด ซึ่งข้อเรียกร้องของภาคประชาชนมีเพียงข้อเดียว คือให้บรรจุสถานีระยองลงไปในเฟสที่ 1 และต้องกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในสัญญา TOR ด้วย