บิ๊กตู่ หัวโต๊ะเคาะ4โปรเจ็กต์อีอีซี รบ.ฟื้น กองทุนน้ำมัน สู้ราคาพุ่ง
Loading

บิ๊กตู่ หัวโต๊ะเคาะ4โปรเจ็กต์อีอีซี รบ.ฟื้น กองทุนน้ำมัน สู้ราคาพุ่ง

วันที่ : 5 ตุลาคม 2561
บิ๊กตู่ นำทีม รมต.ศก.ถกอีอีซีไฟเขียว 4 โปรเจ็กต์ ด้านศูนย์วิจัย ม.หอการค้าชี้ดัชนีเชื่อมั่นปรับลดรอบ 4 เดือน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ครั้งที่ 4/2561 (อีอีซี) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
          บิ๊กตู่ นำทีม รมต.ศก.ถกอีอีซีไฟเขียว 4 โปรเจ็กต์ ด้านศูนย์วิจัย ม.หอการค้าชี้ดัชนีเชื่อมั่นปรับลดรอบ 4 เดือน

          'บิ๊กตู่'นำทีมรมต.ศก.ถกอีอีซี

          เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ครั้งที่ 4/2561 (อีอีซี) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ฯลฯ เข้าร่วมประชุม

          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนการประชุมว่า อีอีซีเป็นโครงการสำคัญของประเทศไทยที่ ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งได้รับทราบว่าหลายประเทศให้ความสนใจกล่าวถึงนโยบาย 4.0 และอีอีซี ขณะที่ในประเทศก็มีผู้ให้ความสนใจ ทั้งจากภาคเอกชนและฝ่ายการเมืองต่างๆ ด้วย ซึ่งตนเชื่อมั่นในการทำงานของทุกคน อะไรก็ตามที่จะเป็นรูรั่วที่จะทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ และขอให้ทุกคนต้องมั่นใจในการทำงานในสิ่งที่ถูกต้อง ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ เพื่อให้เกิดความสบายใจ ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะโครงการใหญ่ แล้วไม่กล้าจะทำเพราะไม่เคยทำมาก่อน ดังนั้น ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตด้วย

          ไฟเขียวลงทุน4โครงการอีอีซี

          ต่อมา นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยผลการประชุม ว่า ได้มีมติเห็นชอบหลักการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 4 โครงการ และรับทราบกำหนดการออกประกาศหนังสือชี้ชวนภายใน (ทีโออาร์) เดือนตุลาคม 2561 ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก กำหนดได้เอกชนผู้ร่วมทุนกุมภาพันธ์ 2562 เปิดดำเนินการ 2566 เงินลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 189,999 ล้านบาท จ้างงาน 15,640 ตำแหน่งต่อปี ผลตอบแทนโครงการ 193,612 ล้านบาท 2.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา กำหนดได้เอกชนผู้ร่วมทุนธันวาคม 2562 เปิดดำเนินการกลางปี 2565 เงินลงทุนรวม 10,588 ล้านบาท ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 22,100 ล้านบาท จ้างงานเทคโนโลยีขั้นสูง ประมาณ 80,000 ล้านบาท เพิ่มรายได้จากบริการสายการบินต่างประเทศ ประมาณ 200,000 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการ 38,872 ล้านบาท

          นายคณิศกล่าวว่า ส่วนโครงการที่ 3.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ได้เอกชนผู้ร่วมทุนกุมภาพันธ์ 2562 เปิดดำเนินการปลายปี 2566 เงินลงทุนโครงการท่าเรือเอฟ รวม 84,361 ล้านบาท ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 180,000 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการ 76,078 ล้านบาท และอนาคตจะเปิดท่าเรืออี โดยเอกชนจะลงทุนเพิ่มอีก 29,686 ล้านบาท รัฐไม่ต้องลงทุนเพิ่มแล้ว รวมเงินลงทุนท่าเรือเอฟและอี 114,047 ล้านบาท และ 4.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว กำหนดได้เอกชนผู้ร่วมทุนมกราคม 2562 เปิดดำเนินการต้นปี 2568 เงินลงทุนโครงการท่าเรือก๊าซ 47,900 ล้านบาท ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 85,300 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการ 47,357 ล้านบาท และอนาคตจะเปิดท่าเรือสินค้าเหลว และพื้นที่คลังสินค้า โดยเอกชนจะลงทุนเพิ่มอีก 7,500 ล้านบาท รัฐไม่ต้องลงทุนเพิ่มแล้ว รวมเงินลงทุนทั้งหมด 55,400 ล้านบาท

          นายคณิศกล่าวว่า การเดินหน้า 4 โครงการดำเนินการ ต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการแรกที่ได้ออกเอกสารคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 และกำหนดรับข้อเสนอเอกชนในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 โดยการลงทุนรวม 652,559 ล้านบาท ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ 819,662 ล้านบาท และผลตอบแทนทางการเงินโครงการ 559,715 ล้านบาท นอกจากนี้ กพอ.ยังอนุมัติแผนพัฒนาโครงการแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระยะเวลา 5 ปี ตามข้อเสนอของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอีอีซี

          สรท.ชี้กระทบถ้าน้ำมันเกิน80ดอลล์

          น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ระดับราคาน้ำมันโลกที่จะส่งผลเชิงบวกต่อการส่งออกไทย ต้องไม่เกิน 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะหากเกินกว่านี้ จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้นทันที หากถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คงกระทบหนัก ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ สรท.ประเมินราคาเฉลี่ยไว้ที่ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปริมาณอุปทานในตลาดที่ลดลงของประเทศอิหร่านและเวเนซุเอลา รวมถึงการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐที่จะเริ่มมีผลในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในช่วง 2-3 เดือนหน้า ซาอุดีอาระเบียอาจมีการเพิ่มปริมาณการผลิต เพื่อชดเชยอิหร่าน แต่ยังมีความกังวลว่าอาจจะเกิดอุปทานล้นตลาดได้ จากแนวโน้มอุปสงค์ตลาดในปีหน้า ที่อาจปรับลดลง เนื่องจาก ผลของสงครามการค้า

          พณ.คาดน้ำมันไม่เกิน90เหรียญ

          น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นว่า เกิดจากการเก็งกำไรและผลต่อเนื่องจากการคว่ำบาตรอิหร่านเป็นหลัก โดยในชั้นนี้ คาดว่าราคาน้ำมันจะสูงกว่าตัวเลขที่ สนค.ใช้ในการประมาณการการส่งออกและเงินเฟ้อที่ระดับ 65-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยอาจขึ้นอยู่ที่ 80-90 เหรียญ แต่คาดว่าจะไม่สูงถึง 100 เหรียญ เพราะสหรัฐมีท่าทีที่จะหาความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เพื่อหลีกเลี่ยงราคาน้ำมันที่สูงเกินไป อีกทั้งกลุ่มประเทศโอเปคอาจจะมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การผลิตทดแทนน้ำมันของอิหร่าน นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ร้อนแรง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมัน ไม่เร่งตัวมากนัก

          "จากการคำนวณของ สนค.หากราคาน้ำมันขึ้นอยู่ที่ 80-90 เหรียญ ใน 4 เดือนที่เหลือปี 2561 จากช่วง 8 เดือนแรกราคาเฉลี่ย 69 เหรียญสหรัฐ จะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 38-56% จากปีก่อน จะทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันขยายตัว 26-36% และ ส่งผลต่อการส่งออกรวมประมาณ 2.6-3.6% อันจะสนับสนุนการส่งออกตามเป้าหมายที่ 9% ได้ง่ายขึ้น ซึ่งการส่งออก 9% จะต้องส่งออกเดือนที่เหลือเฉลี่ยโต 7.1%" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

          น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับผลต่อเงินเฟ้อหรือราคาผู้บริโภค สนค.ตั้งประมาณการเงินเฟ้อไว้ 0.8-1.6% แม้ว่าราคาน้ำมันขึ้นมาที่ 80-90 เหรียญ ก็จะยังไม่ทำให้หลุดกรอบนี้ อย่างไรก็ตาม อาจจะส่งผลให้ค่ากลาง 1.25% สูงขึ้นบ้าง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะขึ้นเท่าไหร่ เพราะช่วงปลายปีจะมีสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาลดลง (ต้นทุนลด) ยกเว้นยางพาราที่ปกติ จะราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ครม.ยังไม่เห็นชอบให้ขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบ จึงยังไม่มีแรงกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในส่วนของบุหรี่

          น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวต่อว่า สหรัฐน่าจะเพิ่ม แรงกดดันประเทศผู้ผลิตต่างๆ เพื่อหามาตรการดึงราคาน้ำมันให้ลง เพราะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวเสมอว่า สหรัฐไม่ต้องการให้ราคาน้ำมันแพงเกินไป เพราะจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุดซาอุดีอาระเบียเริ่มให้ข่าวแล้วว่า พร้อมจะสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดน้ำมันโลก โดยอาจจะเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนพฤศจิกายนนี้

          ธุรกิจขนส่งสินค้าวอนรัฐคุมดีเซล

          น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ดัชนีค่าบริการ ขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เท่ากับ 107.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2560 เพิ่มขึ้น 2.7% สาเหตุจากราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก ซึ่งเป็นต้นทุนหลัก ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของค่าบริการขนส่งทั้ง 3 หมวดหลัก คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 4.3% อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวโพด มันสำปะหลังสด ถั่วเหลือง หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2.3% อาทิ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว เครื่องดื่มบำรุงกำลัง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง เพิ่มขึ้น 1.1% อาทิ ยิปซั่ม เกลือ หิน เป็นต้น

          ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนส่งมีความเห็นว่า ภาครัฐควรดูแล ควบคุมราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดการลงทุนการผลิตมากขึ้น คาดว่า จะส่งผลให้ธุรกิจด้านการขนส่งกระเตื้องตามไปด้วย ทาง สนค.คาดว่าดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในช่วงปลายปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในช่วงขยายตัวประกอบกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นทั้งในประเทศและโลก ส่งผลให้มีความต้องการขนส่งมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนส่งยังคงต้องการให้ภาครัฐดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมมีกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นกับสถานการณ์เศรษฐกิจพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการผลิตซึ่งจะทำให้ธุรกิจการขนส่งขยายตัวดีตามไปด้วย

          แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในตรวจสอบและออกสำรวจราคาสินค้า หลังกระแสน้ำมันจะเพิ่มต่อเนื่อง หากพบราคาสินค้าขยับสูงต่อเนื่องให้เรียกผู้ผลิตและจำหน่ายมาหารือและขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าราคาน้ำมันโลกไม่น่าจะขยับสูงถึง 100 เหรียญ และน่าจะไม่เกิน 85 เหรียญในระยะสั้นๆ อีกทั้งหากราคาดีเซลไม่ได้เพิ่มกว่าปัจจุบันมากนักก็ไม่มีเหตุผลที่จะทำให้ราคาสินค้าและอาหารสดราคาสูงขึ้น

          เอกชนห่วงฉุดขนส่ง-สินค้าแพง

          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวไปถึงระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ภาคการผลิตที่ใช้น้ำมันหรือพลังงานประเภทอื่นเป็นเชื้อเพลิง ก็จะมีการปรับแผนการผลิตให้สอดรับกับต้นทุน ทั้งนี้ ยอมรับว่าค่อนข้างมีความกังวล กังวลจะกระทบเงินเฟ้อ ขณะนี้ผู้ผลิตจึงติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ยอมรับหากราคาน้ำมันขยับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะดีเซลสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร อาจส่งผลต่อต้นทุนไปจนถึงราคาขายปลีกสินค้า ให้ขยับตัวขึ้น เพราะปัจจุบันการผลิตใช้พลังงานเฉลี่ยประมาณ 10% ของต้นทุนสินค้า นอกจากนี้ การกระจายสินค้าก็ต้องพึ่งระบบโลจิสติกส์ที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนไม่ต่ำกว่า 50% ดังนั้น รัฐบาลก็ควรดูแลราคาน้ำมันในระดับเหมาะสม โดยใช้กลไกกองทุนน้ำเชื้อเพลิงเข้าดูแล ขณะเดียวก็ไม่ควรอุดหนุนมากเกินไป ควรปล่อยให้ราคาขายปลีกส่วนหนึ่งขยับตามกลไกตลาดโลกด้วย

          "ประเด็นกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นต้นทุนที่ภาคเอกชนมองว่าหากสูงกว่านี้จะมีผลต่อจิตวิทยา ทำให้ค่าขนส่ง ค่าโดยสารมีการปรับราคา จนกระทบต่อสินค้าโดยรวมให้ขยับขึ้นตามด้วย" นายสุพันธุ์กล่าว

          ชาวจีนหายดึงความเชื่อมั่นตก

          นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2561 ทุกรายการ มีการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 และค่าดัชนี อยู่ที่ 82.3 ผลจากปัจจัยมาจากราคาน้ำมันขยายตัวสูงขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหายไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันที่หายไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ส่งผลทำให้รายได้ของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและ ธุรกิจต่อเนื่องขยายตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น กระทบต่อความเชื่อมั่นหลายด้านของไทย รวมถึงราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ใน ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวและยางพารา

          นายธนวรรธน์กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 69.4 จาก 70.2 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 77.6 จาก 78.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 100.0 จาก 101.2 ด้านปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ปีนี้โต 4.4% และปี 2562 ที่ 4.2% โดยมองว่าเศรษฐกิจในภาพรวม ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมือง ที่คาดว่าการเลือกตั้งจะทำให้ภาพรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ดี ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% การส่งออกในเดือนสิงหาคม เติบโตเพิ่มขึ้น 6.68% และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 57.2 มาอยู่ที่ระดับ 56.6 แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ดีเท่าที่ควร ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจาก ระดับ 94.6 มาอยู่ที่ระดับ 93.6 ซึ่งยังปรับตัวอยู่ใกล้เคียงระดับ 100 (ซึ่งเป็นระดับปกติ) มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคตอันใกล้

          ผู้บริโภคยังกังวล

          นายธนวรรธน์กล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เริ่มรุนแรงขึ้น จากการตอบโต้เรื่องภาษีการนำเข้าสินค้าของสองประเทศ และความกังวลในการเกิดผลกระทบแง่ลบกับการส่งออกไทยยังสองประเทศ ส่งผลทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลง ซึ่งค่าดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ระดับ 100 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภค ยังมีความกังวลถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ตั้งไว้ที่ 4.5-4.6% เนื่องจากยังเชื่อว่าผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะน้อยลง และภาครัฐเข้ามากระตุ้นนักท่องเที่ยวจีนให้กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายมากขึ้น รวมถึงกิจกรรมทางการเมือง ที่มีมากขึ้น หากมีการจัดการเลือกตั้ง ซึ่ง จะเป็นส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวมากขึ้น

          "ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากปัจจัยสำคัญหลายประการ ส่งผลทำให้เกิดความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่จะไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายลดลง ประชาชนยังไม่ต้องการใช้จ่ายในส่วน ซื้อบ้านใหม่ รถใหม่ หรือแม้แต่การท่องเที่ยว เพราะถึงเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่ก็กระจุกตัวไม่กระจายตัว ทำให้กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนทุกภาคส่วน หากสถานการณ์สงครามทางการค้าสหรัฐและจีนไม่คลี่คลาย คาดว่าจะส่งผลกระทบมากขึ้นอีก" นายธนวรรธน์ กล่าว

          ของแพง-ศก.ฝืดกินเจฮวบรอบ11ปี

          นายธนวรรธน์เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ ปี 2561 ตรงกับวันที่ 9-17 ตุลาคม จากกลุ่มตัวอย่าง 1,207 ราย พบว่า บรรยากาศไม่น่าคึกคักกว่าปีก่อน และมีเงินใช้สะพัด 45,937 ล้านบาท และขยายตัว 1.9% ถือเป็นอัตราขยายตัวต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับจากทำการสำรวจปี 2551 โดยประชาชนระบุที่มีแผนกินเจลดลงจากปีก่อนสัดส่วน 36.5% เหลือ 33.8% ส่วนระบุไม่กินเจเพิ่มจาก 63.5% เป็น 66.2% ซึ่ง 62.5% ระบุว่าเศรษฐกิจไม่คล่องตัว และ 37.5% ระบุว่าราคาอาหารเจแพงขึ้น ส่วนกลุ่มที่กินเจครั้งแรกในปีนี้ 59.5% เพราะต้องการถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และ 32.4% ต้องการสร้างบุญกุศล ขณะที่เทศกาลกินเจปีนี้ประชาชนส่วนใหญ่ 85.9% ไม่มีแผนเดินทางไปทำบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทำให้สัดส่วนการใช้เงินเพื่อการเดินทางลดฮวบจาก 45.2% ปีก่อน เหลือ 14.1%
          ทั้งนี้ ในส่วนที่กินเจส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายจีน 90.2% ช่องทางในการเลือกซื้ออาหารเจผ่านตลาดสด 29.2% ร้านสะดวกซื้อ 24.6% และร้านค้าทั่วไป 22.3% ซึ่งเปลี่ยนแปลง ไปจากปีก่อน ที่ประชาชนเลือกซื้อสินค้าจากที่ช่องทางอื่นมากกว่าตลาดสด แต่ปีนี้ตลาดสดขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ส่วนปัจจัยในการเลือกซื้ออาหารเจ มองเรื่องความสะอาดอันดับแรก 31.0% ตามด้วยราคา 26.2% และรสชาติ 20.0% และค่าเฉลี่ยใช้จ่ายตลอดเจประมาณ 1 หมื่นบาท

          นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับพรที่จะขอในเทศกาลกินเจปีนี้ ได้แก่ ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และพระราชินีในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรง ขอให้มีสุขภาพสมบูรณ์และแข็งแรง ขอให้มีความเจริญในหน้าที่การงาน ทำมาค้าขายดี ร่ำรวยเงินทอง ขอให้บ้านเมืองประเทศไทยสงบสุข ขอให้เศรษฐกิจดี รายได้เพิ่มขึ้น ปราศจากหนี้สิน ขอให้คนในประเทศชาติรักกัน มีความเอื้อเฟื้อสามัคคีกัน และมีความสุข

          'คลัง'ถกกลุ่มอสังหาฯ

          นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเรียกผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย นายกสมาคมธุรกิจ บ้านจัดสรร และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าหารือมาตรการควบคุมการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ได้ข้อสรุปและข้อยุติที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์กับการเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น อย่าเพิ่งไปคาดการณ์กันเองว่ามาตรการจะออกมารุนแรง อยากให้รอดูข้อมูลของแต่ละฝ่ายก่อน ซึ่งเชื่อว่าเอกชนมีข้อมูลข้อเท็จจริงคล้ายกับทาง ธปท. แต่ต้องทำความเข้าใจกัน การส่งสัญญาณของ ธปท.ในครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้ตลาดตื่นตัวและมีความระมัดระวังมากขึ้น

          นายวิสุทธิ์กล่าวว่า จากรายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ พบว่าการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังไม่มีความน่ากังวลมาก ปริมาณการโอนที่อยู่อาศัยสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนยอดการจองยังทรงตัว ยังไม่พบความผิดปกติ จึงไม่มีอะไรที่ต้องกังวล ส่วนคุมการปล่อยสินเชื่อต่อราคาที่อยู่อาศัย (แอลทีวี)ก็ควรดูภาวะตลาด อาทิ บ้านหลัง 2 มีการปรับแอลทีวีลดลง ส่วนแนวโน้มการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ พบว่ายังอยู่ในสัดส่วนเฉลี่ย 10% เป็นตัวเลขพอรับได้

          "ส่วนตัวเชื่อว่าภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มขยายตัวดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ส่วนมาตรการคุมสินเชื่อของ ธปท.ก็ต้องรับฟังความเห็นให้รอบด้าน ซึ่งปัจจุบันที่อยู่อาศัยแนวราบและการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังแรก ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนกลุ่มคอนโดมิเนียม ก็ต้องจำแนกให้ดี เพราะมีลูกค้าที่มีรายได้หลากหลาย และมีราคาขายที่แตกต่างกัน" นายวิสุทธิ์กล่าว

          เวิลด์แบงก์มองศก.เอเชียยังดี

          นายชูเดีย แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลก เปิดเผยว่า ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังมีแนวโน้มขยายตัวดีในปี 2561 แต่แนวโน้มในระยะต่อไป การขยายตัวอาจจะได้รับผลกระทบเนื่องจากปัจจัยมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่จะส่งผล กระทบต่อบรรยากาศการค้าโลก ซึ่งประเทศในภูมิภาคนี้ มีการพึ่งพาการส่งออกสูง รวมทั้งอาจทำให้การลงทุนเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในภูมิภาคชะลอตัว ด้านการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก และอาจจะมีเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ส่วนด้านราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น อาจกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ และประเทศในภูมิภาคนี้ จะต้องมีการดูแลผู้มีรายได้น้อยเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ

          นายชูเดียกล่าวว่า ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของประเทศในภูมิภาคนี้ มี 4 แนวทาง คือ 1.การบูรณาการทางการค้าในภูมิภาคเพื่อลดความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตและมีการผ่อนคลายกฎระเบียบการค้ามากขึ้นโดยเฉพาะภาคบริการ มีการเจรจาการค้าเพิ่มมากขึ้นสามารถได้รับประโยชน์จากการเพิ่มความเข้มข้นของสิทธิพิเศษตามข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่และกำแพงภาษีที่ต่ำ ทั้ง AEC, CPTPP รวมถึง ACEP และหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (วันเบลต์วันโรด) เป็นต้น 2.การลดความเสี่ยงจากความผันผวนภาคการเงินและตลาดทุน ได้ด้วยการสร้างนโยบายกำกับดูแลมหภาคเพื่อลดความเสี่ยงระยะสั้นและนโยบายการคลังที่เข้มงวด เช่น การบริหารหนี้สาธารณะและการใช้จ่ายภาครัฐให้มีประสิทธิภาพที่ดี จะช่วยรักษาหรือสร้างกันชนเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจขาลงในอนาคตโดยไม่กระทบกับความยั่งยืนของหนี้สาธารณะ ขณะที่จีน มาเลเซีย และไทย ที่มีหนี้ครัวเรือนสูง สามารถใช้แมคโครพรูเด็นเชียลเพื่อดูแลความเสี่ยงในบางจุดได้

          นายชูเดียกล่าวว่า 3.การกระตุ้นขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึก รวมถึงการเปิดเสรีในภาคส่วนที่สำคัญ การปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน การช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่รวมถึงระหว่างบริษัทในประเทศกับบริษัทต่างชาติสามารถแข่งขันกันได้ ช่วยลดปัญหาการจัดทรัพยากรที่ผิดพลาดและสร้างงานที่ดีได้ 4.การลดปัญหาความยากจน ได้ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในกลุ่มเป้าหมาย ให้ระบบประกันสังคมที่มีความยั่งยืนทางการเงิน การพัฒนาการเข้าถึงบริการก่อนคลอดเละการดูแลเด็กในวัยเรียนให้ดีขึ้น การให้ทรัพยากรแก่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กันดาร รวมถึงลดช่องว่างในการเข้าถึงและคุณภาพการศึกษา

          ปรับจีดีพีไทยโตได้4.5%

          นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวจีดีพีไทยขยายตัว 4.5% ในปี 2561 จากเดิมเดือนเมษายน คาดไว้ 4.1% โดยประมาณการครั้งนี้ไม่ได้รวมผลจากการเลือกตั้ง เพราะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ยาก เน้นพิจารณาเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งการขยายตัว 4.5% เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี เพราะมีปัจจัยหนุนภายในประเทศและต่างประเทศ จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของเอกชนและการลงทุนภาครัฐที่เร่งขึ้นมา การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี รวมทั้งโครงสร้างขนาดใหญ่และการใช้จ่ายของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ส่งผลดีต่อการลงทุนของเอกชน อย่างไรก็ตาม จีดีพีในปี 2562 และปี 2563 คาดอยู่ที่ 3.9% จากการส่งออก คาดว่าจะลดลงหลังจากการค้าโลกได้ผ่านจุดสูงสุดไป การลงทุนภาครัฐอาจจะลดลงหลังจากเติบโตไปแล้วในปี 2561 จากความเป็นไปได้ที่บางโครงการจะล่าช้าจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใหม่ โดยเป็นกรณีฐานที่พิจารณาจากปัจจัยที่เป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งมีโอกาสขยายตัวได้เพิ่มขึ้นหรืออาจจะชะลอลงกว่าระดับนี้จากปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะสงครามการค้าและความผันผวนในตลาดการเงินโลกจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

          จับตาดอกเบี้ย-หนี้ครัวเรือน

          นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ที่ขณะนี้ ธปท.ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแล้วนั้น มองว่าหาก ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมถือว่ามีไม่มากนัก เพราะธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องสูง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อยู่ระดับต่ำในเวลา เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ครัวเรือนมีการใช้จ่ายเกินความจำเป็น มีการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นทำให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเห็นด้วยที่ ธปท.จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากปรับขึ้นในอัตราที่เร็วเกินไปอาจจะกระทบต่อการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มได้ โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้อยู่ในระดับสูง

          นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค คาดว่าจะทรงตัว ขณะที่นโยบายการเงินและการคลังคาดว่าจะอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อไป เงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะไม่หลุดจากกรอบเป้าหมาย 1-4% ด้วยการคาดการณ์ของสาธารณชนและการฟื้นตัวที่ทยอยเกิดขึ้น นอกจากนี้ นโยบายการเงินและการคลังยังมีพื้นที่นโยบายเพียงพอที่จะดำเนินนโยบายขยายตัวได้มากกว่านี้หากต้องการ ความเข้มแข็งของพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาค ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล การมีสำรองระหว่างประเทศที่สูงจะช่วยให้ไทยสามารถรองรับความปั่นป่วนในการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ เช่น ในช่วงวิกฤตในตุรกี ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงตั้งแต่สิ้นปี 2560 ถึง 15 สิงหาคม 2561 เพียง 1.65% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

          "ความเสี่ยงและความท้าทายของไทยคือความไม่แน่นอนในอุปสงค์จากต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกกำลังผ่านจุดสูงสุดไป การเพิ่มขึ้นของบรรยากาศการกีดกันทางการค้าและการชะลอตัวในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะกระทบต่อการส่งออกและทำให้เอกชนชะลอการลงทุน ทั้งนี้ การชะลอการลงทุนของเอกชน เนื่องจากกังวลความไม่แน่นอนด้านการเมือง แม้ว่าความเชื่อมั่นจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับช่วงปี 2555 ก็คือว่ายังอ่อนแออยู่มาก นักลงทุนเอกชนยังคงกังวลกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและผลกระทบต่อแผนการลงทุนภาครัฐและความต่อเนื่องในนโยบายเศรษฐกิจที่อาจจะพลิกกลับด้านได้ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และทางรถไฟจะเป็นจุดสำคัญที่จะกระตุ้นความเชื่อมั่นของเอกชนขึ้นมาได้ แต่ยังต้องติดตามเพราะการที่อีอีซีต้องทำงานภายใต้กรอบของภาครัฐหรือบริบทราชการทำให้ไม่คล่องตัว และจะกลายเป็นคอขวดได้" นายเกียรติพงศ์กล่าว

          ธปท.ออกมาตรการสกัดเก็งกำไรบ้าน

          นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการ กลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธปท.จะออกมาตรการแมคโครพรูเด็นเชียลกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐ บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เฉพาะการขอกู้ใหม่และการรีไฟแนนซ์ ซึ่งจะไม่มีผลย้อนหลัง เนื่องจากพบว่ามีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อและทำให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อหย่อนยาน เช่น ไม่จำเป็นต้องมีเงินดาวน์ มีการให้สินเชื่อเงินทอน หรือให้กู้มากกว่าเงินซื้อจริง ทั้งนี้ปัจจุบันเพื่อนำไปใช้การบริโภคอื่นๆ ทำให้มีหนี้สินเกินตัว ขยายเวลาการผ่อนนาน ให้สินเชื่อเพิ่มเติมจนเงินกู้มากกว่าหลักประกันเกิน 100% ให้สินเชื่อต่อรายได้ผู้กู้ (แอลทีไอ) สูงถึง 6-7 เท่าจากมาตรฐานราว 4.5 เท่า และพบว่ามีการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (เสิร์ชฟอร์ยีลด์) เป็นการซื้อบ้านหลังที่สองเพื่อลงทุนไม่ได้อยู่อาศัยจริง ขณะนี้ ธปท.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์และจะมีการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ และคาดว่าจะออกประกาศในเดือนพฤศจิกายนก่อนจะมีผลบังคับใช้ตามกำหนด

          นายสักกะภพกล่าวว่า ธปท.จะกำหนดเกณฑ์การซื้อบ้านสัญญาที่ 2 ขึ้นไป หรือการซื้อบ้านที่ราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ให้แอลทีวี รวมกับสินเชื่อเพิ่มเติมทั้งหมด เช่น สินเชื่อบุคคลเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งบ้าน สินเชื่อจ่ายเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น ไม่เกิน ระดับ 80% หรือจะต้องมีเงินดาวน์ 20% เพื่อป้องกันการเก็งกำไร เนื่องจากพบว่าช่วงครึ่งปีแรก 2561 พบว่ามีการทำสัญญามากกว่า 2 สัญญาเพิ่มขึ้นกว่า 20% ทั้งนี้ กลุ่มผู้กู้จากเดิมที่รายได้เฉลี่ย 1.2 แสนบาท/เดือน ลดลงมาเป็น 8 หมื่นบาท/เดือน ซึ่งกังวลว่าจะมีผลต่อการผ่อนชำระ ทั้งนี้ พบว่าผู้กู้ที่มี 2 สัญญาขึ้นไปมีแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อแย่ลง โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.4% จาก 2.5% ในปี 2558 สำหรับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ในปี 2560 ที่ผ่านมามีมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท หรือราว 1 แสนสัญญา จำนวนนี้คาดว่าจะมีการเก็งกำไรราว 15% หรือ 1.5 หมื่นสัญญาเป็นสัญญาที่กู้เป็นสัญญาที่สอง และราคามากกว่า 10 ล้านบาท หรือมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท หากจะมีผล กระทบอาจจะกระทบผู้กู้กลุ่มนี้ ส่วนผู้ที่กู้บ้านหลังแรกหรือสัญญาแรก ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงเกณฑ์แอลทีวีเดิมที่บ้านแนวราบที่ 95% และคอนโดมิเนียมที่ 90% กรณีที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมต้อง ไม่เกิน 100% ของหลักประกัน

          นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาเราไม่ได้แตะเบรกแค่ผ่อนคันเร่งของภาคอสังหาริมทรัพย์ลง เพื่อลดการเก็งกำไรในบ้านหลังที่ 2 เป็นการป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาเกิดจากการสะสมความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาตรการนี้เป็นมาตรการเชิงป้องกัน เพื่อสร้างมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ผู้กู้มีเงินออมก่อนกู้และไม่กู้เกินความจำเป็น ประเมินว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม