รฟท.เร่งสรุปแผนรถไฟฟ้าสายสีแดง
Loading

รฟท.เร่งสรุปแผนรถไฟฟ้าสายสีแดง

วันที่ : 22 กุมภาพันธ์ 2560
รฟท.เร่งสรุปแผนรถไฟฟ้าสายสีแดง

เล็งแยกสัญญารถไฟ  Missing Link รุกประมูล

การรถไฟฯ ปรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง Missing Link เพื่อเร่งเปิดประมูล คาดสรุป 1-2 เดือนนี้มีความชัดเจน เล็ง 2 ทางเลือกให้แยกช่วงยมราช-หัวลำโพง ที่มีปัญหาออกมาเป็นสัญญาใหม่หรือ ส่งมอบพื้นที่ภายหลัง

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า กำลังทบทวนโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (Missing Link) สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และ สีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 44,156.96 ล้านบาท เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสามารถเปิดประมูลก่อสร้างได้ โดยเร็ว หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ตั้งแต่ก.ค. 2559

โครงการ Missing Link ต้อง ย้ายรางและก่อสร้างบนเส้นทางรถไฟบางซื่อ-หัวลำโพงในปัจจุบัน แต่ตอนนี้ รถไฟส่วนใหญ่ยังต้องใช้เส้นทางนี้ เดินทางเข้าสถานีหัวลำโพง เพราะการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อล่าช้ากว่าแผนเป็นปี 2563 อีกทั้งพื้นที่เขตทางรถไฟ มีจำกัด ถ้าหากมีการเปิดหน้าดินเพื่อก่อสร้างอุโมงค์โครงการ Missing Link ก็จะกระทบต่อการเดินทางของ ประชาชนได้

ร.ฟ.ท. จึงอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหา แนวทางแรกคือ แยกงานโยธาช่วงยมราช-หัวลำโพง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นสัญญาใหม่ และเปิดประมูลภายหลัง วิธีนี้จะทำ ให้เกิดความชัดเจนเรื่องการว่าจ้างผู้รับเหมา และสะดวกต่อการปรับแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงถัดไป เพราะปัจจุบันรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงหัวลำโพงมหาชัย ระยะทาง 38 กิโลเมตร ยังไม่ผ่านความเห็นชอบรายงานผลกระทบทาง สิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เนื่องจากออกแบบเป็นทางยกระดับผ่านบริเวณที่มีชุมชนหนาแน่น จึงคาดว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อาจปรับแบบให้เป็นอุโมงค์ใต้ดินในอนาคต

ทางเลือกที่ 2 คือเปิดประมูล 3 สัญญาเช่นเดิม แต่แบ่งการส่งมอบ พื้นที่ช่วงยมราช-หัวลำโพงในภายหลัง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้การก่อสร้างเป็นไปตาม แบบเดิมทั้งหมด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้ โครงการMissing Link ยังต้องรอความชัดเจนของโครงการ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง จาก กระทรวงคมนาคม เพราะทั้ง 2 โครงการ ต้องใช้โครงสร้างทางวิ่งแบบคลองแห้ง (Open Trench and Cut & Cover Tunnel) ร่วมกันในช่วงสถานีสามเสนยมราชแต่เบื้องต้นคาดว่าอาจต้องเสนอ ครม. ของบประมาณเพิ่ม เพราะเดิมใช้สำหรับก่อสร้างกำแพงที่ต้องใช้ร่วมกันเท่านั้น

"จะหาข้อสรุปเรื่องทั้งหมดภายใน 1-2 เดือน จากนั้นต้องเสนอเข้ากระทรวงคมนาคมและ ครม. ให้พิจารณา เพราะอาจจะต้องแบ่งสัญญาใหม่และต้อง ขยายระยะเวลาก่อสร้างจาก 3 ปีครึ่ง เป็น 5-6 ปี เพราะกว่าจะก่อสร้างได้ก็ต้อง รอให้สถานีกลางบางซื่อดำเนินการ ได้ระดับหนึ่งก่อน โดยเฉพาะช่วงยมราชบางซื่อ ที่ต้องรอถึงปลายปี 2562 หรือ ปี 2563 ซึ่งสถานีกลางบางซื่อใกล้เสร็จ ถึงเริ่มก่อสร้างได้บางส่วน"

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ