อบจ.ระยอง ผนึกทุน ใหญ่กทม.
การลงทุนระยองคึก ต่อเนื่อง อบจ.รับไม้ต่อคณะกรรมการ อีอีซี ดึงทุนใหญ่ กทม.ร่วมพัฒนาระบบ ขนส่งมวลชนรูปแบบสมาร์ทบัส ให้บริการเชื่อมพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจรับการเติบโต ของการพัฒนาเมืองและเปิดให้บริการ ไฮสปีดเทรน ดึง RTC บริหารจัดการ ด้านซีซีพีคอนกรีตรุกตลาดวัสดุก่อสร้าง เชื่อมั่นกลุ่มอสังหาฯในพื้นที่อีอีซี มี แนวโน้มสดใส
การตื่นตัวรับของการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เริ่มชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะพื้นที่ระยองว่าด้วยการพัฒนาระบบเชื่อมโยง ทางเศรษฐกิจของจังหวัดให้สอดรับกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน) ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการเปิดประมูลหาผู้ร่วมลงทุนในเส้นทางที่มีมูลค่าสูงถึงสองแสนล้านบาท
แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิทโคเปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) ยอมรับขณะนี้จังหวัดระยองมีความคึกคักด้านการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรองมากขึ้น เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง(อบจ.) รับแผนการพัฒนาจากคณะกรรมการอีอีซี ที่มีแผนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงถึงจังหวัดระยอง ซึ่ง อบจ.ระยองจะพัฒนาขนส่งมวลชน ระบบรองรูปแบบสมาร์ทบัสขึ้นมารองรับเพื่อเป็นฟีดเดอร์ ป้อนผู้โดยสารให้กับรถไฟ ความเร็วสูงดังกล่าวก่อนที่จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาในอนาคตต่อไป
นอกจากนั้น ยังจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยง ศูนย์เศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ตัวเมืองระยองที่อบจ.ระยองมีแผนเร่งขับเคลื่อนให้สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งศูนย์เศรษฐกิจเก่า และศูนย์เศรษฐกิจใหม่โดยใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็น รูปธรรมโดยเร็วต่อไป
สำหรับรูปแบบ อบจ.ระยองพร้อมที่จะเป็นผู้บริหารจัดการโครงการดังกล่าวนี้เอง โดยจะว่าจ้างให้ RTC รับเดินรถและบริหารเส้นทางดังกล่าวพร้อมจัดหารถเมล์ รูปแบบทันสมัย มาให้บริการตามแนว เส้นทางที่ได้ศึกษารองรับไว้แล้ว ซึ่งเป็น เส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่ทางเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง ตลอดจนพื้นที่สำคัญๆ ต่างๆ อาทิ แหล่งท่องเที่ยว ศูนย์ราชการ ที่ล้วน ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ของรัฐบาลทั้งสิ้น
"ต้องวางแผนดำเนินการตั้งแต่วันนี้ เรายังปรับเส้นทางเดินรถสองแถว รถตู้บริการสาธารณะให้บริการประชาชนได้อย่างสอดคล้องกับการเติบโตของเมือง ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย โดย ในอนาคตมีแผนพัฒนาเป็นรถไฟฟ้ารางเบา ให้บริการ หากรถสมาร์ทบัสมีความจุเต็มพิกัด ให้บริการแล้ว"
อาร์ทีซีขยายเดินรถสมาร์ทบัส
นอกจากจะเร่งผลักดันโครงการเดินรถขนส่งมวลชนในจังหวัดระยองแล้ว ยังพร้อมขับเคลื่อนให้กับจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่อีอีซี และนอกพื้นที่ภาคตะวันออก โดย RTC จะเข้าไปเร่งดำเนินการเดินรถสมาร์ทบัสให้กับจ.สมุทรสาคร และนนทบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานร่วมกัน โดยจะเข้าไปบริหารจัดการโครงการให้เกิดประสิทธิภาพพร้อมกับการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจในพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย
"เบื้องต้นจ.อุดรธานียังจัดหา รถดำเนินการเอง จำนวน 10 คัน คาดว่าจะเปิดเส้นทางนำร่องเดือน พ.ย.นี้ และต้นปีหน้าจะเปิดเพิ่มอีก 3 เส้นทาง โดย RTC อยู่ระหว่างการ พิจารณาว่าจะเข้าไปบริหารจัดการ เรื่องบัตรโดยสารให้หรือไม่ โดยจะ ประชุมร่วมกันในเดือนส.ค.นี้อีกครั้ง ส่วนจ.สมุทรสาครจำนวน 3 เส้นทาง คาดว่าต้นปีหน้าจะเริ่มเปิดให้บริการ สำหรับจ.ระยองจะจ้างให้ RTC เข้าไปบริหารจัดการทั้งหมด โดยมีจ.ระยองเป็นเจ้าของโครงการดังกล่าว"
กลุ่มทวงคืนฯร่วมทีมขับเคลื่อน
ด้านความคืบหน้ากรณีทวงคืน รถไฟความเร็วสูง ทาง จ.ระยองรับเรื่องไปติดตามความคืบหน้า ที่คณะกรรมการอีอีซีจะพิจารณาใน เร็วๆ นี้ ล่าสุดนั้นการพัฒนาระบบฟีดเดอร์ป้อนเข้าสู่ระบบหลักอย่างรถไฟความเร็วสูงในตัวเมืองระยอง นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง จะแต่งตั้งกลุ่มฯให้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวนี้ด้วย "อบจ.ได้เรียนเชิญทางกลุ่มฯให้เข้าประชุมร่วมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อรับฟังความเห็นที่จะเดินหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนรองที่จะเป็นฟีดเดอร์ป้อนระบบหลักอย่างไฮสปีดเทรน ก่อนที่ทางกลุ่มจะได้รับการเสนอว่าจะแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ โดยในวันดังกล่าวจะมีเทศบาลเมืองระยอง สำนักงานจังหวัดระยอง กลุ่มทวงคืนรถไฟความเร็วสูงระยอง และอดีตหัวหน้าสำนักงานขนส่งจังหวัด เพื่อมาหารือร่วมกันในเรื่องดังกล่าว" แหล่งข่าวแกนนำกลุ่มทวงคืนรถไฟความเร็วสูงระบุ นอกจากนั้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊คโดยผู้บริหารของเทศบาลเมืองระยองเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับระบบฟีดเดอร์เผยแพร่ให้ประชาชนได้เข้าใจมากขึ้นอีกด้วย ประการสำคัญ อบจ.ระยองจึงดึงทุนใหญ่จากกรุงเทพมหานครเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการแล้วจะให้ RTC เป็นผู้บริหารจัดการฟีดเดอร์ดังกล่าว
"ซีซีพี"คาดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
ด้านนายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการศึกษากรณีที่จะปรับตัวไปสู่ระบบการปฏิบัติออโตเมชั่นมากขึ้นว่า ใช้งบลงทุนมากน้อยแค่ไหนและคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ เพราะต้องการลดกรณีใช้แรงงานคนแม้ว่าจะมีแรงงานอยู่ราว 1,000 คนก็ตาม แต่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตเพิ่มเข้ามาเพิ่มในครึ่งปีหลังจากงานภาครัฐโครงการต่างๆ
ปัจจุบันโครงการขนาดใหญ่จะผ่าน ผู้รับเหมารายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองมากกว่า หลังจากนั้นจะมีการจ่ายงานผ่านรายย่อย ซึ่งซีซีพีจะได้งานผ่านในขั้นตอนรายย่อย ที่ส่งผลให้ได้ราคาไม่ดีตามที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นหากรัฐสามารถส่งเสริมได้ทั้งรายใหญ่ และรายย่อยได้เติบโตก็จะสร้างความเข้มแข็ง ทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก ประการสำคัญเป็นที่รู้กันแล้วว่างานทั้งหมดจะต้องผ่านผู้กว้างขวางในพื้นที่ก่อนแล้วจึงค่อยกระจายไปสู่รายย่อย จึงไม่กระจายงานกระจายรายได้ไปสู่รากหญ้าดังที่รัฐบาลคาดหวังไว้ โดยหลักจะเป็นการปรับกระบวนการภายในให้พร้อมรองรับการแข่งขัน เนื่องจากช่วงเศรษฐกิจดีจะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาแบ็คล็อกยังอยู่ระดับ 2,000 ล้านบาท ขณะนี้ครึ่งปีหลังรับแน่ๆ แล้วราว 1,000 ล้านบาทที่อยู่ระหว่างการเร่งลงนาม จึงเปิดรับงานย่อยมากขึ้นเพื่อรวบรวมเป็นก้อนใหญ่และยังป้องกันความเสี่ยงซึ่งงานเมกะโปรเจ็กต์ในโซนภาคตะวันออกยังได้อานิสงส์ ทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ ท่าเรือ สนามบิน แต่ราคาไม่ดี ส่วนครึ่งปีหลังยัง น่าจะมีแนวโน้มที่ดี "กำลังจับตางานในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากจ.ชลบุรีที่ร่วมมือกับฮ่องกงพัฒนาโครงการย่านศรีราชา และโซนพัทยา ส่วนโซนระยองยังจับตามองว่าทุนกลุ่มไหนจะมาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะจากจีนและกลุ่มทุนใหญ่จากส่วนกลาง"
บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี ยังจับตามองโซนระยองว่า กลุ่มไหนจะมาลงทุนพัฒนาอสังหาฯ โดยเฉพาะทุนใหญ่จากส่วนกลาง