นอร์สรีพับบลิค จัดทัพใหม่รับของแต่งบ้านยอดพุ่ง20%
Loading

นอร์สรีพับบลิค จัดทัพใหม่รับของแต่งบ้านยอดพุ่ง20%

วันที่ : 1 กรกฎาคม 2564
แข่งขันไม่สูง - สินค้าไลฟ์สไตล์และของตกแต่งระดับลักเซอรี่ยังแข่งขันไม่สูงนัก จึงมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก
          เวิร์กฟรอมโฮมดันตลาดสินค้าตกแต่งบ้านไลฟ์สไตล์โต 20% สวนโควิด "นอร์ส รีพับบลิค" จัดขบวนรับ เร่งนำเข้า สินค้าตกแต่งชิ้นเล็ก ทั้งแจกันดอกไม้ จานชาม แก้ว ฯลฯ ลุยอีคอมเมิร์ซ เจาะลูกค้าทั่วไป หลังกลุ่มลูกค้าองค์กรชะลอโปรเจ็กต์ใหม่ หวังปั้นยอดปลายปี โต 15-20%

          นายวีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท นอร์ส รีพับบลิค จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้านและไลฟ์สไตล์หรูจากสแกนดิเนเวียและยุโรป อาทิ แบรนด์ Fritz Hansen, Hay, GUBI เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่าตลาดสินค้าตกแต่งบ้านไลฟ์สไตล์และเฟอร์นิเจอร์ ได้รับอานิสงส์จากการระบาดของโควิด-19 จากมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม ทำให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายสินค้าสำหรับตกแต่งบ้านมากกว่าช่วงสถานการณ์ปกติ ส่งผลให้การเติบโตของตลาดและบริษัทเพิ่มขึ้น 15-20% โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์โตแบบก้าวกระโดดร่วม 250%

          ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรองรับสถานการณ์ ด้วยการโฟกัสการทำตลาดไปในกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้านขนาดเล็ก ที่เจาะผู้ใช้ทั่วไปแทนลูกค้าองค์กรที่ชะลอตัวลงไป พร้อมกับปรับพอร์ตโฟลิโอสินค้าใหม่ด้วยการนำเข้ากลุ่มของตกแต่งชิ้นเล็กมามากขึ้น 30% จากเดิมที่ทำตลาดอยู่เพียง 10% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขายดี อาทิ แจกันดอกไม้ เก้าอี้ ถาดใส่ของ ของตกแต่งชิ้นเล็ก ๆ ขณะเดียวกันก็ลดสัดส่วนเฟอร์นิเจอร์หรูลงเหลือราว 70%

          "แม้ปีนี้ตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ตกแต่งบ้านจะเติบโตดี แต่กลุ่มลูกค้า B2B ที่ชะลอแผนหรือการเปิดตัวโปรเจ็กต์ใหม่ออกไป ทำให้ต้องมีการปรับแผนงานที่วางไว้และโฟกัสลูกค้าทั่วไปแทน"

          นายวีกฤษฏิ์กล่าวว่า ควบคู่กับการหันมาทำออนไลน์ อีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาเติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า 200% ด้วยการทำตลาดผ่านไลน์ออฟฟิเชียล อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และช่องทางต่าง ๆ ทำให้ขยายฐาน ลูกค้าทั่วไปได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแคมเปญใหม่ ๆ เพื่อสื่อสารแบรนด์กับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าในปัจจุบันที่การซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์ต้องอาศัยอีโมชั่นนอล หรืออารมณ์ร่วมให้รู้สึกชอบจึงจะเกิดการซื้อ

          พร้อมกันนี้ยังโฟกัสการทำตลาด แบรนด์เฮย์ (HAY) มากขึ้น เพื่อรองรับกำลังซื้อตลาดที่ลดลง เนื่องจากเป็น สินค้าพรีเมี่ยมที่ราคาเข้าถึงได้ ทำให้เข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างที่สุด ตั้งแต่จานชาม ช้อนส้อม หมอน ผ้าห่ม กระติกน้ำ กล่องใส่เครื่องปรุง เพื่อสร้างการเข้าถึงลูกค้าคนรุ่นใหม่ให้มีความผูกพันกับแบรนด์ ตั้งแต่ของชิ้นเล็กราคาเข้าถึงได้ ไปจนถึงของชิ้นใหญ่ในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการจับมือกับ Suicoke แบรนด์รองเท้าสัญชาติญี่ปุ่นที่มีสไตล์เฉพาะตัว นำเอารองเท้า DEPA รุ่นคลาสสิก ที่ได้รับความนิยมมากมาเปลี่ยนโฉมใหม่โดยการเปิดตัวรับซัมเมอร์ในปี 2564 ในรุ่น "Suicoke x HAY" จุดเด่นเน้นฟังก์ชั่น การใช้งาน ในสไตล์แคชวลไปจนถึง กิจกรรมเอาต์ดอร์แบบแอดเวนเจอร์

          "ปีนี้เราได้นำเข้าแบรนด์ใหม่ Verpan เวอร์แพน แบรนด์เฟอร์นิเจอร์พรีเมี่ยม แต่ยังไม่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เนื่องจากสถานการณ์โควิด และมีแผนนำเข้าแบรนด์ใหม่อีกหลายแบรนด์ แต่ยังเป็นแผนระยะยาว เนื่องจากต้องการโฟกัสสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และการสื่อสารแบรนด์ให้แข็งแกร่งก่อน"

          นอกจากนี้ยังมีการปรับกลยุทธ์หน้าร้าน ด้วยการตกแต่งหน้าร้านให้เกิดการซื้อสินค้ามากขึ้น ผ่านการจัดวางสินค้าที่สะดุดตา เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าในปัจจุบันใช้เวลาหน้าร้านน้อยลง ปัจจุบันบริษัทมีช่องทางหน้าร้าน 2 สาขา ซ.สมคิด เน้นเจาะกลุ่มลักเซอรี่ อายุ 35 ปีขึ้นไปที่มีครอบครัว และสาขา 2 ที่สุขุมวิท 79 เน้นเจาะคนรุ่นใหม่ ราคาเข้าถึง ในย่านคอนโดฯ และหลังจาก โควิดคลี่คลาย มีแผนจะขยายเข้าไปยังรีเทลต่าง ๆ และร้านค้าไลฟ์สไตล์มากขึ้น

          ปัจจุบันสินค้าไลฟ์สไตล์ของตกแต่งระดับลักเซอรี่ยังมีการแข่งขันไม่สูงมากนัก โอกาสทางการตลาดมีมาก และหากสื่อสารกับลูกค้าได้มากกว่า หากแผน การบริหารจัดการวัคซีน มาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจของภาครัฐเป็นไปตาม เป้าหมาย เชื่อว่าภาพรวมตลาดจะกลับมาสดใสอีกครั้ง โดยบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตไว้ราว 10-15%