อสังหาฯ - คนอยากซื้อและขายบ้าน-คอนโดฯ จี้รัฐบังคับใช้ ลดค่าโอนฯ หวั่นเกิดสุญญากาศ
Loading

อสังหาฯ - คนอยากซื้อและขายบ้าน-คอนโดฯ จี้รัฐบังคับใช้ ลดค่าโอนฯ หวั่นเกิดสุญญากาศ

วันที่ : 17 มกราคม 2565
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ประเมินตลาดอสังหาฯ ในปี 65 ว่า ประมาณการตัวเลขที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จ (Supply Side) จดทะเบียนกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ประมาณ 115,081 หน่วย คาดที่อยู่อาศัย เปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล อยู่ที่ 85,912 หน่วย
           อสังหาริมทรัพย์

          ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2565 แม้ภาครัฐและสานักวิจัยหลายแห่ง ประเมินว่า จะเริ่มมีทิศทางเติบโตขึ้น เมื่อเทียบกับปีช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่การระบาดของสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ ภาครัฐบาล เอกชน ต่างกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 65 อาจชะลอตัวลงได้ ขณะที่ภาคธุรกิจโรงแรมและบริการ ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดและนักท่องเที่ยวที่หดตัวอย่างรุนแรง

          ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งดูเหมือนกำลังจะปรับฐานฟื้นตัว หลังจากภาพรวมได้ผ่านจุดต่ำสุดไปเมื่อปี 2564 แต่สิ่งที่ภาคเอกชนยังคง "คาใจ" ในนโยบายของรัฐบาล ในการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ 1.ความไม่ชัดเจนเรื่องการเลื่อนเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดในอัตราร้อยละ 90 ในปี 2565 หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแลนด์ลอร์ดรายใหญ่จ่ายร้อยละ 10 เท่านั้น เหตุผลเพราะรัฐบาลยังไม่ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีนี

          และ 2.ในเรื่องของการกระตุ้นและลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ผ่านมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง เหลือรายการร้อยละ 0.01 ก็ยังเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ ตัวแทนนายหน้าค้าอสังหาฯ (โบรกเกอร์) และผู้ซื้อ ต่าง 'เฝ้ารอ' ในการบังคับใช้!! โดยเฉพาะในมาตรการล่าสุด รัฐบาลได้ให้สิทธิ์การซื้อที่อยู่อาศัยใหม่และยังครอบคลุมไปถึงบ้านหลังที่สอง ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ทั้งนี้ มาตรการจะมีผลวันถัดจากวันที่เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.65

          ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยหลายภาคธุรกิจ

          นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ในตอนนี้ว่า มีหลายประเด็นที่รอความชัดเจนจากรัฐบาลทั้งเรื่องมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯที่ยังไม่ประกาศบังคับใช้ กลายเป็นช่องว่างอยู่ คนซื้อบ้านชะลอการโอนฯซึ่งจริงๆแล้ว รัฐบาลสามารถตรวจสอบข้อมูลบ้านมือสองได้ไม่ยาก เพราะเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนฯเป็นไปตามราคาประเมินอยู่แล้ว ในแต่ละปีปริมาณการโอนมีเท่าไหร่ก็มีความชัดเจนในข้อมูลเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนได้นำเสนอข้อมูลให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนที่จะมีการบังคับใช้มาตรการ LTV พบว่าจำนวนหน่วยในตลาดมีประมาณร้อยละ 31 แต่มูลค่ามีประมาณร้อยละ 20 ส่วนถ้าเป็นตลาดบ้านมือหนึ่งทั่วประเทศ ของบริษัท อสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ มีจำนวนหน่วยร้อยละ 30 เช่นกัน แต่มูลค่าจะเยอะกว่า ส่วนบริษัทอสังหาฯที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวนหน่วยใกล้เคียงกันร้อยละ 30

          "จริงๆอยากให้รัฐบาลเร่งบังคับใช้มาตรการเร็ว ซึ่งจะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายอาจระบุในเรื่องฟรีค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องรีรอ ดึงๆในการโอนไว้ ส่วนลูกค้าที่รับภาระเต็มๆ ก็รอไว้ก่อน เนื่องจากมีค่าจดจำนอง ค่าโอน ถ้าเป็นภาพยังเป็นอย่างนี้ เราก็คาดว่า ภาพรวมตลาดอสังหาฯไตรมาสแรกของปี 65 อาจจะสะดุดนิดๆ แต่ต้องเข้าใจว่า การที่เราเสนอเรื่องลดค่าโอนฯนั้น  ก็เพื่อประโยชน์ในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ใช่แค่กับสถาบันการเงิน แต่เวลาขายทรัพย์ออกไป กลายเป็นทรัพย์สินรอการขาย (บ้านมือสอง) นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องการให้ครอบคลุมตลาดบ้านมือสองด้วย จะเป็นการแก้ปัญหาภาระหนี้ได้" นายอิสระ กล่าว

          อย่างไรก็ตาม ตนก็เชื่อมั่นภาพรวมตลาดอสังหาฯปีนี้ยังเติบโต เนื่องจากปัจจัยอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงต่ำ ช่วยเรื่องต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ประโยชน์ ซึ่งปัจจัยเงินเฟอยังไม่มาเป็นตัวแปรกดดันต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ และหากเรื่องมาตรการโอนฯออกมาเร็ว รวมกับมาตรการผ่อนคลาย LTV (สิ้นสุดปี 65) ก็จะเป็นสัญญาณบวกที่ดีในปีนี้ ดังนั้น เรื่องที่สำคัญในบ้านเมืองเราตอนนี้ คือ อยากให้รัฐบาลมองเรื่องการกระตุ้นภาพรวมเป็นหลัก

          นายอิสระ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็คิดว่าปีนี้น่าจะมีการลดภาษีลงร้อยละ 90 ตามที่เคยใช้มาตรการมาแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งในมุมของเราคิดว่า ภาระต่อภาคอสังหาฯคงไม่มากเท่าไหร่ เพราะในกฎหมายได้ลดหย่อนในช่วง 3 ปีอยู่แล้ว แต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ ย่ำแย่กันหมด โรงแรมเจอโควิดมาหลายปีจะเอาปัญญาที่ไหนไปชำระภาษี (ถ้าคิดว่าต้องจ่ายร้อยละ 100)

          รัฐบาลดึงเรื่องกลับ ประเมินรายได้ที่สูญหาย!

          แหล่งข่าวจากตัวแทนนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ ที่บริหารการขายโครงการคอนโดมิเนียมให้กับโบรกเกอร์ต่างชาติ กล่าวว่า จากการสอบถามข้อมูลไปยังกรมที่ดิน ปรากฏว่า มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯดังกล่าว ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้เลย เนื่องจากรัฐบาลได้นำเรื่องไปศึกษาและประเมินเกี่ยวกับผลของการจัดเก็บรายได้ เนื่องจากในมาตรการครั้งนี้ ได้ควบรวมไปถึงตลาดบ้านมือสอง ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างจากมาตรการก่อนหน้าที่มีให้เฉพาะโครงการใหม่เท่านั้น

          "เอาเข้าจริง ปัจจุบันมาตรการดังกล่าว ยังใช้ไม่ได้เพราะรัฐบาลต้องการประเมินว่า ความเสียหายจากการจัดเก็บภาษีในส่วนของบ้านมือสองจะเป็นเท่าไหร่ คราวนี้ก็ส่งผลกระทบต่อตลาดแน่นอน เท่าที่เราดูมาตรการก่อนหน้านี้ รัฐบาลใช้เวลาประกาศเพียงสัปดาห์ แต่นี้ล่วงเลยมาถึงกลางเดือนมกราคม และคาดว่าจะใช้จริงอาจจะเป็นต้นเดือนหน้า ซึ่งในความเห็นแล้ว เมื่อรัฐบาลยังไม่ชัดเจนในเรื่องผลกระทบจากการลดภาษีจัดเก็บ ภาษีบ้านมือสอง รัฐบาลน่าจะประกาศ ในส่วนของบ้านใหม่ตามมาตรการเดิมไปก่อน หลังจากนั้นจะมาเสริม แพกเกจบ้านมือสองเป็นมาตรการช่วยเพิ่มเติมก็ไม่เป็นไรต้องเข้าใจ ตอนนี้ ผู้ประกอบการเสียหายหมด ทำให้ต้องเสียภาษีเต็มจำนวน กระทบไปถึงผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็เกิดความลังเลรอประโยชน์ที่จะได้รับดีกว่า เนื่องจากคนซื้อบ้านส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน การลดค่าจดจำนองก็จะดีกับผู้บริโภค ในส่วนของค่าโอนฯนั้น ในหลักความเป็นจริง ผู้ประกอบการก็บวกเข้าไปในต้นทุนขายอยู่แล้ว การลดราคาเป็นการแถมให้" แหล่งข่าว กล่าว

          ในส่วนของตลาดบ้านมือสองนั้น ภาวะที่เป็นอยู่ หากผู้ซื้อกำลังไม่พอที่จะซื้อใหม่ ตลาดบ้านมือสองซึ่ง มีราคาที่ถูกกว่า ก็จะเป็นทางเลือกให้กับผู้ซื้อได้เป็น อย่างดียิ่งในภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว ค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่คนมองหาบ้านมือสองให้ความสำคัญ

          พฤกษา หวั่น 'สุญญากาศ' ลูกค้าชะลอโอนที่อยู่อาศัย

          นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการ รอใช้มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯว่า ในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาฯมีมาตรการดูแลลูกค้า ซึ่งบริษัทพฤกษาฯก็ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราดูแลผู้โอนโครงการที่อยู่อาศัย เพียงแต่ในบางเซกเมนต์ของพฤกษา อาจจะไม่มีเรื่องแคมเปญดังกล่าว

          "ในสถานการณ์แบบนี้ รัฐบาลต้องรีบ เพราะจะช่วยภาคอสังหาฯจริงๆ ความไม่ชัดเจน จะยิ่งทำให้เกิดสุญญากาศต่อภาคอสังหาฯและผู้ที่กำลังจะโอนฯ ตอนนี้รัฐบาลต้องเร่ง อะไรเร่งเศรษฐกิจได้ ก็ต้องเร่ง เพราะจะได้บินขึ้นจริงๆ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามเป้าที่วางไว้ หลังจากจีดีพีเราต่ำมา 2 ปี หากเศรษฐกิจ ปีนี้โตได้ตามที่ระบุไว้ ก็น่าจะทำให้ภาคอสังหาฯขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 10 ต้นๆ ปีที่แล้วก็โตได้ระดับร้อยละ 7 ทั้งนี้ ในเรื่องของแผนธุรกิจของพฤกษาปีนี้ น่าจะแถลงข่าวได้ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ในเบื้องต้นจะลงทุนและเปิดโครงการใหม่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาประมาณ 29-30 โครงการ มูลค่าการขาย 30,000 ล้านบาท"

          'ตอนนี้รัฐบาลต้องเร่ง อะไรเร่งเศรษฐกิจได้ ก็ต้องเร่ง เพราะจะได้บินขึ้นจริงๆ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามเป้าที่วางไว้ หลังจากจีดีพีเราต่ำมา 2 ปี'

          ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICHY กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลต้องการกระตุ้นการผลิต การจับจ่ายใช้สอย การจ้างงาน สิ่งที่จะตอบโจทย์ได้ คือ บ้านมือหนึ่ง ที่จะมีการก่อสร้างโครงการขึ้นมาและมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้น การจะลดภาษีอะไรก็ตาม ต้องมองเรื่องการรีเทิร์นกลับมาสู่เศรษฐกิจด้วย

          มาตรการรัฐช่วยชะลอบ้านปรับขึ้นราคา หลังต้นทุนพุ่ง 5-30%

          นายหัสกร บุญยัง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด  กล่าวถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ว่า  การผ่อนคลายมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) และการขยายมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทออกไปอีก 1 ปี ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยจะมีผลในเชิงบวกต่อตลาด จากการผ่อนปรนให้ผู้ซื้อสามารถขอสินเชื่อได้ 100% และช่วยลดภาระจากมาตรการลดค่าโอน ขณะเดียวกัน ยังส่งผลเชิงจิตวิทยาจากการที่ภาครัฐใช้อสังหาฯเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะสร้างบรรยากาศที่ดีต่อตลาด และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค

          ทั้งนี้ การประกาศมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง จะช่วยให้ผู้ประกอบการชะลอการปรับราคาบ้านตามต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ที่หลายตัวได้ปรับขึ้นไปแล้ว 5-30% เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการยังคงให้ความสำคัญกับสภาพคล่องมากกว่าผลกำไร การลดค่าธรรมเนียมโอนจึงช่วยให้ ผู้ประกอบการนำประโยชน์ที่ได้จากส่วนนี้ ส่งต่อไปให้ ผู้บริโภค ทั้งในเรื่องของการโปรโมชัน หรือการชะลอการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

          "คาดว่าตลาดบ้านแนวราบจะยังเติบโตต่อเนื่องจากปี 2564 โดยส่วนหนึ่งจะยังคงได้อานิสงส์จากกลุ่มลูกค้าที่เคยอยู่ในเมืองอาจจะขยับออกมาชานเมือง เพื่อซื้อบ้านที่ได้พื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้น ได้อยู่กับครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น ได้ประโยชน์จากการอยู่อาศัยที่คุ้มค่าขึ้นจากการที่จะ ต้อง Work From Home"

          ลดกระหน่ำ 30% บิ๊กล็อต ขายห้องชุด

          แหล่งข่าวจากตัวแทนนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ ที่บริหารโครงการคอนโดมิเนียมในโซนสุขุมวิท กล่าวว่า ประเด็นเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 ในส่วนที่เข้มงวดของนักท่องเที่ยวนั้น จริงๆ แล้ว ก็มีผลต่อเนื่องถึงลูกค้าชาวต่างชาติ ที่กำลังจะเดินทางเข้ามาทำธุรกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเช่นกัน ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับที่จะเปิดให้สิทธิ์ชาวต่างชาติซื้อห้องชุดเกินกว่า โควตาที่กำหนด หลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการบางรายที่ขายยกห้องชุด (บิ๊กล็อต) ให้กับนักลงทุน ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องลดราคาอาจจะถึง 30% เพื่อดึงเงินสดเข้ามา ในธุรกิจของตนเองให้มากที่สุด

          ส่องตลาดที่อยู่อาศัยปี 65 และแนวโน้มบ้านมือสอง

          ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ประเมินตลาดอสังหาฯในปี 65 ว่า ประมาณการตัวเลขที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จ (Supply Side) จดทะเบียนกรุงเทพฯ-ปริมณฑลประมาณ 115,081 หน่วย(ค่าเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 124,600 หน่วย) คาดที่อยู่อาศัย เปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 85,912 หน่วย(ขยายตัวร้อยละ 99.6)

          หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย (Base Case) จะกลับมาเติบโตได้ระดับร้อยละ 15.4 แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่มีหน่วยโอนฯอยู่ที่ 360,932 หน่วย คาดว่ามูลค่าการโอนฯเติบโตร้อยละ 5.3 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่มีมูลค่าอยู่ที่ 797,578 ล้านบาท

          พร้อมได้สรุปภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองในไตรมาส 3 ปี64 ทั่วประเทศ มีจำนวนหน่วยที่ประกาศขายเฉลี่ยเดือนละ 129,732 หน่วย มีมูลค่า เฉลี่ยเดือนละ 862,455 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยบ้านเดี่ยว มีประกาศขายทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าสูงสุด

          'กรมที่ดิน' แจงเก็บรายได้ปีงบ 64 ไม่ถึงแสนล.เจอพิษโควิด

          การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงปี 2565 มีผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการใน ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้จัดแคมเปญอย่างหนักและต่อเนื่องมา 2 ปี ในการกระตุ้นการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเน้นเรื่องธุรกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและ อาคารชุดอย่างเต็มที่ เพื่อลดภาระเรื่องสินค้าคงค้างลง สร้างตัวเลขการรับรู้รายได้และเสริมสภาพคล่องเงินสดกลับคืนสู่บริษัทให้มากที่สุด โดยมีมาตรการของภาครัฐ ในเรื่องลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองเหลือรายการละ 0.01% เป็นมาตรการที่ภาครัฐเข้ามาส่งเสริมตลาดอสังหาริมทรัพย์และลดภาระให้กับประชาชน ในการทำธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท (ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ประกาศในเรื่องมาตรการลดค่าธรรมเนียมการ โอนและจดจำนอง ที่อยู่อาศัยใหม่และเพิ่มเติมถึงบ้านมือสอง ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท)

          สำหรับในส่วนของภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมที่ดินนั้น พบว่า จากข้อมูลการให้บริการและปริมาณการจัดเก็บรายได้ของสำนักงานที่ดินทั่วประเทศของกรมที่ดินตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ 2562, 2563 และล่าสุดที่จบปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไป ปรากฏว่า ปริมาณงานและรายได้ในการจัดเก็บปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยปีงบฯ 62 ปริมาณงานอยู่ที่ 13,295,931 ราย ปีงบฯ 63 อยู่ที่ 12,457,978 ราย ผลต่าง -6.30% ปีงบฯ64 อยู่ที่ 12,170,519 ราย ผลต่าง -2.31% (เทียบกับปีงบฯ63)

          ในส่วนของรายได้(ที่มีทั้งส่วนของเข้ารัฐ และนำส่งเข้าท้องถิ่นนั้น) พบว่า โดยรวมตัวเลขรายได้ของปีงบฯ 62 สามารถทำได้มากถึง 108,658.4 ล้านบาท แต่หลังปีงบฯ 63 ตัวเลขรายได้ลดลงมาอยู่ที่ 91,456.8 ล้านบาท ผลต่าง -15.83% และในปีงบฯ 64 รายได้อยู่ที่ 90,053.7 ล้านบาท ผลต่าง -1.53%

          สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (ต.ค.64-ก.ย.65) ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนแรกของปีงบฯใหม่ (1 ต.ค.-30 พ.ย.64) มีประชาชนเข้ามาใช้บริการ ณ สำนักงานที่ดินทั่วประเทศ จำนวน 2,233,696 ราย ผลต่างเพิ่มขึ้น 10.05%

          ส่วนรายได้สามารถจัดเก็บได้ 14,858.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153 ล้านบาท หรือมีผลต่างเพิ่มขึ้น 1.04% แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ 5,085.8 ล้านบาทภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 3,811.05 ล้านบาท ภาษีธุรกิจเฉพาะ 5,128 ล้านบาท และอากรแสตมป์ 833.58 ล้านบาท

          แต่หากปริมาณงาน (ที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง, สิ่งปลูกสร้าง, อาคารชุด) และรายได้ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2565) แยกเป็นรายภาค พบว่า ภาคกลาง ยังคงมีปริมาณงานและรวมรายได้มากที่สุด โดยรวม รายได้ทั้งสิ้น 3,979.912 ล้านบาท รองลงมาเป็น ภาคตะวันออก อยู่ที่ 853.70 ล้านบาท ภาคเหนือ 574.26 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 556.02 ล้านบาท และภาคใต้ รายได้ 529.20 ล้านบาท