รับเหมาแห่ขอยืดสัญญาประกัน ถูกสั่งปิดไซต์-หวั่นส่งงานไม่ทัน
Loading

รับเหมาแห่ขอยืดสัญญาประกัน ถูกสั่งปิดไซต์-หวั่นส่งงานไม่ทัน

วันที่ : 13 สิงหาคม 2564
โครงการสร้าง คอนโดฯ แนวรถไฟฟ้า-โรงงานขนาดใหญ่ ขอเลื่อนแล้ว 5-6 โครงการ
          "รับเหมาก่อสร้าง" พาเหรดขอขยายเวลาเอาประกัน หวั่นส่งมอบงานไม่ทันหลังเจอมาตรการสั่งปิดไซต์ก่อสร้าง "วิริยะประกันภัย" เผยมีทั้งโครงการสร้าง "คอนโดฯแนวรถไฟฟ้า-โรงงานขนาดใหญ่" ขอเลื่อนแล้ว 5-6 โครงการ เผยไฟเขียวขยายเวลาให้ 1 เดือน ไม่ชาร์จค่าเบี้ยเพิ่ม คาดเดือน ก.ค. เบี้ยหาย 35-40%

          นายธเนศ เกียรติชนก ผู้จัดการฝ่ายรับประกันภัย ด้านวิศวกรรมและสำรวจภัย บมจ.วิริยะประกันภัย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการที่ ก่อนหน้านี้รัฐได้มีคำสั่งปิดไซต์งาน ก่อสร้างในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา 30 วัน (28 มิ.ย.-27 ก.ค. 2564) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อหลายโครงการ ทำให้อาจส่งมอบงานไม่ทัน ปัจจุบันจึงมีลูกค้าผู้เอาประกันภัยการก่อสร้าง (contractor all risks) รายใหญ่ ๆ ประมาณ 5-6 โครงการ อาทิ งานก่อสร้าง โครงการคอนโดมิเนียมใหม่ตามแนว รถไฟฟ้า, งานก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ เป็นต้น ได้แจ้งความประสงค์ผ่านตัวแทนนายหน้า เพื่อขอให้บริษัทขยายระยะเวลาเอาประกันภัยการก่อสร้างเพิ่มเติมในสัญญาให้

          ทั้งนี้ ในเบื้องต้นบริษัทพิจารณาขยายระยะเวลาความคุ้มครองให้อีก 1 เดือน โดยไม่เรียกเก็บเบี้ยเพิ่ม (ฟรี) ตามระยะเวลาที่ถูกปิดตามคำสั่งของรัฐ และในกรณีรัฐมีการขยายมาตรการออกไปเพิ่มอีก บริษัทก็อาจจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป อย่างไรก็ดี สำหรับลูกค้าที่ต้องการแจ้งความประสงค์เข้ามาก็ขอให้รีบดำเนินการในช่วงนี้ "ถ้าไม่แจ้งเข้ามาอาจจะถูกชาร์จเบี้ยเพิ่มได้ ซึ่งปกติแล้วเมื่อโครงการก่อสร้างดีเลย์ออกไปโดยไม่เกี่ยวกับการสั่งปิดไซต์งานก่อสร้าง ถ้าลูกค้ามาขอขยายระยะเวลาเอาประกันภัยการก่อสร้าง บริษัทประกันส่วนใหญ่จะชาร์จเบี้ยเพิ่มโดยคำนวณอัตราเบี้ยใหม่ตามสัดส่วนระยะเวลาเอาประกัน ตัวอย่างเช่น โครงการก่อสร้างบ้าน 1 ปี ขอขยายระยะเวลาเป็น 1 ปี 1 เดือน เบี้ยประกันจากเดิม 12,000 บาท ก็จะเป็น 13,000 บาท เป็นต้น" นายธเนศกล่าว

          นายธเนศกล่าวอีกว่า ปัจจุบันอัตราเบี้ยประกันการก่อสร้างโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.08-0.12% ต่อทุนประกันภัย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะการดีไซน์การก่อสร้างในแต่ละโครงการ หากเป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่เป็นตึกสูงและมีชั้นใต้ดินอัตราเบี้ยก็จะแพง แต่ถ้าเป็นโครงการคอนโดมิเนียมไม่สูง อัตราเบี้ยก็จะต่ำ เป็นไปตามความเสี่ยงภัย สำหรับช่วงครึ่งปีแรก ปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) ซึ่งพอร์ตเบี้ยประกันภัยการก่อสร้างยังไม่โดนผลกระทบจากการสั่งปิดไซต์ก่อสร้าง มีเบี้ยรับรวมเติบโต 10% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (รวมแล้วกว่า 100 โครงการ) ส่วนมากเป็นงานก่อสร้างบ้าน, ก่อสร้างอาคาร, ก่อสร้างโรงงาน, ติดตั้งเครื่องจักร และงานตกแต่งห้องชุดและคอนโดฯ

          อย่างไรก็ดี ในเดือน ก.ค.ที่ได้รับ ผลกระทบเต็ม ๆ ภาพรวมจะกระทบเบี้ยรับหายไปราว 35-40% จากโครงการใหญ่ ๆ อย่างพวกเมกะโปรเจ็กต์ เช่น งานโครงสร้างพื้นฐาน, งานก่อสร้างรถไฟฟ้า, งานก่อสร้างคอนโดฯขนาดใหญ่ เป็นต้น แต่เนื่องจากสัดส่วนพอร์ตเบี้ยจะมาจากงานในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 50% และในต่างจังหวัดอีก 50% ทำให้บริษัท ยังพอได้งานประกันภัยการก่อสร้างในต่างจังหวัดมาหนุนอยู่บ้าง ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลก็ยังมีงานรีโนเวตคอนโดมิเนียมและผู้รับเหมารายย่อยต่อเติมบ้านอยู่บ้าง

          "ในสิ้นปีนี้วิริยะฯตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน อาจจะไม่ โตมากเพราะอยู่ภายใต้สถานการณ์ โควิด ทั้งนี้ ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาอัตราความเสียหาย (loss ratio) หรือยอดเคลมประกันภัยการก่อสร้างอยู่ประมาณ 35% หลัก ๆ เป็นเคลมเนื้องานก่อสร้างและความรับผิดชอบบุคคลภายนอก" นายธเนศกล่าว
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ