หัวหมาก-ลำสาลีแรง ที่พุ่งวา5แสนรับจุดตัดสายสีเหลือง-ส้ม เทียบชั้นแยกรัชโยธิน
Loading

หัวหมาก-ลำสาลีแรง ที่พุ่งวา5แสนรับจุดตัดสายสีเหลือง-ส้ม เทียบชั้นแยกรัชโยธิน

วันที่ : 13 กันยายน 2561
หัวหมาก-ลำสาลีแรง ที่พุ่งวา5แสนรับจุดตัดสายสีเหลือง-ส้ม เทียบชั้นแยกรัชโยธิน

ทำเลสถานีหัวหมาก-ลำสาลีจุดตัดรถไฟฟ้าสายส้มเหลือง แรงเทียบชั้นแยกรัชโยธิน สายเขียวเหนือ ดันที่พุ่งวาละ 5 แสน คอนโดฯ ปักหมุดพรึบ ทั้งปี 61 คาดเฉียด 1 หมื่นหน่วย ขณะรามคำแหงคอนโดทะลักแล้ว 1.4 หมื่นหน่วยเตือนดูดีมานด์ซัพพลายไม่ให้ซ้ำรอยสายสีม่วง

จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วง ลาดพร้าวสำโรง และสายสีส้มช่วง ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ตลอดแนวเริ่มพบความคึกคักของคอนโดฯเกิดขึ้น โดยเฉพาะสีสันจาก 2 ค่ายใหญ่ "พฤกษาและศุภาลัย" ต่างประกาศแผนชิงกำลังซื้อทั้งสถานีหัวหมาก-ลำสาลีและบางกะปิ ตั้งแต่ปลายปีนี้ยันปี 2562 ที่จะมีโครงการออกสู่ตลาดอีกหลายพันหน่วย

นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาด ไรส์แลนด์ (ประเทศไทย) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ผู้ประกอบการหลาย รายเข้าพื้นที่เปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมพื้นที่รอบสถานีหัวหมากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสถานีลำสาลีซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเหลืองเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงประเมินว่า สิ้นปี 2561 อาจมีคอนโดมิเนียมสะสมรอบพื้นที่ของ 2 สถานีนี้ประมาณ 8,712 หน่วย เชื่อว่า จะหนาแน่นเหมือนกับช่วงรามคำแหงตอนต้นและพระราม 9

ขณะราคาที่ดินปรับตัวสูงต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มลงมือก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางอย่างเป็นรูปธรรม จากราคาประมาณ 100,000 บาทต่อตารางวาก่อนหน้ายังไม่มีการก่อสร้างขยับขึ้นถึง 400,000-500,000 บาทต่อตารางวาในปัจจุบัน โดยที่ดินที่อยู่ในซอยหรือถนนสายรองจะมีราคาขายที่ต่ำลงไปตามศักยภาพของที่ดิน เพราะการมีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งให้ความน่าสนใจของพื้นที่ตามแนวเส้นทางมีมากขึ้น โครงการที่เหลือขายส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เปิดขายใหม่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเพราะราคาขายของโครงการที่เปิดขายใหม่เหล่านี้มีราคาขายสูงกว่าโครงการเก่าที่เปิดขายก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดีรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเหลืองที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเป็นเสมือนตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดแนวเส้นทาง ขณะที่ ช่วงถนนรามคำแหงต้นๆกับพระราม 9 มีโครงการเกิดขึ้นไปก่อนหน้านี้ แต่ด้วยสภาพของถนนรามคำแหงตอนต้นทั้ง 2 ฝั่งยังเป็นอาคารพาณิชย์และมีการพัฒนาเป็นโครงการรูปแบบอื่นๆ เต็มพื้นที่มานานทำให้มีพื้นที่จำกัด

ขณะที่ทำเลที่น่าสนใจยังมีที่ว่างเปล่ารอพัฒนาอีกพอสมควร ต่างจากรามคำแหงตอนต้น และปัจจุบันมีโครงการเปิดใหม่อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้แยกลำสาลีหรืออยู่ในพื้นที่รอบสถานีหัวหมากและสถานีลำสาลี ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่แทบทั้งสิ้น

และคาดว่าพื้นที่รอบสถานีลำสาลีจะมีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นอีกจำนวนมากในอนาคต เพราะสถานีลำสาลีจะเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีเหลือง ขณะพื้นที่รอบๆ สถานีใกล้เคียง เช่น สถานีบางกะปิล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการรายใหญ่ (ค่ายพฤกษา) มีแผนจะเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ในพื้นที่นี้เช่นกัน

อย่างไรก็ดีพื้นที่โดยรอบของ 2 สถานีนี้เป็นหนึ่งในทำเลร้อนแรงใกล้เคียงกับพื้นที่รอบ4 แยกรัชโยธินก่อนหน้านี้ ศักยภาพของพื้นที่นี้ก็มีอยู่ไม่น้อยในปัจจุบันเพราะมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงและเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนามาต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 20 ปีพื้นที่หนึ่งของกรุงเทพ มหานคร การมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ช่วยเรื่องของการเดินทางเข้าเมืองชั้นใน และสายสีเหลืองที่ช่วยให้การเดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอกมีความสะดวกมากขึ้นในอนาคตอีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมพื้นที่กรุงเทพมหานครตอนเหนือและตอนใต้เข้าด้วยกันยิ่งเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ให้มากขึ้นไปอีก รวมไปถึงการที่กรุงเทพมหานครและสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครเคยเอ่ยถึงการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าที่เป็นสถานีร่วมในอนาคตให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ในอนาคตก็ยิ่งเป็นปัจจัยบวกของสถานีลำสาลีที่เป็นสถานีร่วมในอนาคตเช่นกัน แต่เชื่อได้ว่าผู้ประกอบการคงไม่โหมเปิดขายโครงการใหม่แข่งกันในพื้นที่นี้แบบที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพราะว่าผู้ประกอบการทุกรายมีบทเรียนนี้แล้วและปัจจัยอื่นๆ แตกต่างกัน

เช่นเดียวกับนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนส์ฯ กล่าวว่า ราคาที่ดินบนถนนรามคำแหง บางกะปิ ลำสาลี เชื่อว่าเพดานไม่สูงเกิน 5 แสนบาทต่อตารางวา เพราะหากราคาที่ดินสูงเกินนี้ จะกระทบกำลังซื้อ เพราะกำลังซื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำงาน

ขณะที่ฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย วิเคราะห์ทำเลรามคำแหง ว่าเป็นอีกย่านที่น่าจับตาหลังเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯมีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมระยะทาง 22.57 กม. ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา

ล่าสุดมีผลงานคืบหน้าแล้ว 5.57% กำหนดเปิดบริการในปี 2566 ล่าสุดได้มีการรีโนเวตห้างเดอะมอลล์ รามคำแหง 2 (ฝั่งมุ่งหน้ามาแยกพระราม 9-รามคำแหง)  ของบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ที่เตรียมปรับโฉมใหม่ ให้กลายเป็น "มิกซ์ยูส คอมเพล็กซ์" บนที่ดิน 30 ไร่รับรถไฟฟ้าสายสีส้ม หนุนย่านการค้าบางกะปิ-ราม คำแหง ให้เกิดความคึกคัก ยิ่งเป็นตัวผลักให้รามคำแหงเป็นทำเลที่ร้อนแรงอย่างมากเมื่อเทียบจากช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้รามคำแหง ยังเป็นทำเลที่แวดล้อมไปด้วยชุมชนขนาดใหญ่ใกล้สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยชื่อดังถึง 2 มหา วิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) อีกทั้ง ถนนรามคำแหงก็เป็นถนนสายหลักสำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เขตบางกะปิ สะพานสูงต่อเนื่องเข้ามีนบุรี มีศักยภาพของการเติบโตของชุมชนเมืองอยู่ไม่น้อย

สำหรับภาพรวมของตลาดคอนโดมิเนียมย่านรามคำแหงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ณ เดือนสิงหาคม 2561 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ ย่าน รามคำแหงแล้วกว่า 14,907 หน่วย และคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจมีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่บนทำเลย่านรามคำแหงอีกกว่า  4,273 ยูนิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นทำเลที่ร้อนและน่าจับตามองเป็นอย่างมากในเวลานี้

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ