เอกชนหนุนเลื่อนภาษีที่ดิน
Loading

เอกชนหนุนเลื่อนภาษีที่ดิน

วันที่ : 16 ตุลาคม 2561
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเป็นกฎหมายที่กระทรวงการคลังใช้ความพยายามมานานเกือบ 30 ปี ผ่านมาถึง 12 รัฐบาลก็ยังไม่สามารถคลอดกฎหมายนี้ และล่าสุดมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อโยนให้รัฐบาลชุดใหม่ เป็นผู้พิจารณา
          ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเป็นกฎหมายที่กระทรวงการคลังใช้ความพยายามมานานเกือบ 30 ปี ผ่านมาถึง 12 รัฐบาลก็ยังไม่สามารถคลอดกฎหมายนี้ และล่าสุดมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อโยนให้รัฐบาลชุดใหม่ เป็นผู้พิจารณา

          แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่าจะแก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการผลักดันออกกฎหมายเก็บภาษีทรัพย์สิน ทั้งภาษีผู้รับมรดกและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

          แม้ว่าร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 1 และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมา ธิการดูรายละเอียดกันเป็นรายมาตรา โดยมี วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง รับหน้าที่เป็นประธานกรรมาธิการผลักดันกฎหมายนี้อย่างเต็มตัว โดยตั้งเป้าจะให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 แต่ก็ประกาศเลื่อนเป็นปี 2563 และตอนนี้ก็ไม่รู้จะเลื่อนไปนานแค่ไหน เพราะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่มาฟันธง

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ สนับสนุนการออก พ.ร.บ.เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญในการเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จะเป็นผู้เก็บภาษีตัวนี้ ไม่ใช่รัฐบาลกลางเป็นผู้เก็บ นอกจากนี้ยังเป็นกฎหมายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและ สังคมของประเทศ ทำให้มีการกระจายใช้ประโยชน์จากที่ดินเพิ่มมากขึ้น

          ทั้งนี้ จากการประเมินของ อปท. จะต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้เสียก่อน ถึงจะมีอำนาจในการเข้าไปสำรวจการใช้ที่ดินจริงของประชาชนว่า ใช้เพื่อการเกษตร ที่อยู่อาศัย เพื่อการพาณิชย์ หรือรกร้างว่างเปล่า เพื่อเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวคาดว่าจะต้องใช้เวลา 6-7 เดือน ถึงจะเสร็จทั้งหมดทั่วประเทศ

          สำหรับสาระสำคัญของการเปลี่ยน แปลงกฎหมาย ทางคณะกรรมาธิการได้มีการปรับลดอัตราเพดานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงหมดทุกประเภทถึง 40% จากมติเดิมที่ ครม.เห็นชอบไว้ก่อน หน้านี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร ผู้มีบ้านอาศัย รวมทั้งผู้ประกอบการเพื่อการพาณิชย์

          ทั้งนี้ อัตราเพดานภาษีใหม่ประกอบด้วยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกษตรกรรมให้ลดจาก 0.2% เหลือ 0.15% ที่อยู่อาศัยลดจาก 0.5% เหลือ 0.3% อื่นๆ นอกเหนือจากเกษตรและที่อยู่อาศัย ลดจาก 2% เหลือ 1.2% และที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์ ลดจาก 2% เพิ่มขึ้นอีก 0.5% ทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 5% ให้ลดเหลือ 1.2% เพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 3%

          นอกจากนี้ อัตราภาษีที่จัดเก็บจริงใน 2 ปีแรกก็จะเป็นอัตราที่ต่ำมาก เพื่อให้ผู้เสียภาษีได้ปรับตัว มีการกำหนดยกเว้นภาษี เช่น ภาษีที่อยู่อาศัยในส่วนมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาทแรกไม่เสีย และภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาทแรกไม่ต้องเสีย เป็นต้น

          ขณะเดียวกันยังได้มีการยกเว้นที่ดินเพื่อการพาณิชย์บางประเภท เช่น ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ อย่างเขตปลอดการบิน เขตปลอดภัยของรถไฟ รวมถึงโรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัย สนามกีฬา ซึ่งจะได้เพดานลดถึง 90% เพื่อไม่ให้ ผู้ประกอบการมีภาระภาษีมากเกินไปจนไปผลักภาระให้ประชาชนผู้ใช้บริการ

          ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรที่รวมกลุ่มทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึง สนช. ให้ทบทวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเห็นว่ากฎหมายยังไม่มีความชัดเจนจะทำให้ผู้เสียภาษีได้รับผลกระทบ

          อิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนประกาศใช้จริง ซึ่งมีหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการประเมินภาษีควรแยกประเมินระหว่าง "ที่ดิน" กับ "สิ่งปลูกสร้าง" ทุกประเภท เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นอัตราก้าวหน้า

          ขณะที่วิธีจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ที่มี แนวคิดว่า หากเป็นบุคคลให้เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มูลค่าที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากนิติบุคคลให้เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่เกิน 50 ล้านบาท จะต้องเสียภาษี รวมถึง ข้อกำหนดที่ว่า บุคคลให้เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ยังถือว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ให้คิดอัตราภาษีแบบเกษตรกรรม แต่หากบุคคลให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เป็นพาณิชยกรรม จะต้องเสียภาษีต่างกัน 15 เท่า เช่น บ้าน หรืออพาร์ตเมนต์ให้เช่า มูลค่า 20 ล้านบาท หากพิจารณาเป็นที่อยู่อาศัยหลัง ที่ 2 จะเก็บในอัตรา 0.02% = 4,000 บาท แต่หากเป็นในอัตราพาณิชยกรรมจะ เสีย 0.3% คือเก็บในอัตรา 6 หมื่นบาท/ปี จะเห็นว่าวิธีจัดเก็บภาษีไม่ชัดเจนว่าจะจัดเก็บโดยยึดหลักการใช้ประโยชน์หรือยึดที่ความเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ เป็นต้น

          นอกจากนี้ ที่ดินว่างเปล่าในเขตเมือง ราคาประเมินสูง ใช้เป็นซิตี้ฟาร์มหรือจัดเป็นสวนหย่อม จะเข้าข่ายไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพหรือไม่ เพราะหากคิดอัตราภาษีเป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือตีความว่าไม่ทำประโยชน์ตามควร แก่สภาพจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสุด ซึ่งทำให้ไม่สามารถรักษาพื้นที่สีเขียวในเมืองไว้ได้
 
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ