อสังหาฯวอนรัฐผ่อนปรนปิดแคมป์หวั่นกระทบแรง!เตือนโฟกัสสภาพคล่อง
Loading

อสังหาฯวอนรัฐผ่อนปรนปิดแคมป์หวั่นกระทบแรง!เตือนโฟกัสสภาพคล่อง

วันที่ : 30 มิถุนายน 2564
3 สมาคม อสังหาฯ วอนรัฐเร่งหามาตรการ ปิดเเคมป์ หวั่นกระทบหนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
          พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อแคมป์ก่อสร้างทั้งแนวสูงและแนวราบ อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง ซึ่งแนวทางการปรับตัวเบื้องต้นในช่วง  1 เดือนนี้ ผู้ประกอบการมุ่งทำมาตรฐานแคมป์ก่อสร้างให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น

          มาตรการแคมป์ก่อสร้างควรพิจารณาเป็นรายแคมป์หรือรายประเภทมากกว่าเหมารวมที่ส่งผลกระทบวงกว้าง

          นโยบายหรือมาตรการต่างๆ ในวันนี้อาจไม่สอดรับสถานการณ์ ซึ่งพรุ่งนี้จะเปลี่ยนใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเดียวกับเวลารบกับข้าศึกก็ต้องเปลี่ยนอาวุธให้เหมาะสมเพื่อจะไม่ตายคาสนามรบ  ฉะนั้นควรปรับแผนให้ยืดหยุ่นทั้งนโยบายและการปฏิบัติสำคัญที่สุดในขณะนี้

          เป็นไปไม่ได้ที่เชื้อโรคจะหายไปในทันที สิ่งสำคัญต้องให้ความรู้ทางด้านสุขอนามัย กับภาคแรงงานเพื่อให้เกิดความตระหนักในการป้องกันดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อโรค พร้อมคัดกรองผู้ติดเชื้อออกมารักษา เพราะถ้าดูแลตัวเองไม่ได้ หรือไม่ดี หากถูกปิดยาว จะเกิดผลกระทบเหมือนกับร้านอาหาร"

          พรนริศ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ามาตรฐาน แคมป์แรงงานก่อสร้างในไทยยังไม่เทียบเท่าต่างประเทศ และปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ทันทีที่มีการคัดกรองโรค หรือฉีดวัคซีนแล้วจะสามารถกลับมาทำได้อย่างเดิม เพราะมีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ทั้งสายพันธุ์ อินเดีย แอฟริกาใต้ สิ่งที่ทำได้ทันทีคือการปรับมาตรฐานเชิงสุขอนามัยให้ดีขึ้น เช่น ห้องน้ำ ถังน้ำ รวมทั้งพฤติกรรมของคนงานในแคมป์ เพื่อทำงานก่อสร้างกันต่อไปได้ และนำสู่การหาวิธีการให้สามารถ "เปิดแคมป์ก่อสร้างให้เร็วที่สุดได้อย่างไร" และเมื่อเปิดแล้วจะสามารถทำงานต่อไปได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร  

          ทางด้าน อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า มาตรการ ดังกล่าวเป็นเรื่องช็อกวงการอสังหาฯ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้ติดเชื้อสูงระดับ 4,000 คน มาตรการฟ้าผ่า! ที่งานก่อสร้าง กระทบต่ออาคารสูงมหาศาล โดยเฉพาะที่กำลังก่อสร้าง ต้องหยุดชะงัก 15-30 วัน หรือจะมีการขยายเวลา ออกไปมากกว่า 30 วันหรือไม่?

          การปิดแคมป์ก่อสร้างครั้งนี้หากประเมินความเสียหายที่เกิดกับผู้ประกอบการอสังหาฯ จากมูลค่าตลาดแนวราบและแนวสูง 9 แสนล้านบาท หารด้วย 12 เดือน หรือเฉลี่ย เดือนละ  7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการหยุดการก่อสร้างที่ยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ บนซัพพลายเชนไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง"

          การแก้ปัญหาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยรัฐพุ่งเป้มาที่กลุ่มแรงงานก่อสร้าง หากคิดเชิงตรรกะ เมื่อระบุว่ากลุ่มนี้เป็นต้นเหตุปัญหาการแพร่ระบาด รัฐต้องดำเนินการเร่งด่วน 2 เรื่องหลัก 1.เข้ามาตรวจคัดกรองเพื่อแยกผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกัน คนที่ไม่ติดเชื้อจะได้ปลอดภัยไม่เป็นภาระ 2.จัดวัคซีนแบบเฉพาะเจาะจงมาให้กับแรงงานกลุ่มนี้ เพราะรัฐมีอำนาจการจัดสรรวัคซีน คู่ขนานกับการสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อไปในอีก 15-30 วัน

          ถึงเวลาที่รัฐต้องรีบมาดับไฟที่ต้นเพลิงสำหรับแนวทางปรับตัวระยะสั้นและ เร่งด่วนสำหรับผู้ประกอบการ หรือธุรกิจที่กำลัง ก่อสร้าง และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นั่นคือ การบริหารกระแสเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพ! อย่าให้ขาดมือ เพราะหากไม่มีเงินชำระหนี้ ดอกเบี้ย ปัญหาจะลุกลามตามมายิ่งหากเหตุการณ์ยืดเยื้อยาวนานผลกระทบจะยิ่งบานปลาย

          อยากขอร้องภาครัฐว่าหากงานก่อสร้างยังไม่เห็นควรที่เปิดเร็ววันนี้ ก็ขอให้ผู้ประกอบการได้ซ่อมเก็บงาน เพื่อส่งมอบให้ลูกค้าได้ เพราะไม่ใช่งานก่อสร้างแต่เป็นการซ่อมเก็บงาน ใช้คนงาน 2-3 คนต่อบ้าน/ห้องชุด ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 1-3 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการโอนได้ทำให้อุตสาหกรรมไม่เซหรือล้มลงไป"

          โดย worst case ของธุรกิจอสังหาฯ อาจไม่ต่างจาก ร้านอาหารที่ต้องเผชิญ ภาวะเปิดๆ ปิดๆ  ทำให้เกิดความเสียหายจนต้องปิดกิจการ

          แม้ว่ารัฐจะประกาศใช้มาตรการใดๆ ไปแล้ว ก็ตาม แต่หากสามารถปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นได้ ตามสถานการณ์ที่ต้องมีการสำรวจข้อเท็จจริง ซึ่งจะพบว่า มีไซต์ก่อสร้าง หรือแคมป์คนงานที่ไม่ติดโควิด จำนวนมาก ฉะนั้นมาตรการที่ออกมาแบบครอบคลุมไปหมดไม่ว่าจะเล็ก กลางใหญ่ ขอให้ "รับฟัง" และแยกปลาแยกน้ำ เพราะมีทั้งปลาเน่าและไม่เน่า พร้อมการเร่งตรวจ เร่งฉีดวัคซีน เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ป้องกันระลอก 4 ระลอก 5 ระลอก 6

          อุตสาหกรรม 9 แสนล้านบาทต่อปีมีการจ่ายภาษีให้รัฐสูงกว่า 1 แสนล้านบาทในรูปแบบ ภาษีต่างๆ จึงควรกลับคืนมาในลักษณะของการเร่งตรวจ เร่งฉีดวัคซีนในทันที หากสามารถ เปิดให้กลับมาก่อสร้างได้เร็วเท่าไรจะช่วยให้การล้มละลาย หรือล้มหายตายจากของผู้ประกอบการรายเล็กและกลางลดลง

          วสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า  สมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือสกัดการแพร่ระบาดโควิด แต่มาตรการที่ออกมา ในฐานะใกล้ชิดกับสถานการณ์มากกว่าจึงมีความกังวลในหลายเรื่อง

          มาตรการที่ออกมาครอบคลุมหมดทุกระดับทุกขนาด ทุกพื้นที่ สิ่งที่ตามคือความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาชดเชยจะเยอะมาก เพราะทำให้การก่อสร้างทั้งหมดในกรุงเทพฯ หยุดหมด สิ่งที่ตามมีทั้งต้นทุนทางตรง  ต้นทุนทางอ้อมจากการประเมินต้นทุนทางตรงต่อเดือนขั้นต่ำราว 10% คิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านบาท และ ต้นทุนทางอ้อม อีกเท่าตัว รวมไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดการก่อสร้าง ซึ่งนอกเหนือจากค่าแรงคนงาน ยังมีต้นทุนอื่น เช่น ค่าเช่า อุปกรณ์ก่อสร้าง ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับที่เกิดขึ้น จะต้องใช้เงินเยียวยาเท่าไร

          ทั้งนี้ เชื่อว่ามีมาตรการที่สามารถนำมาปรับใช้แก้ที่ต้นเหตุเพื่อช่วยลดผลกระทบค่าเสียหลายเหล่านี้ ยกตัวอย่างไซต์คนงานก่อสร้างกับแคมป์คนงานที่อยู่ที่เดียวกัน ไม่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานแค่ควบคุมไม่ให้ออกมาข้างนอก จึงไม่จำเป็นที่ไปหยุดกิจกรรมก่อสร้างเป็น กรณีที่สองแคมป์กับไซต์งานอยู่คนละที่ มีการเคลื่อนย้ายแรงงานให้ไปตรวจเชิงรุกก่อน ถ้าไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อหรือพบก็ให้คัดแยกออกมาแล้วใช้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล ( Bubble & Seal) ควบคุมไม่ให้มีการเข้าออกและควบคุมการเดินทางตามเส้นทาง กรณีที่สาม ไม่มีผู้ที่ติดเชื้อในไซต์งาน ก็ผ่อนปรนให้ทำกิจกรรมในการก่อสร้างได้

          ถ้าเราผ่อนปรนที่ต้นเหตุได้ไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณในการเยียวยา เพราะมาตรการเยียวยาแรงงานแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบอื่นๆ ที่ต้องเยียวยา ซึ่งจะเป็นภาระหนักกับภาครัฐกับภาษีของประชาชน ฉะนั้นการผ่อนปรนมาตรการโดยที่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาด จะช่วยลดผลกระทบทั้งภาพแมคโครและไมโคร" หากมาตรการเป็oลักษณะการปูพรม ผู้ประกอบการไม่สามารถทำอะไรได้ ยกตัวอย่าง บ้านที่สร้างเสร็จลูกค้าที่ซื้อมาตรวจบ้าน ก่อนโอน อาจมี10-15 รายการที่ต้องแก้ไขจะดำเนินการไม่ได้เลยภายใต้มาตรการปัจจุบัน ฉะนั้นผลกระทบในระยะสั้นค่อนข้างมากและทุกวันทวีคูณไปเรื่อยๆ ดังนั้นในส่วนที่ไซต์งานหรือแคมป์คนงานที่ไม่มีการติดเชื้อ และสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ไม่จำเป็นหยุดก่อสร้าง รัฐบาลไม่ต้องเยียวยา ความเสียหายลดลง แต่ถ้าไซต์งานที่มีการแพร่ระบาดก็ปิดเป็น จุดๆ แนวทางดังกล่าวเคยทำมาแล้วที่ จ.สมุทรสาคร

          สำหรับ worst case scenario  หากปิดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ยิ่งนานขึ้นตัวเลขต้นทุนต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดการก่อสร้างก็เพิ่มขึ้นด้วย

          ประการสำคัญของสถานการณ์จะปรับตัวได้ดีขึ้นต้องเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการปิดต่อเนื่องไม่เช่นนั้นธุรกิจไปต่อไม่ไหว

          หากธุรกิจอสังหาฯ 9 แสนล้านไปไม่ไหว แน่นอนว่าจะกระทบธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เกิดความเสียหายโดยภาพรวมอย่างมาก

          ดังนั้น คาดหวังว่า ภาครัฐจะมีการทบทวนมาตรการอีกครั้งใน15 วัน  ซึ่งเหมาะสมใกล้เคียงกับระยะเวลากักตัว (quarantine) 14 วัน พร้อม "บับเบิลแอนด์ซีล" ควบคุมการ แพร่ระบาดอีกขั้น
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ