ธปท. ปิดประตูตาย LTV ชี้เหมาะสมไม่ผ่อนเกณฑ์
Loading

ธปท. ปิดประตูตาย LTV ชี้เหมาะสมไม่ผ่อนเกณฑ์

วันที่ : 24 กุมภาพันธ์ 2567
ธปท.ปิดประตู ผ่อนเกณฑ์ LTV กระตุ้นภาคอสังหาฯ ชี้เกณฑ์ปัจจุบันเหมาะสม ชี้เกือบ 90% ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยไม่ได้ติดเกณฑ์ LTV แถมเกณฑ์ยังผ่อนปรนเมื่อเทียบต่างประเทศ เชื่อตลาดอสังหาฯยังโตได้ ผ่อนเกณฑ์เพิ่มเติมอาจกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน
         เชื่ออสังหาฯ ฟื้นได้

         บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ระบุว่า ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยบนฐานของเครดิตบูโร ณ เดือนธันวาคม 2566 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 4.99 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 4.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 37% ของยอดหนี้ครัวเรือนที่ 13.68 ล้านล้านบาท

       โดยเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) หรือ NPL ทั้งสิ้น 1.8 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 7.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นเอ็นพีแอลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสิ้น 5.89 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 28.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดทั้งสิ้น 4.58 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวยังมีหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วันหรือหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) 1.78 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 31.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1.36 แสนล้านบาท

      "หนี้เสียจากสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้น เพราะผู้ซื้อระดับล่างเริ่มผ่อนบ้านไม่ไหวจากปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้น โดยประมาณ 60-70%ของหนี้ที่กำลังจะเสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท มีปัญหามาจากคนที่ผ่อนบ้านราคาไม่เกิน3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง" เครดิตบูโรระบุ

       ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ผ่านกระทรวงการคลังที่ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) แต่ดูท่าว่าจะถูกปิดประตูตายไปแล้ว เมื่อมีการเปิดเผยรางานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่มีมติ 5:2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ได้มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์ LTV ด้วย

     ทั้งนี้ กนง.ได้พิจารณาเกณฑ์ LTV แล้วเห็นว่า เกณฑ์ของไทยในปัจจุบันมีความเหมาะสม ดังนั้นข้อเสนอให้พิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ LTV อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและไม่คุ้มกับ ประโยชน์ที่ได้จากการกระตุ้นการซื้อขายในระยะสั้น เนื่องจากเกณฑ์ LTV ปัจจุบันไม่ได้เป็น อุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนส่วนใหญ่ โดยจากข้อมูลพบว่าเกือบ 90% ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยไม่ได้ติดเกณฑ์ LTV และสามารถได้รับวงเงินกู้ที่ 100% อยู่แล้ว

      นอกจากนี้ เกณฑ์ LTV ปัจจุบัน ของไทยที่ 90-100% สำหรับสัญญาแรกมีความผ่อนปรนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อาทิ เกณฑ์ LTV ของเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์อยู่ที่ 50-70%, 75% และ 80% ตามลำดับ

      ขณะที่ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังสามารถเติบโตได้ โดยยอดขายยังเพิ่มขึ้นสะท้อนจากจำนวนการโอน กรรมสิทธิ์ ในขณะที่อุปทานฟื้นตัวสะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังสะท้อนมุมมองการขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

      ดังนั้น การผ่อน ปรนเกณฑ์ LTV เพิ่มเติมอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ผ่านการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยบางกลุ่มปรับสูงขึ้น ผู้กู้บางรายอาจก่อหนี้เกินตัว อีกทั้งกระบวนการลดหนี้ (deleveraging) ที่เริ่มมีความคืบหน้าไปบ้างอาจถูกกระทบ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสร้างความเปราะบางให้กับระบบการเงินในระยะยาว

      ขณะเดียวกัน นายสุพริศร์ สุวรรณิก หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้เผยแพร่บทความเรื่อง "หนี้ครัวเรือนส่งผลอย่างไรต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ" ระบุถึงผลกระทบของหนี้ครัวเรือนว่า หากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลง ในขณะที่การก่อหนี้เร่งตัวมากขึ้น และเร็วกว่ารายได้ อาจก่อให้เกิดหนี้เสียลามไปทั้งระบบเศรษฐกิจ เปรียบเหมือน "ระเบิดเวลา" ที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

       ผลกระทบของหนี้ครัวเรือนแบ่งออกเป็น 2 ช่องทางคือ 1. ช่องทางระดับหนี้ (debt level channel) ซึ่งมักสะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หรือ debt ratio โดยระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ครัวเรือนสามารถอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นได้ และส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมสูงขึ้นผ่านการบริโภคภาคเอกชนที่มากขึ้น

      2. ช่องทางภาระหนี้ (debt service channel) ซึ่งมักสะท้อนจากสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ครัวเรือน หรือ debt service ratio โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับภาระหนี้ที่ต้องชำระคืน มีผลให้ครัวเรือนต้องนำรายได้มาใช้คืนหนี้ที่ก่อนั้น แทนที่จะสามารถนำรายได้ไปใช้อุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการต้องลดการอุปโภคบริโภคในสินค้าจำเป็นหรือสินค้าไม่คงทน ซึ่งมักมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการบริโภคทั้งหมด และจะส่งผลทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

     นั่นหมายความว่า ผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะให้ผลทางบวกในระยะสั้น แต่กลับส่งผลทางลบในระยะยาว ดังนั้นผู้ดำเนินนโยบายจึงจำเป็นต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักให้ดี หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายที่เอื้อต่อการก่อหนี้ใหม่ของภาคครัวเรือน

      ทั้งนี้ ผลงานวิจัย Muthitacharoen et al. (2015) ได้ศึกษาข้อมูลของประเทศไทยระหว่างปี 2009-2013 พบว่า การเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อการบริโภคสินค้าไม่คงทนของครัวเรือน โดยครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูงขึ้น จะทำให้การบริโภคยิ่งลดลง

      สอดคล้องกับงานวิจัย Suwanik & Peerawattanachart (2018) ที่เป็นการศึกษาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยระหว่างปี 2000-2017 พบว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่งผลทางบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่หากถึงจุดที่ครัวเรือนไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ มักเกิดขึ้นในระยะเวลาเกิน 4 ปีขึ้นไป จะส่งผลทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยภาระหนี้ที่ต้องใช้คืนของครัวเรือน (debt overhang) เป็นสำคัญ