ความเชื่อมั่น บ.อสังหาฯ ลด
Loading

ความเชื่อมั่น บ.อสังหาฯ ลด

วันที่ : 12 กรกฎาคม 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผย การแพร่ระบาดของ COVID-19 ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอสังหาฯ ทรุด
          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ–ปริมณฑล ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นจะเท่ากับ 50.5 จุด ลดลงอย่างชัดเจนจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 58.8 จุด แม้ว่าค่าดัชนียังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด

          โดยค่าดัชนีที่ลดลงในทุกปัจจัย สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าในเชิงบวกเล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นเหตุผลจากการที่รัฐบาลได้ประกาศแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งหากสามารถทำได้ตามแผนดังกล่าวก็จะทำให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องของการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในปัจจุบัน

          ทั้งนี้ เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการตามประเภทบริษัท พบว่ากลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Companies) มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 55.7 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 63.6 จุด แม้ว่าก็ยังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด แต่จะเห็นได้ว่ามีการลดลงอย่างมากในทุกปัจจัย

          ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (Non-listed Companies) มีค่าดัชนีเท่ากับ 42.7 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 51.5 จุด โดยมีการลดลงอย่างมากในทุกปัจจัย และจะเห็นได้อย่างชัดว่าผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ขาดความเชื่อมั่นในธุรกิจในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า ในระดับที่มากกว่าผู้ประกอบการกลุ่มบริษัทมหาชน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความเสียเปรียบในด้านเงินลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ หรือขยายเฟสใหม่ และความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่มีต่อชื่อเสียงของบริษัทมหาชน ซึ่งมีผลต่อโอกาสและการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

          นายวิชัย กล่าวอีกว่า จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในช่วงไตรมาส 2/2564 ยังต่ำกว่าระดับ 50 จุด โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 2/2562 จนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นจากการบังคับใช้มาตรการควบคุม LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาส 2/2562 ต่อมาในปี 2563 ประเทศไทยต้องประสบกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ทั้งในด้านอุปสงค์ (ความต้องการ) และอุปทาน (สินค้า)

          โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ จนมาถึงไตรมาส 2/2564 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้มีการฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และมีผลทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีความกังวลต่อผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต