อสังหาฯผวาเอฟเฟ็กต์แอลทีวี
Loading

อสังหาฯผวาเอฟเฟ็กต์แอลทีวี

วันที่ : 25 พฤศจิกายน 2565
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า อยากให้แบงก์ชาติพิจารณาขยายมาตรการ LTV ออกไปถึงสิ้นปี 2566 พร้อมกับขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% เพราะตลาดอสังหาฯเพิ่งฟื้นตัวหลังโควิด การมีแรงส่งจาก LTV ให้สามารถกู้ได้ 100% จะทำให้ตลาดสมูทมากขึ้น
          ทุบตลาดปี'66เลวสุดหดตัว11%

          หวังขยายอีกปีช่วยพยุงยอดโอน

          ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเปิดผลกระทบแบงก์ชาติ เลิกผ่อนปรน LTV ทุบตลาดที่อยู่อาศัยทั้งบ้านใหม่และมือสอง อาจเห็นการหดตัว 11% เปิดใหม่แค่ 9.8 หมื่นหน่วย ยอดโอนวูบ 14.2% แนะขยายอีก 1 ปี แถมมาตรการลดค่าโอน-จำนอง ชี้ปี'66 ปัจจัยรุมเร้าอีกเพียบ

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 2566 จะได้รับแรงกดดันจากการไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการเงินดาวน์ขั้นต่ำในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2566 คาดว่าดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวลดลง 1.1% จากปี 2565 และลดลง 11% กรณีเลวร้ายสุด เนื่องจากการไม่ต่อมาตรการ LTV ทำให้ผู้ประกอบการชะลอเปิดโครงการใหม่และตลาดไม่ขยายตัวเทียบปี 2565 โดยคาดการณ์ไม่ต่อมาตรการ LTV จะมีการได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน 79,909 หน่วย เพิ่มขึ้น 3.5% เปิดตัวใหม่ 98,581 หน่วย เพิ่มขึ้น 1.8% มูลค่า 513,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร 294,019 หน่วย ลดลง 5.5% มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน 91,615 หน่วย ลดลง 0.1% มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ 320,227 หน่วย ลดลง 14.2% มูลค่า 953,404 ล้านบาท ลดลง 4.4% และมีสินเชื่อปล่อยใหม่ 614,764 ล้านบาท ลดลง 4%

          นายวิชัยกล่าวว่า กรณีมีผ่อนปรนมาตรการ LTV จะมีรับใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน 87,972 หน่วย เพิ่มขึ้น 13.9% เปิดตัวใหม่ 100,307 หน่วย เพิ่มขึ้น 3.6% มูลค่า 561,850 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร 319,367 หน่วย เพิ่มขึ้น 2.7% มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน 95,984 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.6% มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ 392,057 หน่วย เพิ่มขึ้น 5% มูลค่ากว่า 1.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% และมีสินเชื่อปล่อยใหม่ 640,400 ล้านบาท ติดลบ 0.04%

          "อยากให้แบงก์ชาติพิจารณาขยายมาตรการ LTV ออกไปถึงสิ้นปี 2566 พร้อมกับขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% เพราะตลาดอสังหาฯเพิ่งฟื้นตัวหลังโควิด การมีแรงส่งจาก LTV ให้สามารถกู้ได้ 100% จะทำให้ตลาดสมูทมากขึ้น ขณะที่การเก็งกำไรตามที่แบงก์ชาติกังวล คงมีไม่มาก เพราะเป็นการซื้อเพื่อการลงทุนมากกว่า โดยมองว่าปีหน้าตลาดอสังหาฯยังน่าลงทุน แต่ห่วงเอฟเฟ็กต์ LTV ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์อาจชะลอตัว ทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง ที่ส่วนใหญ่ซื้อกันในปี 2564-65 และรอโอนปี 2566" นายวิชัยกล่าว

          นายวิชัยกล่าวว่า ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2565 มีออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน 77,221 หน่วย เพิ่มขึ้น 12.7% เปิดตัวใหม่เฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล 96,803 หน่วย เพิ่มขึ้น 87.9% มูลค่า 508,264 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132.1% เป็นแนวราบ 49,492 หน่วย มูลค่า 336,008 ล้านบาท อาคารชุด 47,311 หน่วย มูลค่า 172,256 ล้านบาท และมีการออกใบอนุญาตก่อสร้าง 310,976 หน่วย เป็นแนวราบ 264,031 หน่วย อาคารชุด 46,945 หน่วย มีการโอนกรรมสิทธิ์ 373,253 หน่วย เพิ่มขึ้น 8.59% มูลค่า 997,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.61% เป็นแนวราบ 279,447 หน่วย และอาคารชุด 93,806 หน่วย

          "ปีหน้าแรงกดดันต่อตลาดอสังหาฯ ยังมีภาวะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% แบงก์เข้มงวดปล่อยกู้ ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเข้าถึงสินเชื่อยาก ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาที่อยู่อาศัยยังปรับตัวตามต้นทุนก่อสร้างเพิ่ม 10% เศรษฐกิจยังไม่ฟ้นเต็มที่" นายวิชัยกล่าว