เคาะ ผังเมืองรวม อีอีซีส.ค.62
Loading

เคาะ ผังเมืองรวม อีอีซีส.ค.62

วันที่ : 17 ตุลาคม 2561
สำนักงานอีอีซีมั่นใจได้ผังเมืองอีอีซี ภายในวันที่ 10 ส.ค. 2562 เผย ภายในเดือน พ.ย.2561 จะเห็นภาพผังเมืองเบื้องต้น คาดจะเพิ่มพื้นที่สีม่วงประมาณ 1.3 หมื่นไร่ ด้านสภาอุตสาหกรรมฯ หนุนมาตรการหนุนเอสเอ็มอีย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมฯ เพื่อป้องกันการเก็งกำไรที่ดิน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
          สำนักงานอีอีซีมั่นใจได้ผังเมืองอีอีซี ภายในวันที่ 10 ส.ค. 2562 เผย ภายในเดือน พ.ย.2561 จะเห็นภาพผังเมืองเบื้องต้น คาดจะเพิ่มพื้นที่สีม่วงประมาณ 1.3 หมื่นไร่ ด้านสภาอุตสาหกรรมฯ หนุนมาตรการหนุนเอสเอ็มอีย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมฯ เพื่อป้องกันการเก็งกำไรที่ดิน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

          นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบนโยบายและแผนภาพรวมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และผังการใช้ที่ดินรวมของอีอีซีแล้วไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2561 หลังจากนั้นไม่เกิน 1 ปี หรือภายในวันที่ 10 ส.ค.2562 ผังเมืองรวมอีอีซีจะต้องแล้วเสร็จ

          นางสาวทัศนีย์ กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ย.2561 จะเห็นภาพร่างผังเมืองอีอีซีในเบื้องต้นออกมา ซึ่งจะมีการนำผังเมืองรวมปัจจุบันไปปรับตามโครงการระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ เช่น ถนน รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รวมทั้งการจัดทำผังเมืองรวมอีอีซี จะต้องมีความเข้มข้นกว่าการทำผังเมืองทั่วไปที่มีอยู่ 5 ระบบ แต่ผังเมืองอีอีซีจะมีถึงเกณฑ์พิจารณาถึง 8 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบสาธารณูปโภค 2.ระบบคมนาคมและขนส่ง 3.ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4.ระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม 5.ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการ 6.ระบบบริหารจัดการน้ำ 7.ระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ และ 8.ระบบป้องกันอุบัติภัย

          ใช้ขั้นตอนปกติทำผังเมืองจังหวัด

          “ภายในวันที่ 10 ส.ค.2562 ผังเมืองอีอีซี แล้วเสร็จก็จะส่งให้ กพอ.พิจารณา จากนั้นก็ส่งไปให้คณะรัฐมาตรี (ครม.) พิจารณา และถ้าหากผ่านความเห็นชอบก็จะมีผลทางกฎหมายบังคับใช้ได้เลย จากนั้นก็จะให้ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา นำผังเมืองอีอีซี ไปจัดทำผังเมืองแต่ละจังหวัดตามขั้นตอนปกติต่อไป ส่วนในขณะนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำผังเมืองรวมอีอีซีก็จะต้องใช้ผังเมืองรวมเดิมไปพลางก่อน”

          ส่วนการเพิ่มพื้นที่สีม่วงสำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้น ตามแผนระยะยาวของอีอีซี ภายใน 15 ปี จะต้องเตรียมพื้นที่อุตสาหกรรมประมาณ 1.5 แสนไร่ โดยในระยะแรก 5 ปี จะต้องมีพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมให้ได้ 50,000 ไร่ ซึ่งในปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 31 แห่งภายในพื้นที่อีอีซีมีพื้นที่สีม่วงประมาณ 37,000 ไร่ จะต้องขยายพื้นที่สีม่วงเพิ่มเติมอีกประมาณ 13,000 ไร่ แต่การประเมินเบื้องต้นคาดว่าความต้องการพื้นที่น่าจะน้อยกว่าที่ประเมินไว้ เพราะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงสมัยใหม่ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างโรงงานไม่มาก

          นอกจากนี้ การเพิ่มพื้นที่สีม่วงสำหรับอุตสาหกรรมจะขยายในพื้นที่นิคมอุตฯเดิมที่เป็นเขตอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เพื่อให้พื้นที่อุตสาหกรรมอยู่รวมกันไม่กระจายไปทั่วแบบในอดีต ซึ่งจะช่วยในเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

          เปิดช่องอนุมัติเพิ่มเขตส่งเสริมอุตฯ

          นางสาวทัศนีย์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่อีอีซี ต้องการให้เปลี่ยนผังเมืองให้พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีอยู่หนาแน่นให้เป็นพื้นที่สีม่วงสำหรับอุตสาหกรรม เพื่อที่จะขยายกิจการได้ ซึ่งในเรื่องนี้มองว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรจะย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม หรือรวมกลุ่มตั้งนิคมอุตสาหกรรมของตัวเองขึ้นมา เพราะการเข้าไปอยู่รวมกันในนิคมอุตสาหกรรม จะทำให้มีการจัดการที่เป็นระเบียบ รวมทั้งภาครัฐสามารถเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสารสนเทศได้อย่างคุ้มค่า และเข้าไปให้การส่งเสริมด้านต่างๆ ได้สะดวก และมีระบบจัดการมลพิษน้ำเสีย และขยะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในต่างประเทศเอสเอ็มอีก็ต้องย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเพราะอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมจะไม่มีใครดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม

          ส่วนการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมขึ้นเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในพื้นที่อีอีซีนั้น ขณะนี้มีเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมอยู่ 21 แห่ง จากทั้งหมด 32 นิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์การยกระดับขึ้นเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม เนื่องจากหลังจากที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลบังคับใช้ จะต้องจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะมีความรอบคอบมากกว่าเดิมเพราะจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยรอบด้วย และมีระเบียบต่างๆ ที่ชัดเจนกว่าเดิม

          นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเห็นด้วยกับภาครัฐที่จะสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าไปตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เพราะการจัดทำผังเมืองรวมจะต้องมีการรวมกลุ่มของพื้นที่อุตสาหกรรมที่ชัดเจน และจะปล่อยให้ตั้งโรงงานแบบตามใจไม่ได้ เพื่อให้มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญจะเป็นการป้องกันการเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งผู้ประกอบการเห็นด้วยในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งในปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมต่างๆใน อีอีซี ก็มีพื้นที่เพียงพอรองรับภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

          เอกชนหนุนตั้งนิคมฯเอสเอ็มอี

          ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการต้องการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และเห็นว่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่เพียงพอ หรือไม่ตรงกับความต้องการ ก็สามารถยื่นขอต่อภาครัฐในการให้ยกระดับพื้นที่ที่จะพัฒนาให้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ และได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเต็มที่หากมีเหตุผลที่เพียงพอว่าทำไมต้องใช้ที่ดินส่วนนี้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และโครงการที่ลงทุนจะเกิดประโยชน์ต่ออีอีซีหรือประเทศอย่างไร ซึ่ง สกอพ.จะพิจารณาอนุมัติให้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นรายๆ ไป

          นายชาญกฤช กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มเอสเอ็มอีอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่ ซึ่งจะพิจารณาใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.มาตรการการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หากมีสิทธิประโยชน์ที่จูงในพอก็จะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น 2.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเมกะโปเจคว่าจะเกิดขึ้นจริงตามที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจในอีอีซี 3.จะมีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากมีธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็ต้องตามเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ดังกล่าว
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ