'ธนินท์'เล็งคว้าไฮสปีดEEC ช.การช่างซุ่มชิงมักกะสัน-ศรีราชา
"ธนินท์ เจียรวนนท์" เปิดใจครั้งแรก ตั้งใจลงทุนโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ยืนยันจับมือ "จีน-ญี่ปุ่น-ยุโรป" ชิงประมูล ชี้ที่ดินเชิงพาณิชย์คือหัวใจ EEC มั่นใจ "ไฮสปีด" สายแรกของไทยแจ้งเกิดแน่ กลุ่ม BSR ยังปึ้ก "บีทีเอส-ซิโนไทย
9น.โรงไฟฟ้าราชบุรี" รอเจรจาสัดส่วนหุ้น ส่วนขั้วที่ 3 ช.การช่างผนึกญี่ปุ่น เผยจีนกันเหนียวจับ 2 ขั้วตัวเต็ง
หลังเปิดซื้อซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 2.2 แสนล้านบาท เริ่มคึกคักและเห็นภาพชัดขึ้น โดยเฉพาะการจับขั้วชิงงานประมูล ระดับชาติ เมื่อนักธุรกิจมหาเศรษฐี อันดับ 1 ของประเทศไทย หรืออันดับที่ 95 ของโลก ออกมาเปิดใจครั้งแรก
เจ้าสัว ซี.พี.เปิดใจ
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P.) ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ โกลเบิลไทม์ส สื่อภาษาอังกฤษของทางการจีน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาระบุว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของประเทศไทย ถือเป็นหัวใจของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่ง ซี.พี.ต้องการจับมือนักลงทุนจีนและญี่ปุ่น ในการเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้
"บริษัทจากจีนและญี่ปุ่นต่างต้องการร่วมเป็นพันธมิตรกับไทย เป้าหมายคือพื้นที่อีอีซี และรองรับตลาดเกิดใหม่ โดยจะพัฒนาและเปลี่ยนผ่านพื้นที่เขตเศรษฐกิจย่านดังกล่าวให้เป็นโครงการร่วมลงทุนจากหลายฝ่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม" นายธนินท์กล่าวและว่า
EEC เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ซึ่งลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานหลายโครงการทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ และสนามบิน จึงต้องการดึงดูดให้ภาคเอกชนร่วมเป็นพันธมิตรในการลงทุน โดยใช้รูปแบบ PPP หรือ Public Private Partnership
ที่ดินคือหัวใจ
"โครงการรถไฟความเร็วสูง คือ หัวใจสำคัญของเขตเศรษฐกิจอีอีซี ที่จะเชื่อม 3 สนามบินเข้าด้วยกัน และมีอีกโครงการที่สำคัญ คือ การได้สิทธิพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์"
ซี.พี.จึงเป็นพันธมิตรกับนักลงทุนจีนเป็นอันดับต้น ๆ โดยร่วมกับ "อิโตชู" บริษัทเทรดดิ้งรายใหญ่ของญี่ปุ่น และเป็นผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่นกว่าหมื่นสาขา
"การลงทุนโครงการนี้ไม่ใช่มีเพียงบริษัทเอกชนไทย แต่เราต้องการให้มีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย อีอีซีจะเป็นโมเดลการพัฒนาร่วม ทั้งทุนท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติ จึงพยายามทำให้พื้นที่นี้ดึงดูดความสนใจจากต่างชาติทั่วโลกให้เข้ามาลงทุน" นายธนินท์ กล่าวและว่า
"ผมต้องการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ร่วมกับบริษัทจีนและญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งจีนและญี่ปุ่นได้นำเสนอเทคโนโลยีด้านรางรถไฟไฮสปีด จากประเทศตัวเอง ทั้ง 2 ประเทศจึงแข่งขันกันหนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการลงทุนโครงการนี้ในอีอีซี การแข่งขันของประเทศทั้งสองก็จะลดลง และมีสปิริตในการร่วมมือกัน"
ผสานเทคโนโลยียุโรป
"รางรถไฟที่เชื่อม 3 สนามบินในทางเทคนิค ควรเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนด้วย และควรจะเชื่อมต่อไปยังรถไฟสายยุโรป เพื่อให้การเชื่อมโยงเป็นในระดับอินเตอร์คอนเน็กชั่น การใช้เทคโนโลยีไม่ควรเป็นเทคโนโลยีที่จำกัดแค่ระบบรางรถไฟไทย หนทางที่ดีที่สุดน่าจะใช้เทคโนโลยีจากยุโรปเข้ามาผสมผสาน สร้างความแข็งแกร่ง ดังนั้น ประเทศจีนอาจต้องปรับเปลี่ยนโปรเจ็กต์เล็กน้อย" นายธนินท์กล่าวและชี้ว่า
ความสำคัญของโครงการไฮสปีด ท้ายที่สุดต้องสามารถเชื่อมกับอินเดียและยุโรปได้ในอนาคต นั่นหมายถึงการเชื่อมโยงคนกว่า 3 พันล้านคนเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
"ปัจจุบันไทยมีโครงการสร้างรถไฟฟ้าหลายโครงการ และผมเชื่อว่ารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน น่าจะเป็นโปรเจ็กต์แรกของรถไฟความเร็วสูงที่จะเห็นเป็นรูปธรรม"
ซื้อซอง 14 ราย
ทีพีไอโผล่รายงานข่าวแจ้งว่า ผลการซื้อซองประมูลวันที่ 18-29 มิ.ย. 2561 สรุปมีผู้ซื้อ 14 ราย ได้แก่ 1.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) 2.บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ซี.พี.) 3.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 4.บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 5.บจ.เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ (เครือ ปตท.) 6.บจ.อิโตชู คอร์ปอเรชั่น 7.บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น 8.บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น 9.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 10.บจ.ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น 11.บมจ.ช.การช่าง 12.บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (รัฐวิสาหกิจจีน) 13.บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และ14.บมจ.ทีพีไอ โพลีน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะปิดซื้อซอง 9 ก.ค. และเปิดยื่นซองประมูล 12 พ.ย.นี้
3 ขั้วชิงดำ
รายงานข่าวคาดว่า ทั้ง 14 รายจะเข้าร่วมประมูลทั้งหมด โดยรวมตัวเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้าไม่เกิน 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม ซี.พี. ร่วมกับอิโตชู ดูเรื่องการพัฒนาที่ดินและรัฐวิสาหกิจจากจีน จะดูเรื่องเงินลงทุนและการผลิตรถ ส่วนระบบจะใช้ "อัลสตรอม" ประเทศฝรั่งเศส
กลุ่มที่ 2 บีทีเอส ยังคงร่วมกับซิโน-ไทย และราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะร่วมกับ ปตท. ยูนิคฯ และซิโนไฮโดรฯ
กลุ่มที่ 3 เดิมคาดว่าจะเป็น ปตท. หากตกลงสัดส่วนร่วมทุนกับบีทีเอส ไม่ได้ คาดว่าจะเป็นกลุ่ม ช.การช่าง และ BEM ที่เจรจากับ ซี.พี.แล้วไม่ลงตัว ทำให้ ช.การช่าง อาจแยกประมูล ส่วนจะจับมือกับใครบ้างยังสรุปไม่ได้ชัด แต่คงไม่ร่วมกับบีทีเอสแน่นอน เพราะเป็น คู่แข่งทางธุรกิจ ส่วนอิตาเลียนไทยฯกำลังเจรจาเข้าร่วมทั้งกลุ่ม ซี.พี. และบีทีเอส
ปิดดีล ซี.พี.ไม่ลงตัว
แหล่งข่าวจาก บมจ.ช.การช่าง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ก่อนหน้านี้ ซี.พี.เคยมาคุยกับ ช.การช่าง เพื่อให้เป็นพันธมิตร แต่ไม่เป็นที่ยุติ ดังนั้น ช.การช่าง และ BEM อาจยื่นประมูลเอง
"ที่น่าสนใจคือมีเรื่องพัฒนาที่ดินมักกะสันและศรีราชา ตอนนี้คุย ๆ กันอยู่ทั้งบริษัทไทยและต่างชาติ ส่วนโตคิวฯ พันธมิตรเดิม ยังไม่ได้คุยกัน"
ส่วนงานระบบมีผู้ผลิตจากยุโรป ญี่ปุ่น และจีน มาเจรจา เช่น อัลสตรอม จากฝรั่งเศส ไชน่าเรลเวย์จากจีน มิตซูบิชิ ฮิตาชิ และอิโตชูจากญี่ปุ่น
บีทีเอสขอถือหุ้นเกิน 25%
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวว่า ขณะนี้การหาพันธมิตรรายอื่นที่จะมาร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ยังไม่ลงตัว โดยเฉพาะ เรื่องสัดส่วนการลงทุน ในเดือน ส.ค.นี้คงมีข้อสรุป แต่บีทีเอสต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 25% แต่ไม่ถึง 75% เนื่องจากมีผู้ร่วมลงทุนหลายราย
ช.การช่าง คือ ขั้วที่ 3
แหล่งข่าวจากสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทั้ง 3 กลุ่มถือว่ามีศักยภาพและจุดแข็งที่ต่างกัน ช.การช่าง แน่นอนว่าจะมากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM บริษัทในเครือ ถือเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์บริหารโครงการรถไฟฟ้า ทั้งเป็นโอเปอเรเตอร์บริหารการเดินรถ รับเหมาและก่อสร้าง ยกเว้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
"มีกระแสว่าจะร่วมกับฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่นจากญี่ปุ่น ซึ่ง ช.การช่าง มีประสบการณ์ทำโปรเจ็กต์ระดับแสนล้านมาแล้วอย่างโครงการเขื่อนไซยะบุรี"
BTS+ปตท.+จีน
สำหรับกลุ่มบีทีเอสเห็นภาพชัดเจนในเรื่องพันธมิตร เป็นกลุ่มมีศักยภาพครบ ทั้งบริการเดินรถ รับเหมาก่อสร้าง และอาจมีพันธมิตรจีนเข้าร่วมด้วย
ล่าสุดบริษัท เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) ของกลุ่ม ปตท.อาจร่วมกับกลุ่มบีทีเอส แต่ต้องเจรจาต่อรองเรื่องสัดส่วนและรายละเอียดต่าง ๆ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มยักษ์ใหญ่ของจีนที่ซื้อเอกสารประกวดราคา 2 บริษัท คือ ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น และไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชั่น คอร์ปอเรชั่น ต่างมีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้า และเป็นรัฐวิสาหกิจจีนทั้งคู่ ซึ่งจะแยกเป็นพันมิตรแต่ละกลุ่ม เพื่อให้มั่นใจว่าที่สุดแล้วไม่ว่าใครชนะประมูล จีนยังได้ร่วมในโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน แต่การมีขั้วที่ 3 เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าจีนจะวางแผนอย่างไร
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ปตท.สนใจโครงการประมูลนี้ล่าสุดให้บริษัทลูกซื้อซองเรียบร้อยแล้ว เพื่อศึกษารายละเอียด ส่วนจะตัดสินใจลงทุนหรือไม่ ต้องให้บริษัทลูกดูก่อน
RATCH ขอถือหุ้นเพิ่ม
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง หรือ RATCH กล่าวว่า กำลังศึกษาเชิงลึกถึงผลตอบแทนการลงทุน (IRR) เพราะโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างจากธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยร่วมกับพันธมิตรเดิม คือ BTS และซิโน-ไทยฯ ขณะนี้กำลังเจรจาเรื่องสัดส่วนการลงทุน เพราะโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง
"เรามีประสบการณ์รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองมาแล้ว เรื่องสัดส่วนถือหุ้นทุกรายอยากได้มากที่สุด"