คลัง ไม่ต่อเวลาลดภาษีที่ดิน อสังหาฯโละสต๊อก-เศรษฐีเจ็บ
Loading

คลัง ไม่ต่อเวลาลดภาษีที่ดิน อสังหาฯโละสต๊อก-เศรษฐีเจ็บ

วันที่ : 18 มกราคม 2565
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ คือ การเร่งระบายสินค้าคงค้างที่โอนพร้อมอยู่ออกไปให้มากและเร็วที่สุด เพื่อให้อยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดไว้ เพื่อบริหารต้นทุนที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ก็จะเป็นผลดีต่อผู้ซื้อบ้าน ที่จะได้ลดราคาลง
          กระทรวงการคลังยืนยันเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 100% ในปีนี้หลังจัดเก็บในอัตราลด 90% มากว่า 2 ปี ค่าย อสังหาฯ ตื่นตัวเตรียมดัมป์ราคาระบายสต๊อก หนีภาษีที่ดินฯ เอกชนชี้ กระทบกลุ่มเฉพาะเศรษฐี และกลุ่มทุนใหญ่ถือแลนด์แบงก์สะสม ยิ่งมูลค่าสูงยิ่งถูกจัดเก็บเยอะ

          จากกรณีที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 100% ในปีนี้หลังจากที่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอให้กระทรวงการคลังขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 2 ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 โดยล่าสุดกระทรวงการคลังยืนยันว่าจะไม่ขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปอีกแล้ว หลังจากกระทรงการคลังลดภาษีให้แล้ว 2 ปี เพราะการลดภาษีที่ดินฯแต่ละครั้ง ทำให้รายได้ของท้องถิ่นหายไปถึง 30,000 ล้านบาท ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีที่ดินฯเป็นรายได้หลักที่นำเข้าสู่ท้องถิ่น ซึ่งตามหลักรัฐบาลต้องหาเงินไปชดเชยให้ท้องถิ่น

          อสังหาฯ เร่งระบายสต๊อก หนีจัดเก็บภาษีที่ดินฯ

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงการ กลับไปใช้อัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจะเริ่มในปี 2565 หลังจากกระทรวงการคลังลดภาษีในการ จัดเก็บไปช่วง 2 ปีถึงร้อยละ 90 ว่า แน่นอนเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ และเป็นหลักเลยที่ผู้ประกอบการออกมาเรียกร้องก่อนหน้านี้ ขณะที่ในภาคประชาชนที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยนั้น ก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะมีส่วนที่ขัดแย้งกัน คือ เรื่องที่เราส่งเสริมให้มีการซื้อบ้านหลังที่สองและสามสามารถทำได้ โดยมีการผ่อนเกณฑ์มาตรการเรื่อง LTV (loan-to-value หรือ อัตราส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเทียบกับมูลค่าที่อยู่อาศัย) แต่หากเจ้าของทรัพย์หรือที่มีบ้านหลังที่สอง ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านตามระยะที่ระบุไว้  ก็จะไม่ได้ลดหย่อนและต้องเสียในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็จะทำให้เรามีภาระภาษีต่อไป

          "ท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคงจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็อาจจะขัดแย้งต่อนโยบายส่งเสริมตลาดบ้านหลังที่สองและสาม ที่จะช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ขับเคลื่อนลากเศรษฐกิจไป ก็อาจจะมีข้อสะดุดอยู่ สิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ คือ การเร่งระบายสินค้าคงค้างที่โอนพร้อมอยู่ออกไปให้มากและเร็วที่สุด เพื่อให้อยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดไว้ เพื่อบริหารต้นทุนที่จะเกิดขึ้น แน่นอน ก็จะเป็นผลดีต่อผู้ซื้อบ้าน ที่จะได้ลดราคาลง"

          อนึ่งตามข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. ระบุถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปี 65 (ก่อนมี โอมิครอน) ว่า เดิมคาดว่าตัวเลขที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลอยู่ที่ 85,911 หน่วย เติบโตถึงร้อยละ 99.6 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศ 324,22 หน่วย มูลค่า 879,886 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 5.3

          โดยพบว่า หน่วยเหลือขายใน 27 จังหวัด คงเหลือ 282,764 หน่วย มูลค่าประมาณ 1,250,479 ล้านบาท (ณ ครึ่งแรกปี 64) ซึ่งตัวเลขน่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการและทำโปรโมชันกระตุ้นยอดโอนกรรมสิทธิ์เต็มที่

          ชี้เก็บภาษีที่ดินฯกระทบเศรษฐี

          นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีนิก พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซีลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยและประชาชนทั่วไป แต่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มเศรษฐีหรือผู้มีที่ดินสะสมจำนวนมากรวมถึงผู้ถือครองที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษี ที่ดินและสิ่ง ปลูกสร้างคาดว่าจะมีจำนวนไม่มากเนื่องจากปัจจุบันบริษัทอสังหาฯ ไม่เน้นนโยบายการถือครองที่ดินรอการพัฒนาแต่จะเน้น ซื้อที่ดินเข้ามาและพัฒนาโครงการในทันที

          อย่างไรก็ตาม บริษัทอสังหาฯ ที่มีการถือครองที่ดินสะสมในมือ จำนวนมากๆ จะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่ดินที่มีการถือครอง หากไม่สามารถนำที่ดินมาพัฒนาโครงการใหม่ภายใน3ปี เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าที่ดินที่ทิ้งรกร้างจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าซึ่งอัตราก้าวหน้านี้จะจัดเก็บในระยะเวลาทุกๆ 3 ปี และหากในสามปีแรกยังไม่มี การใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวในอีก 3 ปีถัดไปก็จะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได ซึ่งจะทำให้ผู้ถือครองที่ดินต้องจ่ายภาษีสูงขึ้น ตามมูลค่าของที่ดินที่ถือครองไว้

          "ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าที่ดินแปลงขนาดใหญ่ในพื้นที่ใจกลางเมืองและที่ดินแปลงใหญ่ในพื้นที่เรียบเส้นทางรถไฟฟ้าถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยการปลูกพืชผักเช่น มะนาว กล้วย เพื่อเลี่ยงการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า"
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ