วางยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยเล็งตั้งกองทุนหมื่นล.กู้ซื้อบ้าน
Loading

วางยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยเล็งตั้งกองทุนหมื่นล.กู้ซื้อบ้าน

วันที่ : 22 กุมภาพันธ์ 2560
วางยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยเล็งตั้งกองทุนหมื่นล.กู้ซื้อบ้าน

วางยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยตั้งกองทุนหมื่นล้านกู้ซื้อบ้าน

 

เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจไม่น้อยที่ประเทศไทยหลุดพื้นจากประเทศด้อยพัฒนามาสู่ประเทศกำลังพัฒนา โดยที่ไม่มีแผนส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่เรามีคณะกรรมการที่อยู่อาศัยแห่งชาติ มีสภาที่อยู่อาศัย แต่ไม่เคยมีบทบาทใดๆ กับที่อยู่อาศัยของชาติ เราเคยมีนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ แต่เป็นได้แค่พิมพ์เขียวในแผ่นกระดาษ

 

นอกจากนี้ เรายังมีหน่วยงานที่พัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และมีหน่วยงานสนับสนุนด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แต่ต้อง ดำเนินงานภายใต้เงื่อนไขทางธุรกิจการค้า เพื่อ นำส่งรายได้เข้าคลังหลวงให้ได้ตามเป้าหมาย และยังมีบริษัทเอกชนที่แข็งแกร่งช่วงชิงกันแต่ผลกำไร ไล่แย่งกันซื้อที่ดินจนราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเกินจำเป็น สุดท้ายไม่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่างในเมืองได้อีกต่อไป แม้กระทั้งทาวน์เฮาส์นอกเมืองในราคา 1 ล้านบาท ก็แทบจะสูญพันธุ์ไปจากตลาด แล้วในเวลานี้

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สะท้อนความล้มเหลว อย่างสิ้นเชิงของนโยบายที่อยู่อาศัยของชาติ ได้เป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม ในวาระที่รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก และสั่งการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อันมีหน่วยงาน ในสังกัดอย่าง กคช. ดำเนินการวางกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในทุกระดับชั้น สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองตามกำลังความสามารถ และจะขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นแผนงานหลักของรัฐบาลชุดนี้จึง เป็นการจุดประกายความหวังให้กับภาคประชาชนอีกครั้ง

 

สำหรับวิสัยทัศน์ของร่างยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย 20 ปีนั้นต้องการให้คนไทย ทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วภายในปี 2579 โดยมีเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

 

1.มีปริมาณที่อยู่อาศัยที่กลุ่ม เป้าหมายรับภาระได้ (Affordable housing for all) อย่างเพียงพอ ทุกคนมี ที่อยู่อาศัยอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามความต้องการขั้นพื้นฐาน สามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

 

2.ประชาชนมีความมั่นคงในการอยู่อาศัยและได้รับความคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค และไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

3.ที่อยู่อาศัยมีคุณภาพได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี (Environment-friendly Community) มีความเหมาะสมแก่การอยู่ อาศัยและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่ส่ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และตั้งอยู่ในชุมชนที่มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ เหมาะสมเพียงพอต่อการอยู่อาศัย

 

4.มีการบริหารจัดการการอยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่องภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

 

พร้อมกับวางยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายด้วยกัน 6 ยุทธศาสตร์ ด้วยมาตรการต่างๆ รวมกันทั้งหมด 41 มาตรการ จาก 6 ยุทธศาสตร์ เช่น ทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย ตราพระราชบัญญัติการพัฒนาที่อยู่อาศัย ผลักดันกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ผลักดัน ให้มีการตั้งองค์กรระดับกระทรวง

 

การนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของ หน่วยงานรัฐมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย การส่งเสริมการออมเงินระยะยาวเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต การพัฒนาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย พัฒนากลไกการเงินเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น การค้ำประกันการกู้เงิน (Mortgage Insurance) การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย สนับสนุนให้มีการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมการก่อสร้างเพื่อลดต้นทุน จัดตั้งสถาบันการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมือง ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นต้น

 

อุบลวรรณ สืบยุบล รองผู้ว่าการการเคหะ แห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า ได้มีการจัดทำร่างกองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีการใช้เงินทุนประเดิมกว่า 1.65 หมื่นล้านบาท ขอรับเงินสนับสนุนปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี จากนั้นใช้การบริหาร เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในการช่วยผู้มีรายได้น้อยขอกู้เงินจากกองทุนตามแผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติปี 2560-2564 จำนวน 42,875 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 7% ของ เป้าหมายครัวเรือน ผู้ที่มีรายได้น้อยจำนวนกว่า 6 แสนยูนิต ที่ กคช.ต้องจัดให้มีที่อยู่อาศัยตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (2559-2568) หากในอนาคตกองทุนมีรายได้ เพิ่มขึ้นจะสามารถช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มนี้ ได้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของภาคเอกชนด้านอสังหาริมทรัพย์แม้จะสนับสนุนแผน ดังกล่าวอย่างเต็มตัว แต่ก็ยังมีความกังวลใจ ว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นจริงในภาคปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด เมื่อเหลียวมองดูอดีต แล้วยังไม่เคยเกิดขึ้นได้สักครั้งเดียว

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

 

 

ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาครัฐ อื่นๆ