รอมา25ปีคาดชงครม.ต้นปีหน้า รถไฟฟ้าเชียงใหม่สายสีแดง3หมื่นล.
Loading

รอมา25ปีคาดชงครม.ต้นปีหน้า รถไฟฟ้าเชียงใหม่สายสีแดง3หมื่นล.

วันที่ : 2 สิงหาคม 2562
รฟม.เริ่มเดินเครื่องโครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่สายแรก ตั้งแต่โรงพยาบาลนครพิงค์-แม่เหียะ 12 สถานี-12 กม.เศษ วงเงินลงทุนราว 3 หมื่นล้าน คาดชง ครม.ได้ต้นปี 63 ระดมทุนท้องถิ่นร่วมสร้างได้ปี 64 เสร็จปี 70
          รฟม.เริ่มเดินเครื่องโครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่สายแรก ตั้งแต่โรงพยาบาลนครพิงค์-แม่เหียะ 12 สถานี-12 กม.เศษ วงเงินลงทุนราว 3 หมื่นล้าน คาดชง ครม.ได้ต้นปี 63 ระดมทุนท้องถิ่นร่วมสร้างได้ปี 64 เสร็จปี 70

          การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อ.เมืองเชียงใหม่

          ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ แผนการดำเนินงาน แนวคิดการออกแบบรูปแบบโครงการ แนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบข้อมูลพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงโครงการต่อไป

          ตามผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า โครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งผสมระดับใต้ดินและระดับดิน มีแนวเส้นทางตามแนวเหนือ-ใต้ รวมระยะทางประมาณ 12.5 กิโลเมตร

          ทั้งนี้ มีสถานีจำนวน 12 สถานี คือ สถานี โรงพยาบาลนครพิงค์, ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่, สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี, ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ, หนองฮ่อ, ข่วงสิงห์, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, ช้างเผือก, สวนดอก, หายยา, ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และแม่เหียะสมานสามัคคี (ยกระดับ 6 สถานี และใต้ดิน 6 สถานี)

          นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ได้เริ่มดำเนินการศึกษามาราว 2 เดือนแล้ว คาดว่าจะนำเสนอโครงการเข้า ครม.ได้ราวต้นปี 2563 จะเริ่มก่อสร้างได้ราวปี 2564 แล้วเสร็จในปี 2570 ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 7 ปี

          โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ระยะทาง 12.5 กิโลเมตร จะใช้เงินลงทุน ราว 30,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในรูปแบบ PPP ในสัดส่วนรัฐ 80% เอกชน 20% ซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มทุนในท้องถิ่นที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมโครงการและส่งเสริมให้โครงการมีศักยภาพ

          ด้านนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ กล่าวว่า อบจ.เชียงใหม่จะเป็นผู้นำในการชักชวนกลุ่มทุนในเชียงใหม่ให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการมีระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ในสัดส่วนการลงทุน 20% หรือราว 6,000 ล้านบาท จากมูลค่าการลงทุนโครงการทั้งหมด 30,000 ล้านบาท

          ขณะนี้มีกลุ่มทุนไม่ต่ำกว่า 10 รายให้ความสนใจ เช่น กลุ่มทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มนิยมพานิช และเร็วๆนี้ อบจ.เชียงใหม่จะร่วมกับ รฟม.จัดดินเนอร์ทอล์กเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อเชิญชวนนักธุรกิจหรือกลุ่มทุนในจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมลงทุน

          นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานบริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมือง ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า โครงการนี้คนเชียงใหม่รอมา 25 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2537 การทางพิเศษศึกษาครั้งแรก เป็นระบบ LRT4 เส้นทาง 27.4 กม. วงเงินลงทุน 38,875 ล้านบาท, ปี 2550 สนข.ศึกษาครั้งที่ 2 เป็นระบบ BRT 4 เส้นทาง รวม 246.25 กม. วงเงินลงทุน 3,870 ล้านบาท กระทั่งเกิดปฏิรูปการปกครองโดย คมช.

          ต่อมาปี 2558 สนง.พิงคนคร ก็ศึกษาครั้งที่ 3 ได้ระบบ Tram 4 เส้นทาง 136 กม. มูลค่าการลงทุน 35,000 ล้าน และล่าสุดปี 2560 สนข.ดำเนินการศึกษา-สรุปเป็น LRT 3 เส้นทาง 35 กม. รวมวงเงินทุน 86,000 ล้านบาท แต่ ครม.อนุมัติเส้นสีแดงก่อน ระยะทาง 12.54 กม. วงเงิน 24,000 ล้านบาท

          นายณรงค์ย้ำว่า คราวนี้น่าจะเกิดได้จริงเพราะได้บริษัทที่ปรึกษาที่ต้องออกแบบพิมพ์เขียวเพื่อก่อสร้างและต้องทำแผนการลงทุนแบบรัฐร่วมเอกชน (PPP) เพื่อต้นปีหน้าประกาศเชิญชวนให้มีเอกชน และ/หรือ อปท.ท้องถิ่นมาร่วมลงทุนกับ รฟม.ที่เป็นเจ้าภาพหลักจดทะเบียนเป็นบริษัทสหการได้.
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ