ศูนย์ข้อมูลฯ เผยผลสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยภาคใต้ระบุอัตราดูดซับต่ำหน่วยเหลือขายเฉียด 1.6 หมื่น
Loading

ศูนย์ข้อมูลฯ เผยผลสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยภาคใต้ระบุอัตราดูดซับต่ำ หน่วยเหลือขายเฉียด 1.6 หมื่น

วันที่ : 16 มิถุนายน 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยถึง ภาพรวมที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย ณ ครึ่งหลังปี 63 ภาคใต้ลดลงเกือบทุกจังหวัด จ.สุราษฎร์ธานีมีการลดลงมากที่สุด -8.8%
          ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยผลสำรวจตลาดอสังหาฯภาคใต้ พบอัตราการดูดซับยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะซัปพลายเหลือยังมีจำนวนสูงถึง 15,952 หน่วย หรือมีมูลค่าหน่วยเหลือขาย 70,632 ล้านบาท แจงในช่วงครึ่งหลังของปี 63 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่จำนวน 1,813 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 6,664 ล้านบาท

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ผลการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยใน 4 จังหวัดภาคใต้ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช พบว่า ในช่วงครึ่งหลัง ปี 63 มีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขาย 339 โครงการ หรือมีหน่วยเสนอขาย 17,765 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 77,296 ล้านบาท แบ่งออกเป็นโครงการบ้านจัดสรร 257 โครงการ 10,592 หน่วย มูลค่า 43,780 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด 82 โครงการ 7,173 หน่วย มูลค่า 33,516 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมีหน่วยเหลือขายของบ้านจัดสรรและอาคารชุดจำนวน 15,952 หน่วย มูลค่าหน่วยเหลือขาย 70,632 ล้านบาท และในช่วงครึ่งหลังของปี 63 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่จำนวน 1,813 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 6,664 ล้านบาท

          ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคใต้ ในพื้นที่ที่ทำการสำรวจ พบว่ามีอัตราการเปลี่ยนแปลงของหน่วยที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายลดลง -0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 6 Half ล่าสุด โดยเป็นการลดลงของบ้านจัดสรร -6.6% และแต่อาคารชุดเพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อพิจารณาจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ มีจำนวนหน่วยลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 62 กว่า -19.2% และหน่วยขายได้ใหม่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลง -32.8% ส่งผลให้หน่วยเหลือขายกลับมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 62

          โดยภาพรวมที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย ณ ครึ่งหลังปี 63 ของภาคใต้ลดลงเกือบทุกจังหวัด โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการลดลงมากที่สุด -8.8% รองลงมาคือจังหวัดนครศรีธรรมราช ลดลง -3.8% จังหวัดภูเก็ต ลดลง -2.2% ซึ่งสงขลาเป็นจังหวัดเดียวที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขายเพิ่มขึ้น 11.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 โดยจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ที่มีหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุด รวม 1,260 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 4,017 ล้านบาท รองลงมาคือจังหวัดภูเก็ต มีหน่วยเปิดขายใหม่รวม 423 หน่วย คิดเป็น มูลค่า 1,836 ล้านบาท ส่วนจังหวัด สุราษฎร์ธานี  มีหน่วยเปิดขายใหม่รวม 324 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 998 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม จำนวนหน่วยเหลือขาย และหน่วยขายได้ใหม่ ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตาโดย ณ ครึ่งหลัง ปี 63 ในภาคใต้ มีซัปพลายเหลือขาย 15,952 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 70,632 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นบ้านจัดสรร 9,798 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 40,753 ล้านบาท และอาคารชุด 6,154 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 29,879 ล้านบาท เมื่อแยกตามสถานะของการก่อสร้างของหน่วยเหลือขายทั้งหมด พบว่า ส่วนใหญ่ 45.5% อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รองลงมา 34.4% ยังไม่ก่อสร้าง และที่เหลือ 20% ก่อสร้างเสร็จแล้ว หากแยกตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่า บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ 42.6% อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยยังไม่ก่อสร้าง 35.8% และสร้างเสร็จแล้ว 21.6% ส่วนอาคารชุดส่วนใหญ่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 50.2% ยังไม่ก่อสร้าง 32.3% และสร้างเสร็จแล้ว 17.5%

          สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยจังหวัดภูเก็ต ปี 64 คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรก โครงการเปิดขายใหม่ จะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 63 ประมาณ 6.3% และครึ่งหลังของปี 64 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากครึ่งหลังปี 63 กว่า 296.7% เมื่อนับรวมแล้วคาดว่าจะมีหน่วยเปิดใหม่ปี 64 จำนวน 3,005 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 17,045 ล้านบาท ด้านหน่วยขายได้ใหม่ ช่วงครึ่งแรกปี 64 จะต่ำกว่าครึ่งแรกของปี 63 ประมาณ -19.8% โดยครึ่งหลังปี 64 จะเพิ่มขึ้น 47.2% จากช่วงครึ่งหลังปี 63 และมีหน่วยขายได้รวมปี 64 คาดว่าจะมี 1,246 หน่วย มูลค่า 5,402 ล้านบาท ส่วนหน่วยเหลือขายครึ่งปีแรกจะเพิ่มจากครึ่งแรกปี 63 กว่า 3.5% ส่วนครึ่งหลังของปี 64 จะลดลง -1.5% จากช่วงครึ่งหลังของปี 63 สำหรับหน่วยเหลือขาย ณ สิ้นปี 64 คาดว่าจะมีประมาณ 8,468 หน่วย มูลค่า 47,775 ล้านบาท
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ