ไฟเขียวศึกษาไฮสปีดระยอง เดินหน้ารถไฟฟ้าเชื่อม3สนามบินเฟส2 บีโอไอเผยครึ่งปีแรกยอดลงทุน1.83แสนล.
กบอ.อนุมัติ ศึกษาส่วนต่อ ขยายระบบรางจากอู่ตะเภาถึงระยอง คาดลงทุนหลักหมื่นล้าน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานว่าที่
ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รับทราบ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ช่วงต่อขยายจากท่าอากาศยาน อู่ตะเภา ผ่าน จ.ระยอง จันทบุรี และตราด
ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาโครงการ คือ การจัดจ้างที่ปรึกษาภายในเดือน ต.ค. 2561 และเริ่มศึกษาออกแบบโครงการส่วนต่อขยายเดือน พ.ย. 2561 โดยจะใช้เวลาดำเนินการ 18 เดือน ซึ่งเบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการในส่วนของส่วนต่อขยายอู่ตะเภา-เมืองระยอง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร (กม.) คาดใช้เงินลงทุนหลักหมื่นล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวระยอง หลังจากก่อนหน้านี้มีการปรับแผนเล็กน้อย
"ส่วนต่อขยายระยะที่ 2 จะเริ่มศึกษาภายในปีนี้ และหากศึกษาแล้วเสร็จจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อระยะที่ 1 แล้วเสร็จคือในปี 2566 ดังนั้นเท่ากับว่าระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2567 โดยโครงการ ดังกล่าวเป็นโครงการที่เกิดจากช่วงแรกก่อนที่จะมีการสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ได้วางแผนเอาไว้ว่าจะสร้างระบบรางในพื้นที่ จ.ระยอง แต่ภายหลังได้มีการเปลี่ยนเส้นทาง เพราะติดเรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ดังนั้น จะต้องกลับไปศึกษาเส้นทางเดิม อาจขยายไปยังจันทบุรี และตราด เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีระบบรางมาก่อน" นายคณิศ กล่าว
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในขั้นตอนต่อไปจะมีการจัดประชุมชี้แจงเอกสาร คัดเลือกครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 ก.ย. 2561 และเปิดรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอวันที่ 12 พ.ย. 2561 จากนั้นจะมีการประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมิน และลงนามสัญญาร่วมลงทุนของโครงการภายในไตรมาสแรกของปี 2562
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ครึ่งแรกของปี 2561 มีผู้ประกอบการเข้ามาขอรับการ ส่งเสริมการลงทุนใน จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 142 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.83 แสนล้านบาท คิดเป็น 67% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ยื่นขอบีโอไอ เพิ่มขึ้นเป็น 122% เทียบกับมูลค่าในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์