คณิศ ดันภารกิจปี64 เมกะโปรเจค-5จี-สมาร์ทซิตี้
Loading

คณิศ ดันภารกิจปี64 เมกะโปรเจค-5จี-สมาร์ทซิตี้

วันที่ : 15 กุมภาพันธ์ 2564
คณิศ กางเเผน ภารกิจปี 64 วางโครงข่าย 5G -ผลักดัน Medical Hub เเละ สมาร์ทซิตี้
          เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษศภาคตะวันออก พ.ศ.2561 การดำเนินงานหลายส่วนที่ต้องเริ่มดำเนินการในปี 2564 หลังจากเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว

          คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซี (ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 เฟส คือ

          เฟสที่ 1  การผ่านร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก พ.ศ.2561 กำหนดยุทธศาสตร์ และจัดทำแผนการลงทุนในอีอีซี

          เฟสที่ 2  นำแผนการลงทุนและแผนการพัฒนาพื้นที่ไปสู่ภาคปฏิบัติ เริ่มจากการออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชน เข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาล เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการในอีอีซีจนได้ผู้ชนะประมูลและลงนามในสัญญาผูกพัน 4 โครงการ คิดเป็นมูลค่า เงินลงทุน 650,000 ล้านบาท เช่น รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและ เมืองการบินภาคตะวันออก โครงการ ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3

          เฟสที่ 3 เร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ลงนามกันไปแล้วให้เป็นตามกำหนดเวลา และเงื่อนไขของสัญญา ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนโครงการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ควบคู่การยกระดับการศึกษาของบุคลากรในพื้นที่ ทั้งในระดับอาชีวศึกษา ปริญญาตรี-โท-เอก รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งเร่งพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และชวนประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม แสดงความเห็น ในโครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City

          เฟสที่ 4 ระยะสุดท้าย สกพอ.ต้องเร่งลงทุนโครงการ Smart City ซึ่งต้องเริ่มลงมือตั้งแต่ต้นปี 2564 เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต 1 ล้านคน รวมทั้งให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างต่อเนื่อง ภายหลังโครงสร้างพื้นฐานเสร็จสมบูรณ์ในปี 2567

          "3 ปีที่ผ่านมา สกพอ.ทำสัญญาร่วมลงทุน กับเอกชนไป 4 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 650,000 ล้านบาท โดยภาครัฐจัดงบลงทุนลงไป 20% ส่วนที่เหลืออีก 80% เป็นเงินลงทุนของ ภาคเอกชน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รัฐลงทุนครึ่งหนึ่ง เอกชนลงทุนอีกครึ่งหนึ่ง ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเอกชน ลงทุนเองทั้งหมด ทั้งนี้ยังไม่รวมโครงการลงทุน โดยตรงจากในประเทศและต่างประเทศที่มาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายปีละ 2-3 แสนล้านบาท นี่คือความคืบหน้าของโครงการลงทุนในอีอีซีตอนนี้เราอยู่ในเฟสที่ 3"

          สำหรับภารกิจสำคัญของ สกพอ.ใน ปี 2564 คือ เร่งรัดโครงการลงทุนที่มีการลงนาม ในสัญญาไปแล้ว 650,000 ล้านบาท ให้เป็นไป ตามเป้าหมายและแผนงาน รวมทั้งเร่งวาง โครงข่าย 5G รองรับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยี ขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์, จีโนมิกส์ การแพทย์สมัยใหม่ และเริ่มวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยเชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ซึ่งบางโครงการ สกพอ.อาจต้องเข้าไปร่วมลงทุน กับชุมชนในพื้นที่ด้วย

          ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขคำขอรับการส่งเสริม การลงทุนในอีอีซีจะอยู่ระดับน่าพอใจ  แต่หากดูในรายละเอียดพบว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ยังกระจุกตัวอยู่ที่อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์และ ชิ้นส่วน, ปิโตรเคมี, เกษตรแปรรูปอาหาร, ท่องเที่ยว

          ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ สกพอ.เน้น เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ, การแพทย์, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อากาศยาน และอุตสาหกรรมดิจิทัล ยังมีมูลค่าค่อนข้างน้อย

          ดังนั้น ปี 2564 สกพอ.ต้องให้ความสำคัญ กับการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างจริงจัง

          นอกเหนือจากการเร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง การวางโครงข่าย 5G ในอีอีซีต้องเป็นไปตาม เป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนงานภายในเดือน ก.พ.2564 จะต้องวางโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50% ของ พื้นที่ทั้งหมด เพราะการลงทุนวางโครงข่าย 5G  จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจได้ถึง 5 เท่า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ให้เข้ามาลงทุน

          นอกจากนี้ สกพอ.จะเร่งรัดโครงการลงทุน ใน ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ หรือ Genomic Medicine  ในเขตอีอีซีเพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ในไทยหรือผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub  โดยศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ จะตั้งอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  เพื่อให้บริการทดสอบและถอดรหัสพันธุกรรม ตรวจวิเคราะห์โรคขั้นสูง ฝึกอบรมบุคลากร รวมทั้งให้บริการงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่ภาคเอกชนเป็นการเฉพาะ

          สำหรับเรื่องสุดท้ายที่ต้องเริ่มทำใน ปี 2564 คือ เมืองอัจฉริยะ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากร ที่จะเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในเขตอีอีซีในอนาคต 1 ล้านคน โดย สกพอ.จะเชิญชวน ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการวาง Concept ออกแบบ และพัฒนา เมืองอัจฉริยะในอีอีซี ซึ่งปี 2564 สกพอ. จะร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่เข้าไปพัฒนา ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นโครงการนำร่องร่วมกับเอกชนภายใต้วงเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท

          นอกจากนี้ สกพอ.กำลังศึกษายกร่างกฎหมาย เพื่อรักษาพื้นที่บริเวณชายหาดและป้องกันการรุกล้ำลำน้ำในอีอีซีเพื่อ แก้ปัญหาน้ำท่วม และรักษาสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ชายหาดให้อยู่ในสภาพคงเดิม รวมทั้งร่วมมือกับกลุ่มพลังสตรีในพื้นที่ตรวจสอบและดูแลการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ในอีอีซี

          ปีนี้ สกพอ.จะเร่งโครงการที่ลงนามแล้ว 650,000 ล้านบาท  ให้โครงสร้างพื้นฐานเป็นไปตามเป้าหมายและแผนงาน  คณิศ แสงสุพรรณ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ