ระเบียงเศรษฐกิจใต้ฉลุย เชื่อมอีอีซีดันจีดีพีพุ่ง12% รับข้อเสนอเอกชน2แสนล.
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.สัญจร จังหวัดชุมพร เห็นชอบโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือเอสอีซี โดยเน้นการพัฒนาด้านการเกษตร และการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งในระยะแรกจะปักธงทำก่อนใน 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบราง ท่าเรือ และสนามบิน โดยเชื่อว่า หากผลักดันโครงการดังกล่าวออกมาได้สำเร็จไปพร้อม ๆ โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก หรือไทยแลนด์ริเวียร่า ที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. ไปก่อนหน้านี้แล้ว จะช่วยเปลี่ยนโฉมพื้นที่ภาคใต้ให้มีความสำคัญกับเศรษฐกิจประเทศมากขึ้น
"เมื่อภาพของโครงการเอสอีซีเกิดขึ้นชัดแล้ว จะมีการเชื่อมกับระหว่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และเอสอีซีเข้าด้วยกัน โดยจะมีรถไฟทางคู่มาเชื่อมลงจากชุมพร ถึงระนอง เรื่องนี้จะเป็นเฟสแรกที่รัฐบาลต้องการทำให้เกิดขึ้นเร็ว โดยในพื้นที่จังหวัดระนองมีท่าเรือสำคัญที่ทำการเชื่อมโยงระหว่างอีอีซี ขนของมาลงที่นี่ได้ ส่วนชุมพรก็มีผลไม้ สุราษฎร์ธานี นครศรี ธรรมราชก็มีภาคเกษตรที่เข้มแข็ง ทั้งปาล์มน้ำมัน และยางพารา ต่อไปเมื่อเชื่อมโยงกันแล้ว พืชผักผลไม้ จะขนออกไปสู่ทะเลฝั่งอันดามันได้ ส่วนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทางบีโอไอได้รับไปดูแล้ว"
ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบข้อเสนอภาคเอกชน ภายหลังจากนายกฯ ได้ประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ โดยมีโครงการ รวม 34 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาท ครอบ คลุม 5 ด้าน คือ ด้านโลจิสติกส์ การค้า การลงทุน ด้านท่องเที่ยว ด้านเกษตร ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ประชุม ครม. ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปผลักดันต่อไป
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตามข้อเสนอเอกชนในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีทั้งหมด 28 โครงการ มูลค่า 128,391 ล้านบาท โครงการใหญ่ที่สุดเป็นการพัฒนาระบบราง ภาคเอกชนได้เสนอขอให้เร่งรัดการสร้างทางรถไฟสายใหม่ 4 เส้นทาง ระยะทาง 345 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนประมาณ 83,506 ล้านบาท คือ เส้นทางชุมพร-ระนอง ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้ศึกษาเสร็จแล้ว ในปี 62 จะทำการออกแบบรายละเอียด และเร่งรัดการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอต่อไป เส้นทางที่ 2 คือ สุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น จะเสนอ ครม. เห็นชอบโครงการ เส้นทางที่ 3 คือ ดอนสัก-สุราษฎร์ธานี และพังงา-กระบี่ จะรับไปศึกษาเพิ่มเติม เป็นต้น
นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการ ค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนพอใจผลการประชุมร่วมกับนายกฯ ในครั้งนี้ เพราะรัฐบาลรับข้อเสนอของภาคเอกชนทั้งหมด และลงรายละเอียดของโครงการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปผลักดันต่อ โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อม 2 ฝั่งทะเลที่ภาคเอกชนอยากให้เกิดขึ้นมานาน ล่าสุดได้รับการเห็นชอบให้ผลักดันออกมาเป็นรายโครงการแล้ว ซึ่งเมื่อทำเสร็จทั้งหมด ก็น่าจะสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้มีขนาดจีดีพีเพิ่มขึ้นจากอยู่ที่ 8% หรือประมาณ 1.2 ล้านล้าบาท เพิ่มขึ้นเป็น 11-12% ได้