ครม.เคาะ4.7แสนล้านลงทุน 4โปรเจคอีอีซี
Loading

ครม.เคาะ4.7แสนล้านลงทุน 4โปรเจคอีอีซี

วันที่ : 31 ตุลาคม 2561
ครม.อนุมัติเอกชนร่วมลงทุน 4 โครงการใหญ่อีอีซี 4.7 แสนล้าน รวมทุกโปรเจค ลงทุน 6.5 แสนล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทน 8 แสนล้านบาท จ้างงานเพิ่ม 4 หมื่นตำแหน่ง "อุตตม" ชี้ออกทีโออาร์ พ.ย.นี้ มั่นใจได้ผู้ชนะประมูล ก.พ. 2562 ปลื้มจีน-ญี่ปุ่นจับมือลงทุนในอีอีซี
          ครม.อนุมัติเอกชนร่วมลงทุน 4 โครงการใหญ่อีอีซี 4.7 แสนล้าน รวมทุกโปรเจค ลงทุน 6.5 แสนล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทน 8 แสนล้านบาท จ้างงานเพิ่ม 4 หมื่นตำแหน่ง "อุตตม" ชี้ออกทีโออาร์ พ.ย.นี้ มั่นใจได้ผู้ชนะประมูล ก.พ. 2562 ปลื้มจีน-ญี่ปุ่นจับมือลงทุนในอีอีซี

          โครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เดินหน้าครบทั้ง 5 โครงการแล้ว หลังจากคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.เชียงรายวานนี้ (30 ต.ค.) เห็นชอบเพิ่ม 4 โครงการ

          นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอให้ ครม.เห็นชอบในหลักการรัฐร่วมทุนเอกชนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 4.7 แสนล้านบาท และหากรวมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา) ที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้ว จะทำให้โครงการลงทุนหลักของอีอีซีครบ 5 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 6.5 แสนล้านบาท

          สำหรับรายละเอียดโครงการในอีอีซีที่ผ่าน ครม.วานนี้ (30 ต.ค.) ทั้ง 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยมีกองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ มีลักษณะโครงการเป็นสนามบินพาณิชย์ที่มี 2 รันเวย์ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนเทียบเท่าสนามบินสุวรรณภูมิ อนุมัติค่าใช้จ่าย โครงการในกรอบวงเงิน 17,768 ล้านบาท ซึ่งกองทัพเรือเป็นผู้เปิดประมูล รวมทั้งให้เช่าที่ดิน 6,500 ไร่ และเอกชน ร่วมลงทุน 2.72 แสนล้านบาท กำหนดระยะเวลาร่วมลงทุน 50 ปี

          2.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โดยมีบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของโครงการ โดยออกแบบให้ลักษณะโครงการเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ เพื่อรองรับเครื่องบินพาณิชย์ที่เข้าซ่อมพร้อมกันได้ 7 ลำ ซึ่งรัฐเป็นผู้ลงทุนสร้างอาคารและเอกชนลงทุนติดตั้งอุปกรณ์วงเงินลงทุนรวม 10,588 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐลงทุน 6,333 ล้านบาท และให้เช่าที่ดิน 210 ไร่ และเอกชนลงทุน 4,255 ล้านบาท ระยะเวลาในการลงทุน 50 ปี

          เอกชนรับความเสี่ยงแหลมฉบัง

          3.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 (เฉพาะในส่วนท่าเรือ F1 และ F2) โดยมีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นเจ้าของโครงการ โดยมีลักษณะโครงการให้ขยายความจุท่าเรือผู้โดยสารจาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี เท่ากับอันดับ 15 ของโลก และกำหนดระยะเวลาร่วมทุน 35 ปี เงินลงทุนรวม 114,047 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนภาครัฐ 53,490 ล้านบาท และเอกชน 60,557 ล้านบาท

          สำหรับโครงการดังกล่าว กำหนดให้ กทท.กู้เงินในส่วนการลงทุน 47,060 ล้านบาท ที่เหลือให้ใช้เงินรายได้ของ กทท. โดย กทท.จะรับผิดชอบ ออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน งานออกแบบการให้บริการและงานซ่อมบำรุงท่าเทียบเรือชายฝั่ง และท่าเรือบริการ ส่วนภาคเอกชนจะดูแลการสร้างท่าเทียบเรือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ โดยเอกชนเป็น ผู้จัดเก็บรายได้ และรับความเสี่ยงจากรายได้

          4.โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งอนุมัติให้การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นเจ้าของโครงการ มีลักษณะโครงการในการพัฒนาให้เป็นท่าเรือที่สามารถรองรับสินค้าเหลวจาก 16 ล้านตันต่อปี เป็น 31 ล้านตันต่อปี โดยจะมีการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนถมทะเล และสร้างสาธารณูปโภค ส่วนเอกชนสร้างท่าเรือและติดตั้งอุปกรณ์ วงเงิน ลงทุนรวม 55,400 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาครัฐ 1.29 หมื่นล้านบาท และ ภาคเอกชนลงทุน 4.25 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 35 ปี

          รัฐลงทุนรวม2แสนล้านบาท

          ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจของทุกโครงการ พบว่า จากมูลค่าการลงทุนของทุกโครงการกว่า 6.5 แสนแบ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐลงทุนเอง 2 แสนล้านบาทที่เหลือเป็นการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่เมื่อ คิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ จะได้มูลค่ารวม 8.2 แสนล้านบาท มีผลตอบแทนทางการเงินสุทธิ 5.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นผลตอบแทนของภาครัฐ 4.5 แสนล้านบาท และภาคเอกชน 1.1 แสนล้านบาท นอกจากนี้โครงการนี้ยังทำให้ เกิดการสร้างงานไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นคน ต่อปี

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่าการที่ ครม.อนุมัติโครงการโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีในวันนี้ทำให้มีการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ในอีอีซีครบแล้ว รวม 5 โครงการวงเงินลงทุนรวมประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีการเปิดขายซองประมูลไปก่อนหน้านี้ และอีก 4 โครงการที่กำลังจะเริ่มขายซองประมูล ได้แก่ ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และมาบตาพุดเฟส 3

          ก.พ.ได้ผู้ชนะทุกโครงการ

          นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบให้ออกทีโออาร์และเปิดให้เอกชนเข้ามาซื้อซองประมูลภายในเดือน พ.ย.และคาดว่าจะคัดเลือกเอกชนผู้ลงทุนในโครงการได้ภายในเดือน ก.พ.2562 โดยคาดว่าเมื่อมีการลงทุนทั้งหมดจะเกิดผลประโยชน์กับประเทศเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท

          "เรื่องที่น่ายินดี คือ การประชุมระหว่างผู้นำจีนกับญี่ปุ่นเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาเกี่ยวกับความร่วมมือที่ทั้ง 2 ประเทศจะมีการลงทุนร่วมกันในประเทศที่ 3 ทั้ง 2 ประเทศได้ตกลงจะลงทุนในไทย โดยเลือกการลงทุนในโครงการอีอีซี เนื่องจากนโยบายที่ชัดเจนและมีความต่อเนื่องทำให้เกิดความมั่นใจในการจะมาลงทุนในโครงการนี้ และโครงการนี้ถือว่าได้เริ่มต้นแล้วต่อไปทุกรัฐบาลที่จะเข้ามาจะต้องเข้ามาสานต่อโครงการนี้" นายอุตตม กล่าว
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ