ชงครม.เคาะระเบียงศก.ใต้เห็นผลใน3ปี
Loading

ชงครม.เคาะระเบียงศก.ใต้เห็นผลใน3ปี

วันที่ : 21 สิงหาคม 2561
ชงครม.เคาะระเบียงศก.ใต้เห็นผลใน3ปี

สศช.เสนอ ครม.ดัน ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ นำร่อง 4 จังหวัด พัฒนาโลจิสติกส์ ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม หวังยกระดับรายได้"ทศพร" เชื่อเห็นผลเป็นรูปธรรมใน 3-5 ปี

วานนี้ (20 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ระนอง และตรวจเยี่ยมท่าเรือระนอง ซึ่งเป็นประตูการค้าและการขนส่งฝั่งอันดามัน ที่เชื่อมโยงการค้าผ่านทางเรือไปประเทศเพื่อนบ้าน เอเชียใต้ แอฟริกาและยุโรป โดยท่าเรือระนองจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) และวันนี้ (21 ส.ค.) นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ จ.ชุมพร และจะมีการหารือการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (21 ส.ค.) สศช.จะเสนอ ครม.พิจารณาแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งระยะแรกครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร จ.ระนอง จ.สุราษฎร์ธานี และจ.นครศรีธรรมราช  โดยตามแผนที่จะเสนอการพัฒนาพื้นที่จะจับคู่จังหวัดพัฒนาแบ่งเป็นจ.ชุมพร และจ.ระนอง และอีกพื้นที่คือจ.สุราษฎร์ธานี และจ.นครศรีธรรมราช โดยตั้งเป้าว่าการพัฒนา 2 พื้นที่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้จะทำให้พื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัดได้รับการพัฒนาตามศักยภาพในพื้นที่ด้วย ซึ่งจะเห็นเป็นรูปร่างภายใน 3-5 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่ม รายได้ให้กับเกษตรกรในภาคใต้

ส่วนในภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จ.ชุมพรและระนอง จะมุ่งเน้นในเรื่องของการเตรียม ความพร้อมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยในจ.ระนอง จะเสนอให้มีการพัฒนาท่าเรือระนองเพื่อส่งเสริมให้เป็นประตูทางด้านทะเลอันดามันไปสู่ประเทศกลุ่ม BIMSTEC

ดันลงทุนอุตฯ-ท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ระนองและชุมพรยังสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทั้งถนนและระบบรางหรือโลจิสติกส์ฮับ โดยเฉพาะทางรถไฟนั้นที่จะเชื่อมจากชุมพรลงไปยังภาคใต้ ที่อยู่ด้านล่าง เชื่อมต่อไปทางตะวันออกไปยังอีอีซี รวมทั้งเชื่อมกับท่าเรือระนองเพื่อให้สามารถส่งออกผลผลิตเกษตรจากภาคใต้ได้

นอกจากนี้ สศช.จะพัฒนาคือด้านการท่องเที่ยวแต่จะไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะชุมพรและระนอง เพราะรัฐบาลมีแผนการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวภายใต้โครงการไทยแลนด์ ริเวียร่า ซึ่งจะมีการพัฒนาตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เรื่อยไป จนถึงกระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล ซึ่งจะเป็น การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับโดยเฉพาะโครงการถนนเลียบชายฝั่ง และระบบรางของกระทรวงคมนาคม ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทย และทะเลอันดามัน เนื่องจาก 2 ฝั่ง มีช่วงมรสุมที่แตกต่างกัน

ส่วนอีกพื้นที่คือ จ.สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชซึ่งมีฐานการเพาะปลูกพืชเกษตรสำคัญทั้งปาล์มน้ำมัน ยางพารา จะผลักดันให้มีศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการแปรรูปเกษตรที่มีเทคโนโลยีและมูลค่าสูงเพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะ ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่สามารถเพิ่มมูลค่าเช่น สินค้าฉนวนความร้อนคุณภาพสูงเป็นต้น

อุตฯเสนอออยปาล์มซิตี้

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าได้หารือกับส่วนราชการ และภาคเอกชนในภาคใต้ เพื่อสรุปข้อเสนอ ครม.  3 ประเด็น คือ 1.ตั้งออยปาล์มซิตี้ (Oil palm City) เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของปาล์ม ที่ จ.สุราษฎร์ธานี

2.เมืองนวัตกรรมและการออกแบบ ไม้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 3.การส่งเสริม และพัฒนางานวิจัยด้านสมุนไพร ได้กำหนดพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีเครือข่ายสมุนไพรที่เข้มแข็ง โดยข้อเสนอของภาคเอกชนในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 3 ประเด็นนี้

ส่วนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สู่การเป็นเมืองนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานเศรษฐกิจเกษตรชีวภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้าและการบริการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ ของภาคใต้สู่การแข่งขันตลาดโลก ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ยางพารา) แห่งใหม่ ของประเทศ

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ