ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 2 ปี 2567
Loading

ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 2 ปี 2567

วันที่ : 15 กรกฎาคม 2567
รายงานดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับ 139.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 (QoQ) และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับ 139.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 (QoQ) และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งแสดงว่า ราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ยังอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในไตรมาสนี้มีการปรับตัวขึ้นไม่มาก

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นนั้นมาจากค่าตอบแทนในหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในหมวดงานสถาปัตยกรรมร้อยละ 5.8 ลองลงมาคือ ในหมวดงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ในขณะที่หมวดงานวิศวกรรมโครงสร้าง คงที่ที่ร้อยละ 0.0 และหมวดงานระบบสุขาภิบาลลดลงร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

หมวดราคาวัสดุก่อสร้างเกือบทุกประเภทปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท โดยหมวด ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นผลมาจากราคาของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น และบานประตู ที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งค่าดำเนินการและค่าขนส่ง อีกทั้งมีอุปทานที่จำกัดและความต้องการใช้ในการก่อสร้างภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่เป็นโครงการต่อเนื่อง รวมทั้งภาคเอกชนที่มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาไม้และผลิตภัณฑ์ไม้โดยรวมในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้น

รองลงมาได้แก่หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากราคาวัตถุดิบหลักในการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์กระเบื้อง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 และ 0.6 ตามลำดับ โดยมีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดสุขภัณฑ์ ที่ปรับลดลงร้อยละ -4.7 -2.5 และ -0.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ส่วนหมวดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากการประกาศปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 (ดูแผนภูมิที่ 1 - 2)...
สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่