VMPCประเมินสถานการณ์หลังวิกฤตโควิด-19 อสังหาฯอ่วมข้ามปีส่งออกอาหารพระเอกกู้เศรษฐกิจ
Loading

VMPCประเมินสถานการณ์หลังวิกฤตโควิด-19 อสังหาฯอ่วมข้ามปีส่งออกอาหารพระเอกกู้เศรษฐกิจ

วันที่ : 13 พฤษภาคม 2563
VMPC เปิดเผย อสังหาฯ ซึมยาวข้ามปี
          บิ๊ก VMPC วิเคราะห์ โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจหนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ระยะสั้นกว่า เชื่ออสังหาริมทรัพย์อ่วมข้ามปี จี้รัฐใช้นโยบายพิเศษกระตุ้นตลาดอสังหาฯ แนะผู้ประกอบการสร้างวินัยทางการเงิน กำเงินสำรองประคองธุรกิจในภาวะฉุกเฉิน ฟันธงส่งออกอาหาร-สินค้าเกษตรเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

          นายปริญญา เธียรวร ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บริษัท วี. เอ็ม. พี. ซี. จำกัด (VMPC) เปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบสถานการณ์ COVID-19 กับวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ปี 2540 หรือเรียกกันว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ถือว่าวิกฤต COVID-19 หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่เนื่องจากรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่และทันท่วงที ด้วยการใช้วิธีการเพิ่มกระแสเงินสด (Cash flow) ให้เกิดการหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ พร้อมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากสถานบันการเงิน  เช่น พักชำระหนี้เงินต้น ลดดอกเบี้ย เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการให้ประคองธุรกิจต่อไปได้

          "วิกฤตรอบนี้อยู่ในระดับที่เรียกว่า "หนักกว่า แต่ไม่นาน" คือโดนหมัดเดียว ถ้าไม่น็อกลุกขึ้นมาก็ยังเดินต่อไปได้ โดยขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและวินัยทางการเงินของแต่ละบริษัท แตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่ "หนักและนาน" ลากยาว 8-9 ปี เหมือนโดนหมัดชุดชกจนน็อค" นายปริญญา กล่าว

          COVID-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ปิดประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือโรงแรม ซึ่งหลังจากวิกฤต COVID-19 คาดว่าการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมอาจจะต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมและจัดการกับ COVID-19 ได้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมฟื้นตัว โดยอาจเริ่มจากนักท่องเที่ยวในประเทศและตามด้วยนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

          ในช่วงที่ผ่านการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยการท่องเที่ยวเดินเครื่องเต็มกำลังมาหลายปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังเดินเครื่อง ไม่เต็มกำลัง แต่เมื่อการท่องเที่ยวต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากการสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาลให้กับนักท่องเที่ยว ดังนั้น การส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังจากนี้  โดยได้รับอานิสงส์จากความวิตกกังวลทำให้คนกักตุนอาหาร การบริโภคเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารได้รับประโยชน์ และถือเป็นยุคทองของการส่งออกอาหารและการเกษตร ส่วนปัญหาภัยแล้งในปี 2563 ที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะรุนแรงนั้น รัฐบาลต้องหาทางบริหารจัดการให้เกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และผลผลิตมีเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ ถ้าผลผลิตเหลือจึงส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

          "อสังหาฯ" ซึมยาวข้ามปี

          นายปริญญา กล่าวว่า สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังอยู่ในภาวะขาลงหรือซบเซาต่อเนื่องไปถึงปี 2564 จากเดิมที่มีปัจจัยลบต่างๆ รุมเร้า ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อ ภาระหนี้ครัวเรือนสูง การบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และล่าสุดวิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นใจและกำลังซื้อของผู้บริโภค การชะลอตัวของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แย่ลงอีก และเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ จะได้เห็นการปรับลดราคาอสังหาริมทรัพย์ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สงครามราคาจะเกิดขึ้น แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อนำเงินสดมาหมุนเวียนใช้ภายในบริษัท ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวเร็วขึ้น ต้องใช้นโยบายพิเศษ เช่น การอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านและที่ดิน

          นายปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ COVID-19 เป็นวิกฤตจากโรคระบาด ไม่ได้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโดยตรง แต่ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างรวดเร็วมาก มีการปิดประเทศ ทั่วโลก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทำให้เห็นว่าเหตุการณ์ ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้น การสร้างวินัยทางการเงินถือเป็นเรื่องจำเป็น การเตรียมเงินสำรองไว้หล่อเลี้ยงธุรกิจ มีก๊อก 2 ก๊อก 3 ไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจะสร้างความได้เปรียบและสามารถยืนหยัดอยู่ได้  แต่หากไม่มีเงินหมุนเวียนอาจจะต้องปิดหรือขายกิจการ รวมไปถึงการบริหารธุรกิจที่สามารถปรับเปลี่ยนบริการให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เช่น ธุรกิจอสังหาฯ ประเภทที่พักและโรงแรมที่สามารถรองรับผู้เข้าพักได้ทั้ง Long stay และ Short time เป็นต้น

          "สถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน แต่ส่งผลกระทบเร็วมากบล็อกเศรษฐกิจทั่วโลกเลย และต้องใช้เวลาอีกเป็นปีๆ กว่าจะฟื้นเต็มที่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจต้อง Conservative พอสมควรต้องบริหารจัดการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบด้านการลงทุน เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น เราจะพร้อมที่จะรับมือและไปต่อได้ ในภาวะเช่นนี้เชื่อว่าไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะทำอย่างไรให้เราบาดเจ็บน้อยที่สุด และยังสามารถพยุงธุรกิจต่อไปได้จนสามารถไปสู่ภาวะปกติ" นายปริญญา กล่าว
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ