ทรัพย์สินจุฬาฯ เทงบ 2 พันล้าน ผุดมัลติยูส
Loading

ทรัพย์สินจุฬาฯ เทงบ 2 พันล้าน ผุดมัลติยูส

วันที่ : 24 ธันวาคม 2561
สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ กางแผนปี 62 ทุ่ม 2 พันล้าน งัดที่ดินกว่า 300 ไร่ ผุดออฟฟิศ 5 ตึก เอาใจสตาร์ทอัพเทคโนโลยี นักสร้างสรรค์ พร้อมลุยบิ๊กโปรเจคอาคารมัลติยูส 25 ชั้น เติมเต็มอสังหาฯ 2 ฝั่งสยามสแควร์
        สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ กางแผนปี 62  ทุ่ม 2 พันล้าน งัดที่ดินกว่า 300 ไร่ ผุดออฟฟิศ 5 ตึก เอาใจสตาร์ทอัพเทคโนโลยี นักสร้างสรรค์ พร้อมลุยบิ๊กโปรเจคอาคารมัลติยูส 25 ชั้น เติมเต็มอสังหาฯ 2 ฝั่งสยามสแควร์

          นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม ในฐานะผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(พีเอ็มซียู) เปิดเผยว่า แนวทางการนำที่ดินมาพัฒนาในปี 2562 จะให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่ามากขึ้น สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในสังคม รองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

          ขณะเดียวกัน การพัฒนาพื้นที่จะไม่เน้นสร้างโครงการขึ้นมาก่อนแล้วปล่อยเช่าภายหลัง  โดยจะให้เอกชนคิดโครงการตามศักยภาพของพื้นที่ แต่จะต้องมีคาแร็กเตอร์ ที่ชัดเจนเหมือนย่านสยามสแควร์ และสามย่าน เพื่อตอบโจทย์การสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับสังคมอย่างแท้จริง ส่วนแนวทางการสร้างรายได้ยังมีความจำเป็นต้องควบคู่กันไปด้วย

          ทั้งนี้ ปี 2562 จะเห็นการนำพื้นที่บริเวณสามย่าน สวนหลวงสแควร์พื้นที่ 291 ไร่ มาพัฒนา โครงการบล็อก28 เป็นอาคารสำนักงาน 3 ชั้น จำนวน 5 อาคาร รองรับลูกค้ากลุ่มครีเอทีฟสตาร์ทอัพ และเทคโนโลยีสตาร์ทอัพมาเช่า โดยมูลค่าลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ 200 ล้านบาท

          นอกจากนี้ จะพัฒนาพื้นที่ตรงข้ามเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ หรือโบนันซ่าเดิมพื้นที่ 63 ไร่ มาพัฒนาเป็นโครงการสยาม สเปซ มูลค่าโครงการ 1,800 ล้านบาท โครงการเป็นอาคารมัลติยูส สูง 25 ชั้น เพื่อรองรับธุรกิจการเรียนรู้อย่างยั่งยืน จะดึงธุรกิจการศึกษา กวดวิชา การเรียนรู้ตลอดชีวิตมาไว้ในโครงการดังกล่าว รวมถึงมีร้านอาหารและเครื่องดื่ม พื้นที่ค้าปลีก ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์ของย่านสยามสแควร์เอาไว้ด้วย โดยปีหน้าคาดว่าจะเริ่มตอกเสาเข็มและคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จภายในปี 2563  "ตอนนี้การพัฒนาพื้นที่ในสยามสแควร์ค่อนข้างแน่นแล้ว และเดิมเรามีสยามกิตติ์เป็นที่จอดรถฝั่งอังรีดูนัง แต่เรายังไม่มีที่จอดรถฝั่งถนนพญาไท ซึ่งโครงการสยามสเปซ จะรองรับการจอดรถด้วย จากนั้นเราจะปิดถนน สยามสแควร์ซอย 7 ช่วงเย็นเพื่อทำเป็นถนนคนเดินรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค"

          นอกจากนี้ แผน 5 ปีข้างหน้า ยังเตรียมนำพื้นที่อื่นมาพัฒนาเพิ่มเติม เช่น โรงพยาบาล ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ เบื้องต้นได้เปิดรับฟังความเห็นจากนักลงทุน พบผู้สนใจจำนวนมากในการสร้างโรงพยาบาลใจกลางเมือง ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะเป็นการร่วมลงทุน

          ปัจจุบันสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ มีพื้นที่รวม 1,153 ไร่ แบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่การศึกษา 637 ไร่ เชิงพาณิชย์ 385 ไร่ และพื้นที่ส่วนราชการในรูปแบบยืมและเช่าใช้ 131 ไร่ โดยการเช่ามีทั้งระยะ 3 ปี 5 ปี 7 ปี 15 ปี 20 ปี รวมถึงโครงการภายใต้พระราชบัญญัติร่วมทุนจะมีระยะยาว 30 ปี เป็นต้น และสร้างรายได้ให้กับทรัพย์สินจุฬาฯประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี "ความท้าทายของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ในการพัฒนาที่ดิน คือการสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ไม่ใช่ว่าเอะอะเราจะทุบไล่ที่ แต่ต้องการให้ผู้ประกอบการมาช่วยกันคิด เราต้องการพัฒนาที่ดิน สังคมต้องการอะไรให้บอกเรา แต่อย่าลืมด้วยว่าอีกมุมทรัพย์สินจุฬาฯก็ต้อง สร้างรายได้ ธุรกิจอะไรคุณค่าได้ และสร้างรายได้ สามารถไปด้วยกัน" ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬา กล่าว
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ