เอกชน แปดริ้ว จี้แก้ผังเมือง
Loading

เอกชน แปดริ้ว จี้แก้ผังเมือง

วันที่ : 26 กรกฎาคม 2561
เอกชน แปดริ้ว จี้แก้ผังเมือง

แนะเพิ่มพื้นที่ลงทุนอุตสาหกรรมในฉะเชิงเทรา

สภาอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา จี้รัฐแก้ปัญหาผังเมือง หวังให้เอกชนวางแผนลงทุนชัดขึ้น แนะเร่งวางแผนพัฒนาบุคลากรรับอีอีซี ตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรม ยกระดับเอสเอ็มอีในพื้นที่ เผย อีอีซี อ่อนด้อยงานประชาสัมพันธ์ ชาวบ้านยังไม่เข้าใจผลกระทบจากพ.ร.บ.อีอีซี หวั่นเกิดการต่อต้านในอนาคต แนะศึกษาผลกระทบจากการเพิ่มของประชากร จะต้องวางแผนรับมือทุกด้าน

นายร่มไทร ทิพยเศวต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ทำให้มีทิศทางการลงทุนที่คึกคักขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เนื่องจากภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องผังเมืองอีอีซีในการกำหนดพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ

โดยเฉพาะ จ.ฉะเชิงเทราที่ อีอีซี กำหนดให้เป็นพื้นที่ในการสร้างเมืองใหม่ที่ครบวงจร หรือ สมาร์ทซิตี้ เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยรองรับการขยายตัวของกรุงเทพ และ อีอีซี แต่ในความเป็นจริงการที่จะผลักดันให้เกิดเมืองใหม่ต้องมีแหล่งที่ทำงาน ที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่เน้นใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และย่านธุรกิจขึ้นมาก่อน จึงจะมีคนคนเข้ามาทำงาน และพำนักอาศัยอย่างถาวรใน จ.ฉะเชิงเทรา เพราะแหล่งอุตสาหกรรมและเมืองเป็นของที่คู่กัน หากขาดแหล่งอุตสาหกรรมก็เกิดเมืองได้ยาก

ห่วงลงทุนใหม่ติดปัญหาผังเมือง

ทั้งนี้ การที่จะดึงดูดอุตสาหกรรมให้มาลงทุน ก็ยังติดปัญหาผังเมือง ที่ยังไม่มีความชัดเจนในพื้นที่อุตสาหกรรม โดยรัฐบาลพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม แต่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีเพียง 4 นิคมอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ นิคมอุตสาหกรรม 304 และนิคมอุตสาหกรรมทีแอฟดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิคมฯเก่ามีพื้นที่เหลือไม่มาก ทำให้รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ได้น้อย

"ที่ผ่านมามีกลุ่มบลูเทค มีแผนจะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า มีความต้องการใช้พื้นที่ 2-3 พันไร่ แต่ไม่มีพื้นที่ว่างให้ลงทุน รวมทั้งต้องมีความชัดเจนในพื้นที่คาบเกี่ยวที่ไม่ได้อยู่ในอีอีซี เช่น จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี ที่บางส่วนมีศักยภาพด้านการเกษตร ใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และชีวภาพ ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้ฉะเชิงเทราอยู่ระหว่างการปรับปรุงผังเมือง ซึ่งหากผังเมืองมีความชัดเจน มีผลบังคับใช้ 10-20 ปี ก็จะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น"

นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องเร่งรัดโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร่างพื้นฐานต่างๆ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ท่าเรือ สนามบิน ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการลงทุน หากรัฐบาลทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ก็จะเกิดการลงทุนภาคเอกชนอย่างรวดเร็ว

เร่งรัดวางแผนพัฒนาคนให้ชัด

ทั้งนี้ ยังต้องเร่งดำเนินการในเรื่องของการวางแผนกำลังคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ใน อีอีซี เพราะเอกชนจะเข้าไปลงทุนได้ จะต้องดูความพร้อมในเรื่องของบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในเรื่องนี้ภาครัฐยังไม่ได้มีแผนที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องของจำนวนบุคลากรที่ อีอีซี ต้องการ โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ว่าในอนาคตมีความต้องการเท่าไร มีสาขาอะไรบ้าง และจะต้องมีลักษณะทักษะอะไร

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น ที่จะต้องนำไปเป็นข้อมูลในการวางแผนการพัฒนาและผลิตบุคลากร ซึ่งในพื้นที่ อีอีซี มีวิทยาลัยอาชีวะอยู่ 69 แห่ง มีกำลังการผลิตบุคลากร 4-5 หมื่นคนต่อปี แต่ในจำนวนนี้ มีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานทันที เพราะไปศึกษาต่อ หรือไปทำงานในสายอื่น

รวมทั้งในส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ก็ยังมีความจำกัด มีเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เพียงแห่งเดียว ซึ่งควรจะมีศูนย์ในลักษณะนี้ทุกจังหวัดใน อีอีซี เนื่องจากผู้ประกอบการไทยยังไม่เก่งในเรื่องนวัตกรรมสมัยใหม่ ขาดความเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ระบบ IoT เข้ามาใช้งานในภาคการผลิต

ดังนั้นควรจะมีศูนย์ถ่ายทอดนวัตกรรมทั้ง 3 จังหวัด และระดมผู้เชี่ยวชายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน พื้นที่ อีอีซี

ชี้รัฐอ่อนประชาสัมพันธ์ชุมชน

นายร่มไทร กล่าวว่า ในการดำเนินงานของ อีอีซี ที่ผ่านมา ส่วนที่เป็นปัญหา และต้องเร่งแก้ไขมากที่สุด ก็คือเรื่องการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการให้ความรู้ข้อมูลของ พ.ร.บ.อีอีซี ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ใน อีอีซี มาก แต่ชาวบ้าน ผู้ประกอบการในพื้นที่ ยังไม่ทราบในรายละเอียดของกฎหมาย ผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น การถือครองที่ดิน ที่เปิดทางให้ต่างชาติเช้าที่ดินได้ถึง 99 ปี หรือ เช่าที่ดินระยะแรกได้ 50 ปี และต่ออายุได้อีก 49 ปี ซึ่งชาวบ้านก็มีความกังวลว่าจะเปิดช่องให้ต่างชาติมากักตุนที่ดินได้ในระยะยาว และยังมีปัญหาเรื่องสิทธิต่างๆ อีกมาก

"ในการประชาสัมพันธ์ของ อีอีซี มีเพียงการประชุมสัมมนากลุ่มผู้นำชุมชนในระดับต่างๆ แต่ยังไม่มีงบประมาณลงลึกไปถึงการตั้งเวทีเสวนาในชุมชน หมู่บ้านต่างๆ ที่จะต้องร่วมกันตีความกฎหมาย พูดคุยทำความเข้าใจ เพื่อให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งหากชาวบ้านยังไม่เข้าใจ ก็อาจจะทำให้เกิดการต่อต้านโครงการ อีอีซี ได้ในอนาคต"

แนะวางแผนรับผลกระทบอีอีซี

นอกจากนี้ สำนักงาน อีอีซี จะต้องทำแผนเชิงรุก ในการประเมินผลกระทบจากการลงทุนในอีอีซี ด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพโรคอุบัติใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ผลกระทบด้านการการจรจรความแออัดในเมือง ผลกระทบด้านสังคมและอาชญากรรม ความแออัดในโรงพยาบาล โรงเรียน ปัญหาขยะมูลฝอย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลต่อเนื่องจากผู้คนทีหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่อีอีซีเป็นจำนวนมาก

จากการประเมินคร่าวๆ จะมีประชากรเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 2.4 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีผลการศึกษาคาดการประเมินผลกระทบเหล่านี้ นำไปจัดทำแผนรับมือที่ชัดเจน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับทราบ เพื่อลดความกังวลใจ และให้การสนับสนุนอีอีซี

"ประชาชนในพื้นที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้อีอีซีเดินหน้าได้ราบรื่น รัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์ ชี้แจงลงลึกไปยังชุมชนหมู่บ้านในอีอีซีทุกที่ ให้รู้ถึงผลบวกที่ชาวบ้านจะได้ เช่น เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการลงทุน ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากการปริโภคที่สูงขึ้น มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สะดวกสบายมากขึ้น และผลกระทบในด้านลบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และจะมีแผนป้องกันอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความร่วมมือในการผลักดันการพัฒนาอีอีซีให้เป็นไปตามเป้าหมาย"

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ